การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ หรือมีสถานะเสมือนผู้บรรลุนิติภาวะในกรณีใดบ้าง จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

  1. บรรลุนิติภาวะโดยอายุ กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมบรรลุนิติภาวะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”
  2. บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส กล่าวคือ ผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะได้ ถ้าหากชายและหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่ชายและหญิงนั้นมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรืออาจมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ก็ได้ ถ้าหากได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 20 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448” และในมาตรา 1448 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” (เหตุอันสมควรที่ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้ เช่น หญิงมีการตั้งครรภ์ ฯลฯ)

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอับสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สังอนุญาตได้

ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว…”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้เยาว์จะมีสถานะเสมือนผู้บรรลุนิติภาวะ ในกรณีที่ผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือได้รับอนุญาตจากศาล ให้ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่นหรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจ หรือการจ้างแรงงานดังกล่าว ให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว กล่าวคือ ในการทำนิติกรรมใด ๆที่เกี่ยวพับกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานดังกล่าวนั้น ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพัง และโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทบโดยชอบธรรมนั่นเอง

 

ข้อ 2. นายเก่งกาจเศรษฐีหนุ่มโสด ได้อาศัยอยู่กับบิดามารดาของตนเองที่กรุงเทพฯ ได้บอกกล่าวกับบิดามารตาของตนเอง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ว่าตนเองจะเดินทางด้วยเครื่องบินไปเที่ยวประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นบิดามารดาของนายเก่งกาจก็ไม่เคยได้ข่าวคราวของนายเก่งกาจอีกเลยว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อยากทราบว่า

  1. ผู้ใดสามารถร้องขอให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญได้บ้าง
  2. การสาบสูญของนายเก่งกาจเป็นกรณีธรรมดาหรือกรณีพิเศษ
  3. ผู้มีสิทธิร้องขอให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญสามารถร้องขอได้ตั้งแต่เมื่อใด อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)       นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

  1. ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญ ได้แก่

(1)       ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่าง ๆ ขึ้นเนื่องจากศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ ซึ่งในที่นี้ก็คือ บิดามารดาของนายเก่งกาจนั่นเอง

(2)       พนักงานอัยการ

  1. การสาบสูญของนายเก่งกาจเป็นกรณีธรรมดา เนื่องจากนายเก่งกาจไม่ได้สูญหายไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 61 วรรคสอง แต่อย่างใด
  2. เมื่อการสาบสูญของนายเก่งกาจเป็นกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียคือบิดามารดาของนายเก่งกาจหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญได้เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่นายเก่งกาจได้หายไป คือนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่บิดามารดาของนายเก่งกาจได้รับข่าวคราวของนายเก่งกาจเป็นครั้งหลังสุด ซึ่งในกรณีนี้จะสามารถร้องขอได้ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2556 เป็นต้นไป

สรุป

1 ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญ ได้แก่ บิดามารดาของนายเก่งกาจและพนักงานอัยการ

  1. การสาบสูญของนายเก่งกาจเป็นกรณีธรรมดา
  2. บิดามารดาของนายเก่งกาจหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้นายเก่งกาจเป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2556 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. นายรำคาญเป็นคนวิกลจริตซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยมีนายสำราญซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้อนุบาล ในขณะที่นายรำคาญมีอาการปกติได้ขออนุญาตบิดาไปซื้อรถยนต์คันหนึ่งราคาหนึ่งล้านบาทจากนายเบิกบาน ซึ่งนายสำราญผู้อนุบาลก็ไม่ขัดข้อง อยากทราบว่า สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายรำคาญและนายเบิกบานมีผลเช่นไร อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่า คนไร้ความสามารถนั้น กฎหมายห้ามมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะทำนิติกรรมในขณะที่มีอาการจริตวิกลหรือไม่ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้หรือไม่ว่าผู้กระทำนิติกรรมเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆียะตั้งสิ้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรำคาญคนวิกลจริตซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคาหนึ่งล้านบาทจากนายเบิกบาน แม้ว่าในขณะทำนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวนั้น นายรำคาญจะมีอาการปกติและนายสำราญซึ่งเป็นผู้อนุบาลได้ให้ความยินยอมก็ตาม สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายรำคาญและนายเบิกบานก็มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายรำคาญและนายเบิกบานมีผลเป็นโมฆียะ

 

Advertisement