การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยปราศจากความยินยอมจากผู้เยาว์หรือขออนุญาตจากศาล จะมีผลเป็นการเช่นใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1572 ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรไม่ได้
มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
มาตรา 1575 ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
อธิบาย
ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น เป็นเพียงบุคคลที่กฎหมายได้กำหนดให้มีขึ้น เพื่อมุ่งที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์จะทำ นิติกรรมบางอย่างซึ่งเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ไม่สามารถที่จะกระทำได้โดย ลำพังตนเอง หรือในบางกรณีผู้แทนโดยชอบธรรมอาจจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ก็ได้
ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรม จะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้เยาว์ (บุตร) จะต้องทำเองก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบุตรด้วย ตามมาตรา 1572 และถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี หรือการให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ ดังนี้ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย ตามมาตรา 1574
แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำนิติกรรมดังกล่าวโดยปราศจากความยินยอมของผู้เยาว์ หรือไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าจะเกิดผลประการใด แต่เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาประกอบกับมาตรา 1575 แล้ว พอจะสรุปได้ว่าจะมีผลทางกฎหมายได้ 2 ประการ คือ
- ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3830/2542, 4861/2548 และ 7776/2551
- เป็นโมฆะ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 8438/2547, และ ป.พ.พ. มาตรา 1575)