การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. การตีความกฎหมายคืออะไร เพราะเหตุใดจึงต้องมีการตีความกฎหมาย และในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการบัญญัติวิธีการตีความกฎหมายไว้ว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคำตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การหยั่งทราบว่าถ้อยคำของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไรและเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ถ้อยคำของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้มีความไม่ชัดเจนแน่นอน คือมีถ้อยคำที่กำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง จึงมีความจำเป็นต้องมีการตีความเพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก มีการบัญญัติถึงวิธีการตีความกฎหมายไว้ว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”

จากบทบัญญัตินี้แสดงว่า การตีความกฎหมายอาจแยกได้ 2 กรณี คือ

  1. การตีความตามตัวอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป เช่น คำว่า บุตร บิดามารดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ ซึ่งจะต้องแปลความตามภาษาทางวิชาการนั้น ๆ เช่น คำที่อยู่ในตำรากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
  2. การดีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไรซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆหรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย คำปรารภของกฎหมาย รวมถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายที่มีการบันทึกไว้ท้ายกฎหมายนั้น ๆ ด้วย

 

ข้อ 2. นายทักษิณเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารเพื่อไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ปรากฏว่าเครื่องบินโดยสารสำดังกล่าวได้สูญหายไประหว่างการเดินทาง และไม่มีใครทราบข่าวคราวของนายทักษิณอีกเลยนับแต่วันที่เกิดเหตุ นางอุดรซึ่งเป็นภริยาถูกต้องตามกฎหมายของนายทักษิณ ต้องการจะร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณเป็นคนสาบสูญ

ให้วินิจฉัยว่านางอุดรมีสิทธิจะไปร้องขอต่อศาลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากมีสิทธิจะไปใช้สิทธิได้เมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61       “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิสำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)       นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอ้นตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกำหนด 5 ปี หรือ 2 ปีในกรณีพิเศษ แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิ’ไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทักษิณเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารเพื่อไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ และปรากฏว่าเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวได้สูญหายไประหว่างการเดินทาง จนไม่มีใครทราบข่าวคราวของนายทักษิณอีกเลยนั้น ถือเป็นกรณีที่นายทักษิณได้สูญหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (2)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านางอุดรเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทักษิณ จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษ จึงมีผลทำให้นางอุดรสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ 2 ปี นับแต่วันที่ยานพาหนะคือ เครื่องบินโดยสารที่นายทักษิณเดินทางได้สูญหายไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เครื่องบินโดยสารได้สูญหายไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 จึงครบกำหนด 2 ปีในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546

ดังนั้น นางอุดรจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป ตามมาตรา 61 วรรคสอง (2)

สรุป นางอุดรมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณเป็นคนสาบสูญได้ โดยจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1)       ไก่อายุย่างเข้า 15 ปี มีนายดำมาเสนอจะให้ทุนการศึกษาและให้ศึกษาได้จนถึงปริญญาเอก แต่ต้องเปลี่ยนศาสนา ไก่อยากได้ทุนการศึกษาจะต้องทำอย่างไร

(2)       ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินไป 5,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

(3)       เป็ดคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางห่านผู้อนุบาสให้ไปซื้อรถยนต์จากนายแดง

(4)       นายปลาคนวิกลจริตไปซื้อจักรยานยนต์จากนายปูในขณะกำลังวิกลจริต และนายปูรู้ว่านายปลาวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาดรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้น

เป็นโมฆียะ”

มาตรา 30       “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่าการใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ บุคคลดังกล่าวทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร วินิจฉัยได้ดังนี้

(1)       โดยหลัก ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมทีทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่งโดยปราศจากเงื่อนไข เป็นต้น

ตามปัญหา การที่ไก่ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยากได้ทุนการศึกษาของนายดำ และต้องการจะรับทุนการศึกษาดังกล่าวไว้นั้น เมื่อการรับทุนการศึกษาไม่ถือเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว หรือนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่งโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพังแต่อย่างใด เพราะการรับทุนการศึกษาดังกล่าวถึงแม้จะทำให้ไก่ได้สิทธิอันใดอันหนึ่งแต่ก็มีเงื่อนไขด้วยว่าไก่จะต้องเปลี่ยนศาสนา

ดังนั้น หากไก่อยากได้ทุนการศึกษา ไก่จะต้องไปขอดวามยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน นิติกรรมการรับทุนการศึกษาจึงจะมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21

(2) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามบัญหา การที่ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินไป 5,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34(3) ประกอบวรรคท้าย

(3)       ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น(ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รันความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่เป็ดคนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถยนต์จากนายแดงนั้น ถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของเป็ดจะได้รับอนุญาต คือ ได้รับความยินยอมจากนางห่านผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(4)       โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกลและคูกรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายปลาคนวิกลจริตไปซื้อจักรยานยนต์จากนายปูในขณะกำลังวิกลจริตและนายปูก็รู้อยู่แล้วว่านายปลาเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายจักรยานยนต์ระหว่างนายปลากับนายปูจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 30

สรุป

(1) ไก่จะต้องขออนุญาตผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนนิติกรรมจึงจะสมบูรณ์

(2)       สัญญาให้เพื่อนยืมเงินมีผลเป็นโมฆียะ

(3)       สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

(4)       สัญญาซื้อขายจักรยานยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement