การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางจั๊กจั่นส่งจดหมายแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรให้แก่นางจุ๊บจิ๊บเพื่อนสนิทที่จังหวัดเชียงราย ราคา 100,000 บาท โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในวันที่ 1 กันยายน 2555 ต่อมาอีก 2 วันนางจั๊กจั่นเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากขายแหวนเพชรดังกล่าว เพราะต้องการเก็บไว้ไห้ลูกสาว นางจั๊กจั่นจึงได้ส่งจดหมายบอกถอนการแสดงเจตนาเดิมที่ตนทำไว้ โดยการส่งไปรษณีย์ชนิดด่วนพิเศษแบบ EMS

แต่ในวันเดียวกันนั้นเองนางจั๊กจั่นได้ถูกรถชนถึงแก่ความตาย ระหว่างเดินทางกลับบ้าน และลูกสาวของนางจั๊กจั่นก็ได้โทรศัพท์ไปเชิญนางจุ๊บจิ๊บให้มาร่วมงานสวดอภิธรรมศพของมารดาในวันนั้นด้วย ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2555 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงได้นำจดหมายทั้งสองฉบับของนางจั๊กจั่นไปส่งยังบ้านของนางจุ๊บจิ๊บ แต่ไม่มีคนอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงหย่อนจดหมายด่วน EMS ไว้ในกล่องไปรษณีย์ที่รั้วบ้าน ส่วนจดหมายแบบลงทะเบียนฯ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำกลับมาส่งใหม่อีกสองครั้งก็ยังไม่มีผู้มาลงลายมือชื่อตอบรับ ทางการไปรษณีย์จึงส่งจดหมายฉบับดังกล่าวกลับคืนมายังบ้านของนางจั๊กจั่นผู้ส่ง

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรตามจดหมายลงทะเบียนจะสิ้นผลผูกพันลูกสาวของนางจั๊กจั่นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคแรก “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้นก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางจั๊กจั่นส่งจดหมายแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรให้แก่นางจุ๊บจิ๊บเพื่อนสนิทที่จังหวัดเชียงรายนั้น ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่หลังจากส่งจดหมายไปได้ 2 วัน นางจักจั่นเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากขายแหวนเพชรดังกล่าว จึงได้ส่งจดหมายบอกถอนการแสดงเจตนาเดิมที่ตนทำไว้ โดยการส่งไปรษณีย์ชนิดด่วนพิเศษแบบ EMS แต่ในวันนั้นเองนางจั๊กจันได้ถูกรถชนถึงแก่ความตายและลูกสาวของนางจั๊กจั่นก็ได้โทรศัพท์ไปเชิญนางจุ๊บจิ๊บให้มาร่วมงานสวดอภิธรรมศพของมารดาในวันนั้นด้วย

ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายทั้งสองฉบับของนางจั๊กจั่นไปส่งยังบ้านของนางจุ๊บจิ๊บจึงไม่มีคนรับเพราะไม่มีคนอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงหย่อนจดหมายด่วน EMS ไว้ในกล่องไปรษณีย์ที่รั้วบ้าน ส่วนจดหมายแบบลงทะเบียนฯ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำกลับมาส่งใหม่อีกสองครั้งแต่ก็ยังไม่มีผู้มาลงลายมือชื่อตอบรับ ทางการไปรษณีย์จึงส่งจดหมายฉบับดังกล่าวกลับคืนมายังบ้านของนางจั๊กจั่นผู้ส่ง

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ดังกล่าว ถือว่าการแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรตามจดหมายลงทะเบียนย่อมสิ้นผลผูกพันลูกสาวของนางจั๊กจั่น ทั้งนี้เพราะการบอกถอนการแสดงเจตนาขายแหวนเพชรดังกล่าวได้ไปถึงพร้อมกันกับจดหมายแสดงเจตนาขายแหวนเพชร จึงทำให้การแสดงเจตนาขายแหวนเพชรดังกล่าวตกเป็นอันไร้ผลตามมาตรา 169 วรรคแรก

