การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางชมพูนางแบบชื่อดังได้รับคำเชิญให้ไปแสดงตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์ประเทศฝรั่งเศส นางชมพูจึงตัดสินใจไปยืมเพชรจากนางใหม่ แต่นางชมพูกลัวนางใหม่จะไม่ยอมให้ยืมและดูถูกตนจึงแสร้งบอกกับนางใหม่ว่าขอซื้อเพชรดังกล่าวจากนางใหม่แทน ทั้งนี้นางใหม่ทราบอยู่ก่อนหน้าแล้วว่านางชมพูกำลังมีปัญหาทางการเงิน และตั้งใจเพียงจะยืมเพชรของตน หลังจากที่นางชมพูกลับมาจากต่างประเทศ นางชมพูเห็นโอกาสทำธุรกิจด้านครีมบำรุงผิว จึงตัดสินใจขอซื้อธุรกิจครีมบำรุงผิวของนางเหลืองโดยมีข้อตกลงว่าหลังจากขายธุรกิจแล้วห้ามนางเหลืองประกอบธุรกิจครีมบำรุงผิวภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่นางเหลืองขายธุรกิจ ถัดมาอีก 3 วัน นางชมพูนำเพชรไปคืนนางใหม่นางใหม่ไม่ยอมรับคืน อ้างว่านางชมพูได้ซื้อไปแล้ว

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นางชมพูสามารถนำเพชรไปคืนนางใหม่ได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) ข้อตกลงระหว่างนางชมพูกับนางเหลืองมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 154 “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”

วินิจฉัย

(ก) จากบทบัญญัติมาตรา 154 เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น ซึ่งมีหลักคือ การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

แต่มีข้อยกเว้นคือ การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ ถ้าเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา) ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา ในขณะที่แสดงเจตนานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางชมพูได้แสดงเจตนาออกมาว่าขอซื้อเพชรดังกล่าวจากนางใหม่ แต่ในใจจริงของนางชมพูไม่ต้องการให้ตนต้องผูกพันกับเจตนาตามที่ได้แสดงออกมาเนื่องจากตนต้องการยืมเพชรจากนางใหม่โดยไม่มีเจตนาต้องการซื้อเพชรดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางใหม่ได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงอันซ่อนอยู่ในใจของนางชมพู กล่าวคือ นางใหม่ทราบอยู่ก่อนหน้าแล้วว่านางชมพูกำลังมีปัญหาทางการเงินและตั้งใจจะยืมเพชรของตนเท่านั้น ตามกฎหมายให้ถือว่าการแสดงเจตนาขอซื้อเพชรดังกล่าวของนางชมพูย่อมตกเป็นโมฆะ และไม่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น นางชมพูจึงสามารถนำเพชรไปคืนให้นางใหม่ได้ นางใหม่จะไม่ยอมรับคืนโดยอ้างว่านางชมพูได้ซื้อไปแล้วไม่ได้

(ข) การที่นางชมพูได้ทำนิติกรรมโดยการซื้อธุรกิจครีมบำรุงผิวของนางเหลือง โดยมีข้อตกลงว่าหลังการขายธุรกิจแล้วห้ามนางเหลืองประกอบธุรกิจครีมบำรุงผิวภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่นางเหลืองขายธุรกิจนั้นข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับนางชมพูและระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามนางเหลืองประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นการห้ามนางเหลืองมิให้ประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนางชมพูในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นการห้ามนางเหลืองประกอบธุรกิจครีมบำรุงผิวตลอดไปแต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 150 เพราะเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีสามารถตกลงกันได้โดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างนางชมพูกับนางเหลืองจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ (เพียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543)

สรุป

(ก) นางชมพูสามารถนำเพชรไปคืนให้แก่นางใหม่ได้

(ข) ข้อตกลงระหว่างนางชมพูกับนางเหลืองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้

 

ข้อ 2. ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมมีอยู่อย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนี้ คือ

“โมฆียกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมเมื่อมีการบอกล้างแล้วจะมีผลดังนี้ คือ

