การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ช่องว่างแห่งกฎหมายคืออะไร และจงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างกฎหมายแพ่งมาโดยถูกต้องและครบถ้วนด้วย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณอักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนำมาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทำให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

  1. ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนำมาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าฃองธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
  2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธี การอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้ายหมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สภาพบุคคลย่อมเริ่มและสิ้นสุดเมื่อใด อธิบาย

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคแรก บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดานั้น ย่อมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคลอดและมีการอยู่รอดเป็นทารกนั่นเอง กล่าวคือ การเริ่มต้นมีสภาพบุคคล (ของบุคคลธรรมดา) นั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. มีการคลอด ซึ่งการคลอดนั้นคือการที่ทารกได้พ้นออกมาจากช่องคลอด โดยไม่มีอวัยวะส่วนใดเหลือติดอยู่ ส่วนจะมีการตัดสายสะดือ (รก) หรือไม่ไม่เป็นข้อสำคัญ (ในกรณีที่มีการผ่าท้องเอาทารกออกมาตามหลักวิชาแพทย์ ก็ถือว่าเป็นการคลอดตามความหมายนี้เช่นกัน)
  2. มีการอยู่รอดเป็นทารก คือ นอกจากมีการคลอดแล้วจะต้องปรากฏว่าทารกที่คลอดออกมานั้นมีการหายใจหรือแสดงหลักฐานของการมีชีวิตด้วย เช่น มีการเต้นของหัวใจ หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งไม่ว่าการหายใจหรืออาการเหล่านี้จะมีระยะเวลาเพียงใดก็ตาม ก็ถือได้ว่ามีการอยู่รอดเป็นทารกและมีสภาพบุคคลแล้ว

ส่วนสภาพบุคคลของบุคคลธรรมดานั้นย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือ

การตายตามธรรมดา และการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งถือว่าเป็นการตายโดยผลของกฎหมาย

  1. การตายตามธรรมดา หมายถึง การที่บุคคลหมดลมหายใจ และหัวใจหยุดเต้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การที่บุคคลเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย หรือประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น เพียงแต่ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้น ถือว่าเมื่อแกนสมองตาย ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลง
  2. การตายโดยการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1) การเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1)       บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่นอนว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไปหรือนับแต่วันที่ได้ทราบข่าวคราวของบุคคลนั้นในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป

(2)       ผู้มิส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง บุคคลที่จะมีหรือเกิดสิทธิขึ้น เนื่องจากคำสั่งศาล เช่น สามีภริยา บิดามารดา ลูก หลาน ฯลฯ ของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนานั่นเอง

(3)       ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของนาย ก. อีกเลย ดังนี้ถ้าครบ 5 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ได้หายไป พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้ และหากศาลมีคำสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่า นาย ก. ได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของนาย ก. สิ้นสุดลง

2) การเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ ซึ่งหลักเกณฑ์การเป็นคบสาบสูญในกรณีพิเศษนั้น ก็ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับการเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา เพียงแต่ตามมาตรา 61 วรรคสอง ให้นับระยะเวลาลดลงมาเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยให้นับตั้งแต่

(1)       วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบ หรือสงครามดังกล่าว เช่น นายแดงรับราชการทหารถูกส่งไปรบที่ชายแดน และสูญหายไปในการรบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี หรือ

(2)       วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางไป อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

เช่น นายแดงเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ และเรือถูกพายุพัดจนอับปาง ทำให้นายแดงสูญหายไป เป็นต้น หรือ

(3)       วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ(1)และข้อ (2)ได้ ผ่านพ้น่ไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น เช่น เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณบ้านของนายแดง และนายแดงได้สูญหายไป เป็นต้น

 

ข้อ 3. บุคคลดังต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) หนึ่งอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ ยกเงิน 1 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิสุนัขจรจัดเมื่อตนถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

(2)       สองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้าง 2 เชือกไปลากซุงโดยลำพัง

(3)       สามคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากสี่ผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถยนต์ราคา 5 แสนบาท จากนายหก

(4)       เจ็ดคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายแปดในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายแปดไม่ทราบว่าวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1) ตามมาตรา 25 นั้น ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

ตามปัญหา การที่หนึ่งอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ทำพินัยกรรมยกเงิน 1 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิสุนัขจรจัดเมื่อตนถึงแก่ความตายนั้น หนึ่งย่อมทำได้ และพินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม

(2)       โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ไต้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไร้ในมาตรา 34 เช่น การยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่สองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้าง 2 เชือกไปลากซุงนั้นถือเป็นการให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34(3)

ดังนั้น เมื่อสองให้เพื่อนยืมช้างไปโดยลำพัง ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์สัญญาให้เพื่อนยืมช้าง 2 เชือก ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ

(3)       ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่สามคนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถยนต์จากนายหกนั้น ถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของสามจะได้รับอนุญาต คือ ได้รับความยินยอมจากสี่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะ

(4)       โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายเจ็ดคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านของนายแปดในขณะกำลังวิกลจริต แต่เมื่อนายแปดไม่ทราบว่านายเจ็ดเป็นคนวิกลจริต ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายเจ็ดกับนายแปดจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป

(1) การทำพินัยกรรมมีผลสมบูรณ์

(2)       สัญญาให้เพื่อนยืมช้างมีผลเป็นโมฆียะ

(3)       สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

(4)       สัญญาซื้อขายโทรทัศน์มีผลสมบูรณ์

 

Advertisement