สรุป

การแสดงเจตนาเสนอขายแหวนเพชรตามจดหมายลงทะเบียนจะสิ้นผลผูกพันลูกสาวของนางจั๊กจั่น

หมายเหตุ กรณีตามอุทาหรณ์ดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 169 วรรคสอง และมาตรา 360 เนื่องจากเป็นกรณีของการบอกถอนการแสดงเจตนาและทำให้คำเสนอขายแหวนเพชรของนางจั๊กจั่นได้ตกเป็นอันไร้ผลไปแล้ว

 

ข้อ 2. แดงหลอกลวงดำให้ลงชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินไว้กับขาว เมื่อนายดำรู้ว่าตนเองถูกหลอกลวงจึงมาปรึกษากับท่านว่าจะมีวิธีการทางกฎหมายอย่างไรได้บ้างในการขอยกเลิกนิติกรรมดังกล่าว โดยที่ดำก็ไม่ทราบว่าขาวมีส่วนร่วมในการหลอกลวงครั้งนี้ด้วยหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 159 วรรคแรก “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ”

มาตรา 160 “การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต”

มาตรา 175 “โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่”

มาตรา 176 วรรคแรก “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก …”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงหลอกลวงดำให้ลงชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินไว้กับขาวนั้น ถือว่าเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลของแดง ดังนั้นนิติกรรมดังกล่าวคือสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรคแรก ซึ่งโดยหลักแล้วนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะย่อมสามารถบอกล้างได้ และเมื่อบอกล้างแล้วโมฆียะกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่ดำได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกแดงใช้กลฉ้อฉลนั้น ดำไม่ทราบว่าขาวมีส่วนร่วมในการหลอกลวงครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อดำมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่ดำดังนี้ คือ

กรณีแรก ถ้าหากขาวมีส่วนร่วมในการหลอกลวงครั้งนี้ ดำย่อมสามารถใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้ตามมาตรา 175(3) เพราะดำเป็นบุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล และเมื่อดำใช้สิทธิบอกล้างแล้ว นิติกรรมดังกล่าวก็จะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176 วรรคแรก

กรณีที่สอง ถ้าหากขาวไม่มีส่วนร่วมในการหลอกลวงครั้งนี้ ดำจะใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวตามมาตรา 175(3) ไม่ได้เพราะถ้าหากดำบอกล้างขาวย่อมสามารถกล่าวอ้างมาตรา 160 ขึ้นต่อสู้ดำได้ว่าการบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลของดำนั้น จะนำมาใช้บังคับกับขาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้ (เทียบเคียงฎีกาที่ 1063/2549)

สรุป

เมื่อดำมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่ดำดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 3. นาย ก. ประกอบการค้าหูปลาฉลาม ทำหูปลาฉลามส่งขายตามภัตตาคารเป็นปกติธุระ นาย ก. ส่งหูปลาฉลามให้แก่ภัตตาคารของนาย ข. โดยตกลงชำระเงินวันที่ 1 ธันวาคม 2543 เมื่อถึงกำหนดนาย ข. ไม่ชำระ นาย ก. จึงฟ้องคดีต่อศาล ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ให้ภัตตาคารของนาย ข. ชำระเงินราคาหูปลาฉลามให้แก่นาย ก. นาย ก. ได้ติดตามทวงถามให้นาย ข. ชำระหนี้ตลอด จนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 นาย ก. บอกแก่นาย ข. ว่าจะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง

นาย ข. อ้างว่านาย ก. ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ เพราะขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2548

ดังนี้ ข้ออ้างของนาย ข. ฟ้งขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้”

มาตรา 193/17 วรรคแรก “ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 193/14(2) หากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้องให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ”

