การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางชมพูนางแบบชื่อดังได้รับคำเชิญให้ไปแสดงตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์ประเทศฝรั่งเศส นางชมพูจึงตัดสินใจไปยืมเพชรจากนางใหม่ แต่นางชมพูกลัวนางใหม่จะไม่ยอมให้ยืมและดูถูกตนจึงแสร้งบอกกับนางใหม่ว่าขอซื้อเพชรดังกล่าวจากนางใหม่แทน หลังจากที่นางชมพูกลับมาจากต่างประเทศ นางชมพูเห็นโอกาสทำธุรกิจด้านครีมบำรุงผิว จึงตัดสินใจขอซื้อธุรกิจครีมบำรุงผิวของนางเหลืองโดยมีข้อตกลงว่าหลังการขายธุรกิจแล้วนางเหลืองห้ามประกอบธุรกิจครีมบำรุงผิวอีกเลย

ถัดมาอีก 3 วัน นางชมพูนำเพชรไปคืนนางใหม่ นางใหม่ไม่ยอมรับคืนอ้างว่านางชมพูได้ซื้อไปแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นางชมพูสามารถนำเพชรไปคืนนางใหม่ได้หรือไม่ อย่างไร จงอริบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

(ข) ข้อตกลงระหว่างนางชมพูกับนางเหลืองมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 154 “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”

วินิจฉัย

(ก) จากบทบัญญัติมาตรา 154 เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น ซึ่งมีหลักคือ การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

แต่มีข้อยกเว้นคือ การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ ถ้าเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา) ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา ในขณะที่แสดงเจตนานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางชมพูได้แสดงเจตนาออกมาว่าขอซื้อเพชรดังกล่าวจากนางใหม่นั้น แม้ในใจจริงของนางชมพูไม่ต้องการให้ตนต้องผูกพันกับเจตนาตามที่ได้แสดงออกมาเนื่องจากตนต้องการยืมเพชรจากนางใหม่ก็ตาม แต่เมื่อนางใหม่มิได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของนางชมพู ตามกฎหมายให้ถือว่าการแสดงเจตนาออกมาของนางชมพูนั้นมีผลสมบูรณ์ และเกิดเป็นสัญญาซื้อขายขึ้น ดังนั้น นางชมพูจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงิน

ค่าเพชรให้แก่นางใหม่ จะมาปฏิเสธว่าตนไม่มีเจตนาที่จะซื้อเพชรและจะขอคืนเพชรให้แก่นางใหม่ไม่ได้

(ข) การที่นางชมพูได้ทำนิติกรรมโดยการขอซื้อธุรกิจครีมบำรุงผิวของนางเหลือง โดยมีข้อตกลงว่าหลังจากนางเหลืองได้ขายธุรกิจแล้วห้ามนางเหลืองประกอบธุรกิจครีมบำรุงผิวอีกเลยนั้น ข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 150 เนื่องจากเป็นข้อตกลงในลักษณะที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบกันในทางธุรกิจการค้า

สรุป

(ก) นางชมพูไม่สามารถนำเพชรไปคืนนางใหม่ได้

(ข) ข้อตกลงระหว่างนางชมพูกับนางเหลืองตกเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2. นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกและให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะแต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทำให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้เข้าทำนิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทำตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือโอนที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชำระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ขำระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงินให้แก่ตนได้หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัยหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืนนั้นก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทำกลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคำ เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆียะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืนให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไปแล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543 นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 400,000  บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 15 มีนาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายกระต่ายไม่นำเงินมาชำระ นายกระทิงได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 16 มีนาคม 2554 นายกระต่ายได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว และได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกระทิงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายกระต่ายก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย ดังนั้น นายกระทิงจึงได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินที่นายกระต่ายได้นำมาจำนองได้เงินมาจำนวน 250,000 บาท

ปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชำระอีกจำนวน 145,000 บาท ต่อมานายกระทิงจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2556 เพื่อให้นายกระต่ายชำระหนี้เงินก็ที่เหลือจำนวน 145,000 บาท นายกระต่ายต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 แต่นายกระทิงอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายกระทิงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ”