  1. ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำนิติกรรมนั้น
  2. ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืบสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน เป็นต้น
  3. ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน
  4. ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ตัวอย่าง เช่น ดำอายุ 19 ปี ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500,000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรกทั้งดำและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดำจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบเงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดำ ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2348 นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำจำนวน 500,000 บาท โดยมีนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกัน หนี้รายนี้มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 13 สิงหาคม 2549 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายแดงไม่มีเงินมาชำระหนี้ ซึ่งนายดำได้ติดตามทวงถามตลอดมาเป็นเวลาหลายปี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 นายแดงได้รับมรดกจากบิดา นายแดงจึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 100,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว อีกทั้งนายแดงได้เขียนหนังสือให้แก่นายดำไว้หนึ่งฉบับมีข้อความว่า นายแดงยอมรับว่าตนเป็นหนี้จริง แต่จะขอนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้แก่นายดำอีก 400,000 บาท ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ครั้นถึงกำหนดวันชำระหนี้นายแดงก็ไม่ยอมนำเงินมาชำระหนี้ให้นายดำอีก ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) ถ้านายแดงทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว 100,000 บาท คืนจากนายดำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การที่นายแดงไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 นายดำจะฟ้องนายแดงและนายเขียวให้รับผิดในเงินจำนวน 400.000 บาท ได้หรือไม่ และนายแดงและนายเขียวจะปฏิเสธการชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายใบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายดำเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 13 สิงหาคม 2549 เมื่อถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 สิงหาคม 2549 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไวัโดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 13 สิงหาคม 2559 เมื่อนายดำไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของนายดำที่มีต่อนายแดงลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายดำย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายแดงชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายดำฟ้องนายแดงให้ชำระหนี้ นายแดงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

และตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้แก่นายดำ รวมทั้งการที่นายแดงได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายดำโดยมีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวนที่เหลืออีก 400,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายแดงลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อนายดำเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้นการกระทำของนายแดงจึงเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายแดงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 100,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากนายดำไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง ที่ว่าการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด

(ข) เมื่อนายแดงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายดำว่าจะนำเงินจำนวน 400,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อนายแดงไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด นายดำย่อมสามารถฟ้องให้นายแดงชำระหนี้ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1770/2517)โดยนายดำจะต้องฟ้องนายแดงภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 แต่นายดำจะฟ้องนายเขียวไม่ได้ เพราะนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันเดิมที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายแดง และตามมาตรา 193/28 วรรคสองตอนท้ายได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “…แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

กล่าวคือ ถ้านายดำฟ้องนายเขียวผู้ค้ำประกัน นายเขียวย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้นายดำได้

สรุป

(ก) นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน 100,000 บาท คืนจากนายดำไม่ได้

(ข) การที่นายแดงไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 นายดำสามารถฟ้องให้นายแดงรับผิดในเงินจำนวน 400,000 บาทได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้น แต่นายดำจะฟ้องนายเขียวผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้ ถ้านายดำฟ้องนายเขียว นายเขียวย่อมสามารถปฏิเสธการชำระหนี้ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. (ก) คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข) นายแสงเขียนหนังสือถึงกรมป่าไม้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้ทราบว่ากรมป่าไม้มีไม้ของกลางซึ่งทางราชการยึดได้จากผู้ลักลอบตัดไม้จำนวนประมาณ 4,000 ท่อน ข้าพเจ้าใคร่ขอซื้อไม้ของกลางดังกล่าวทั้งหมด สำหรับราคานั้น ทางการจะขายเท่าไร แล้วแต่จะเห็นสมควร”

ต่อมากรมป่าไม้ทำหนังสือตอบนายแสงว่า “กรมป่าไม้ตกลงขายไม้ของกลางดังกล่าวให้แก่ท่านจำนวน 3,960 ท่อน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 7,000 บาท ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน”

ดังนี้ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายแสงกับกรมป่าไม้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก) คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1)     เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2)     มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

(ข) โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน

และการแสดงเจตนาที่จะถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

(1)     ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2)     มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาจะเกิดขึ้นทันที

กรณีตามอุทาหรณ์ การแสดงเจตนาของนายแสงตามหนังสือที่นายแสงเขียนส่งถึงกรมป่าไม้นั้น เป็นข้อความที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอ แต่เป็นเพียงคำปรารภว่านายแสงประสงค์จะเข้าทำสัญญาเท่านั้น

และการแสดงเจตนาของกรมป่าไม้ตามหนังสือทีตอบนายแสงไปนั้น ได้กระทำขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคำเสนอใด ๆ มายังกรมป่าไม้ จึงไม่ถือว่าเป็นคำสนอง แต่เนื่องจากหนังสือของกรมป่าไม้เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้านายแสงตกลงด้วยตามนั้น สัญญาจะเกิดขึ้นทันที จึงถือว่าการแสดงเจตนาโดยหนังสือของกรมป่าไม้ดังกล่าวเป็นคำเสนอ

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ จึงมีเพียงคำเสนอของกรมป่าไม้ ไม่มีคำสนองของนายแสง สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายแสงกับกรมป่าไม้จึงไม่เกิดขึ้น (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 927/2498)

สรุป

สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายแสงกับกรมป่าไม้ไม่เกิดขึ้น

Advertisement