มาตรา 193/32 “สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 193/14(2) ประกอบกับมาตรา 193/17 วรรคแรกนั้น การที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ จะถือว่าเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ต่อเมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ชนะคดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เจ้าหนี้ได้รับผลสำเร็จตามที่ตนได้ใช้สิทธิเรียกร้องนั่นเอง เพราะถ้าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี แต่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง (เจ้าหนี้แพ้คดี) หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้องแล้วจะไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. เจ้าหนี้ฟ้องเป็นคดีเพื่อให้นาย ข. ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น ในวันที่นาย ก. ฟ้องคดีอายุความยังไม่สะดุดหยุดลง (อายุความสะดุดหยุดอยู่) แต่เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นาย ก. ชนะคดี กล่าวคือ ศาลมีคำพิพากษาให้นาย ข. ชำระเงินราคาหูปลาฉลามให้แก่นาย ก. ในวันที่ 15 มกราคม 2546

ดังนี้ถือว่าอายุความได้สะดุดหยุดลงในวันที่ 15 มกราคม 2546 ตามมาตรา 193/14(2) ประกอบกับมาตรา 193/17 วรรคแรก และจะมีการกำหนดอายุความใหม่ 10 ปี ตามมาตรา 193/32 ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 193/34 ก็ตาม โดยอายุความที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับรวมทั้งระยะเวลาพิจารณาคดีด้วยซึ่งอายุความตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดโดยคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวจะครบ 10 ปี ในวันที่ 15 มกราคม 2556 ดังนั้น การที่ นาย ก. จะนำสิทธิเรียกร้องเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 แต่นาย ข. อ้างว่าสิทธิเรียกร้อง ของนาย ก. ได้ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2548 นั้น ข้ออ้างของนาย ข. ย่อมฟังไม่ขึ้น (เทียบเคียงฎีกาที่ 724/2509)

สรุป

ข้ออ้างของนาย ข. ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4. นายสมศักดิ์ทำสัญญาซื้อที่ดินจากนางสมศรีในราคา 1,000,000 บาท ในวันทำสัญญานายสมศักดิ์ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 200,000 บาท และมอบทองคำจำนวน 5 บาท (มูลค่าประมาณ 100,000 บาท) ให้นางสมศรีอีกทั้งตกลงจะชำระเงินส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ครั้นเมื่อถึงกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนนายสมศักดิ์ไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้นางสมศรีได้

ให้วินิจฉัยว่า นางสมศรีมีสิทธิริบเงินตามเช็คจำนวน 200,000 บาท ทองคำจำนวน 5 บาท ที่นางสมศรีรับไว้ได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 377 “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”

มาตรา 378 “มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว มัดจำตามมาตรา 377 จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ไห้ไว้ในวันทำสัญญาและมัดจำนั้นอาจเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเองก็ได้ เมื่อทองคำและเช็คเป็นทรัพย์สิน และเป็นสิ่งมีค่าในตัวเอง จึงสามารถส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมศักดิ์ทำสัญญาซื้อที่ดินจากนางสมศรี และในวันทำสัญญา นายสมศักดิ์ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 200,000 บาท และมอบทองคำจำนวน 5 บาท (มูลค่าประมาณ 100,000 บาท) ให้แก่นางสมศรี โดยตกลงว่าจะชำระเงินส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ เงินตามเช็คจำนวน 200,000 บาท และทองคำจำนวน 5 บาท ซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงเป็นมัดจำตามมาตรา 377

เมื่อนายสมศักดิ์ผิดสัญญาไม่นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระหนี้ให้แก่นางสมศรี นางสมศรีจึงมีสิทธิริบเงินตามเช็ค จำนวน 200,000 บาท และทองคำจำนวน 5 บาท ที่นางสมศรีรับไว้เป็นมัดจำได้ตามมาตรา 378(2)

สรุป

นางสมศรีมีสิทธิริบเงินตามเช็คจำนวน 200,000 บาท และทองคำจำนวน 5 บาท ที่นางสมศรีรับไว้ได้

Advertisement