มาตรา 193/28     “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 15 มีนาคม 2544 เมื่อถึงกำหนดนายกระต่ายไม่นำเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 มีนาคม 2544 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2554 เมื่อนายกระทิงไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของนายกระทิงที่มีต่อนายกระต่ายลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายกระทิงย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายกระต่ายชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายกระทิงฟ้องนายกระต่ายให้ชำระหนี้ นายกระต่ายย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการขำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

การที่นายกระต่ายได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวและได้นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่นายกระทิงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาทในวันที่ 16มีนาคม 2554ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายกระต่ายลูกหนี้รับสภาพหนี้แก่นายกระทิงเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ

ดังนั้น การกระทำของนายกระต่ายจึงเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว

ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายกระทิงได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินนายกระต่ายได้นำมาจำนอง แต่ได้เงินมายังไม่ครบจำนวนหนี้ที่นายกระต่ายกู้ยืมไป ยังคงเหลือหนี้ค้างชำระอีกจำนวน 145,000 บาทก็ตาม เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นได้ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 และนายกระทิงได้นำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้นายกระต่ายชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระในวันที่ 16 มีนาคม 2556 นายกระต่าย (ลูกหนี้) ย่อมมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10 ดังนั้น การที่นายกระทิงอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความนั้น ข้อต่อสู้ของนายกระทิงจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของนายกระทิงฟังไม่ขึ้น

* หมายเหตุ นายกระทิงอ้างแต่เพียงว่าหนี้เงินกู้ยืมยังไม่ขาดอายุความ แต่ไม่ได้อ้างว่ามีการรับสภาพความรับผิด ข้ออ้างของนายกระทิงจึงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4. นายแมนทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 15 ปี ไม่จดทะเบียนจากนายแทน ครั้นเวลาผานไปได้เพียง 1 ปี นับจากทำสัญญาเช่า นายแทนได้โอนขายอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวให้นายแพน โดยนายแพนยอมรับข้อผูกพันระหว่างนายแมนและนายแทนด้วย เมื่อนายแมนได้รับแจ้งจากนายแทนว่านายแทนได้ขายอาคารพาณิชย์ให้นายแพนแล้ว นายแมนจึงนำค่าเช่าที่ตกลงชำระให้นายแทนเดือนละ 10,000 บาท ไปชำระให้นายแพนแทน แต่กลับถูกนายแพนปฏิเสธเนื่องจากนายแมนและนายแพนไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และนายแพนยังได้เรียกให้นายแมนออกจากอาคารพาณิชย์ มิเช่นนั้นจะใช้สิทธิทางศาลฟ้องขับไล่นายแมนอีกด้วย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนายแพนรับฟังได้หรือไม่ และนายแมนจะต้องออกจากอาคารพาณิชย์ที่เช่าหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่า บุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น”

มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ถ้าบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น และคู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังไม่ได้ (มาตรา 375)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแมนทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์จากนายแทน และเมื่อผ่านไปได้เพียง 1 ปีนับจากทำสัญญาเช่า นายแทนได้โอนขายอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวให้แก่นายแพน โดยที่นายแพนได้ยอมรับข้อผูกพันระหว่างนายแมนและนายแทนด้วยนั้น ย่อมถือว่าข้อสัญญาระหว่างนายแพนกับนายแทนเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่นายแมนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง

เมื่อนายแมนได้นำค่าเช่าที่ตกลงชำระให้นายแทนเดือนละ 10,000 บาท ไปชำระให้นายแพน ย่อมถือว่านายแมนบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่นายแพนว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว และให้ถือว่าสิทธิของนายแมนได้เกิดมีขึ้นแล้ว ดังนั้น นายแพนจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิดังกล่าวของนายแมนโดยการขับไล่ให้นายแมนออกจากอาคารพาณิชย์นั้นไม่ได้ตามมาตรา 374 วรรคสอง ประกอบมาตรา 375

สรุป

ข้อกล่าวอ้างของนายแพนที่ว่านายแมนและนายแพนไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกันรับฟังไม่ได้ และนายแมนไม่ต้องออกจากอาคารพาณิชย์ที่เช่า

Advertisement