การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 การตีความกฎหมายคืออะไร และจงอธิบายว่าหลักในการตีความกฎหมายแพ่งนั้นเป็นอย่างไรพร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยแยกได้ดังนี้ คือ

  1. การตีความตามตัวอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป เช่น คำว่า บุตร บิดา มารดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ เช่น คำที่อยู่ในตำรากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
  2. การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไรซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้น ๆ ด้วย

ตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะมรดก มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ” ซึ่งคำว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว” เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน กล่าวคือ ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย เช่น การที่บิดาให้ใช้นามสกุล อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น หมายถึง บุตรตามความเป็นจริง กล่าวคือ แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. บุคคลอาจถูกร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้ในกรณีใดบ้าง อธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายทุกกรณีด้วย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)       นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปไนการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น’’

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 บุคคลอาจถูกร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นมีได้ 2 กรณี คือ

  1. กรณีธรรมดา เป็นกรณีที่บุคคลนั้นได้หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่จนครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการนับระยะเวลา 5 ปีนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่บุคคลนั้นได้หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือวันที่มีผู้พบเห็นหรือวันที่ได้รับข่าวคราวของบุคคลนั้นเป็นครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัด แล้วหลังจากนั้นไม่มีบุคคลใดพบเห็น หรือทราบข่าวคราวของนาย ก. อีกเลย ดังนี้เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ได้หายไป ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้

  1. กรณีพิเศษ เป็นกรณีที่บุคคลนั้นได้หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เช่นเดียวกับกรณีธรรมดา เพียงแต่กรณีพิเศษนี้จะนับกำหนดระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยการนับระยะเวลา 2 ปีนั้น ให้เริ่มนับดังนี้

11) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม.และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน(1)หรือ (2)ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางท่องเที่ยวโดยทางเรือ ระหว่างการเดินทางเรือที่นาย ก. ใช้เดินทางได้เจอพายุและอับปางลง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งนาย ก. ด้วย ที่ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นนาย ก. อีกเลย ดังนี้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เรืออับปาง

ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้และทั้งสองกรณี ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่านาย ก. ได้ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี (ป.พ.พ. มาตรา 62)

 

ข้อ 3. ไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ทำพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับ ระบุว่าเมื่อตนถึงแก่ความตายให้เงินสดซึ่งตนฝากไว่ในธนาคารจำนวน 10 ล้านบาทตกเป็นของมูลนิธิเด็กกำพร้า 3 จังหวัดภาคใต้ ต่อมานายไก่จิตฟั่นเฟือน นางไข่มารดาจึงไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งนางไข่เป็นผู้พิทักษ์ หลังจากนั้นนายไก่ก็ให้เพื่อนยืมเงินเป็นจำนวน 1 หมื่นบาท โดยที่นางไข่ผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด อาการเจ็บป่วยทางจิตของนายไก่รุนแรงขึ้นถึงขั้นวิกลจริต ต่อมาศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งนางไข่เป็นผู้อนุบาล นายไก่เป็นคนชอบรถยนต์มาก ด้วยความรักลูก นางไข่อนุญาตให้นายไก่ไปซื้อรถยนต์ใช้แล้วนำเข้าจากต่างประเทศราคา 5 ล้านบาท จากบริษัท นกมีหูหนูมีปีก จำกัด

พินัยกรรมการให้ยืมเงิน และการซื้อรถยนต์ ซึ่งไก่ทำขึ้นนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

1)         ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703

ตามปัญหา การที่นายไก่ซึ่งมีอายุย่างเข้า 15 ปียังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ได้ทำพินัยกรรมโดยระบุว่าให้เงินสดซึ่งตนฝากไว้ในธนาคารจำนวน 10 ล้านบาทตกเป็นของมูลนิธิเด็กกำพร้าฯ นั้น ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703

2)         โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ไนมาตรา 34 เช่น การกู้ยืม หรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเงินเป็นจำนวน 1 หมื่นบาทโดยที่นางไข่ผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใดนั้น การให้ยืมดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34(3) ประกอบวรรคท้าย

3) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุนาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายไก่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถยนต์นั้นถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

1) การทำพินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ

2) การให้เพื่อนยืมเงินมีผลเป็นโมฆียะ

3) การซื้อรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement