การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสง่าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2496  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ  ใน  พ.ศ. 2528  นายสง่าได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายบุญชูโดยมอบที่ดินให้นายบุญชูครอบครอง  นายบุญชูได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา  ขณะนี้นายบุญชูมีความจำเป็นจึงไปขอออกโฉนดที่ดิน  ดังนี้  อยากทราบว่านายบุญชูจะนำที่ดินแปลงนั้นไปขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ตรี  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา  58  วรรคสอง  ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497  หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา  27 ทวิ  แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน  ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น  ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ณ  ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ  ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  แต่ได้นำมาหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด  ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา  59  ทวิ  ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.  2497  แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27  ตรี  ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด  แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่  ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

วินิจฉัย

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายไว้ดังนี้

1)    จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ. ให้ใช้ ฯ  มาตรา  5  และรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2)    ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  กล่าวคือ  ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา  27  ตรี  จะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามมาตรา  59  ทวิ  ไม่ได้

3)    มีความจำเป็นต้องขอออกโฉนดที่ดิน  และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร  และต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน  50  ไร่  ถ้าเกิน  50  ไร่  จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

นายบุญชูจะนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายสง่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่  พ.ศ. 2496 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ  กรณีเช่นนี้  ถือว่านายสง่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ก่อนวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ในที่ดิน  และไม่ได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  5  (ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสง่าได้มีการแจ้งการครอบครอง)

ต่อมาได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2528  นายสง่าได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้นายบุญชู  และนายบุญชูได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา  กรณีจึงถือว่านายบุญชูเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายสง่า  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  วรรคสอง

และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าในท้องที่ดังกล่าว  เคยมีประกาศตามมาตรา  58  มาก่อนแต่อย่างใด  จึงไม่มีเหตุที่ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องปฏิบัติ  ตามมาตรา  27  ตรี  นายบุญชูจึงไม่ใช่ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติ  ตามมาตรา  27  ตรี

ฉะนั้นแล้ว  ในขณะนี้นายบุญชูมีความจำเป็นที่จะไปขอออกโฉนด  นายบุญชูก็สามารถนำที่ดินแปลงนั้นไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้  ตามมาตรา  59  ทวิ  วรรคแรก  เพราะนายบุญชูเป็นบุคคลตามมาตรา  59  ทวิ  วรรคสอง  แต่ทั้งนี้เนื้อที่ต้องไม่เกิน  50  ไร่  ถ้าเกิน  50  ไร่  จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

สรุป  นายบุญชูขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ 


ข้อ  2  นายเอกได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชนและรัฐช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคและอื่นๆด้วย  ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่  13  ธันวาคม  พ.ศ. 2543  ใน  พ.ศ. 2547  ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น  นายเอกไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน  ใน พ.ศ. 2550  นายเอกได้ขายที่ดินให้แก่นายโทและนายโทเข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อมา  ขณะนี้นายโททำประโยชน์แล้วเสร็จเต็มเนื้อที่แล้วจึงได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  ดังนี้  อยากทราบว่านายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา  58  แล้วหรือไม่ก็ตาม  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร  ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย

มาตรา  59  ทวิ  ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา  5  แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.  2497  แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27  ตรี  ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์  แล้วแต่กรณี  ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด  แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่  ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย

พ.ร.บ.  ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  8  วรรคสอง  ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองแต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก

วินิจฉัย

นายโทจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายเอกได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้  ซึ่งทางราชการออกใบจองให้เมื่อวันที่  13  ธันวาคม  พ.ศ. 2543  กรณีถือว่านายเอกเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง  ซึ่งที่ดินที่มีใบจองเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  นายเอกจึงโอนให้ใครไม่ได้  เว้นแต่จะตกทอดโดยมรดกตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง

ต่อมาได้ความว่า  ในปี  พ.ศ. 2550  นายเอกได้ขายที่ดินให้แก่นายโท  ซึ่งการขายที่ดินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก  ดังนั้น  การโอนดังกล่าวจึงฝ่าฝืน  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง  ในกรณีนี้แม้นายโทจะเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องตลอดมา  ก็ไม่ทำให้นายโทเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน  แต่อย่างไรก็ตามการที่นายเอกส่งมอบการครอบครองให้แก่นายโท  ย่อมมีผลทำให้นายโทเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  เมื่อในขณะนี้นายโทประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดิน  แต่ไม่ปรากฏว่ามีประกาศของทางราชการเพื่อจะออกโฉนด  (แบบทั้งตำบล)  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  58  จึงต้องพิจารณาการออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  และมาตรา  59  ทวิ

สำหรับการออกโฉนดแบบเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้  จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน  กล่าวคือ  เป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อนายโทเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  เนื่องจากการโอนดังกล่าวฝ่าฝืน  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  8  วรรคสอง  นายโทจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  วรรคแรกไม่ได้  อีกทั้ง  ในกรณีดังกล่าวนี้  นายโทก็จะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  วรรคสอง  ไม่ได้เช่นกัน  เพราะนายโทมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง  (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิได้นั้น  กฎหมายกำหนดว่า  จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  และมิได้แจ้งการครอบครองตาม  พ.ร.บ.  ให้ใช้ฯ  มาตรา  5  เท่านั้น  เมื่อได้ความว่า  นายโทเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  (ภายหลังวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2497)  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว  ดังนั้น  นายโทจึงไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  ทวิ  ได้เช่นกัน

สรุป  นายโทเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ  จึงขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  59  และมาตรา  59  ทวิ  ไม่ได้เลย


ข้อ  3  นายอาทิตย์ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจากนางเดือนโดยทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อกันที่บ้านของนางเดือน  นายอาทิตย์ได้เข้าไปปลูกบ้านในที่ดินนั้นและได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้ว  แต่นางเดือนไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้  นายอาทิตย์ได้ปรึกษาทนายความว่าจะฟ้องนางเดือนโอนที่ดินให้  แต่ก่อนฟ้องนายอาทิตย์ได้ไปขออายัดที่ดินไว้เพราะกลัวว่านางเดือนจะขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นเสียก่อน  ดังนี้  อยากทราบว่านายอาทิตย์จะขออายัดที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน  หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้  มีความประสงค์จะขออายัดที่ดิน  ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  71

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงแล้ว  ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  ให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง  และผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า  การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น  เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่าได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการอายัดนั้น  และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ

วินิจฉัย

การอายัด  หมายถึง  การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อไปดำเนินการทางศาล  ดังนั้น  ถ้าที่ดินแปลงใดถูกอายัดจะมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินนั้นไม่ได้  เว้นแต่จะเป็นการจดทะเบียนที่เป็นการปลดเปลื้องภาระผูกพัน  เช่น  ที่ดินถูกอายัด  แต่จะมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง  ไถ่ถอนขายฝาก  กรณีเช่นนี้  ยอมให้จดทะเบียนได้  เพราะเป็นการทำให้ที่ดินปลอดจากภาระผูกพัน

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  83  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอายัดไว้ดังนี้ 

1       ผู้ขออายัดจะต้องมีส่วนได้เสียในที่ดินโดยตรงอันอาจฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินได้

2       พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งรับอายัดไว้ได้มีกำหนด  30  วัน  นับแต่วันที่สั่งรับอายัด

3       เมื่อครบกำหนด  30  วันแล้วผู้ขออายัดยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งอายัดที่ดินให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง  ผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

นายอาทิตย์จะขออายัดที่ดินได้หรือไม่  เห็นว่า  นายอาทิตย์ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ดินจากนางเดือนและได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว  แต่นางเดือนไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้  ในกรณีดังกล่าวนี้  โดยหลักแล้วนายอาทิตย์สามารถฟ้องบังคับให้นางเดือนไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่เช่าซื้อให้แก่ตนได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  572  ดังนั้น  จึงถือว่านายอาทิตย์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  83  นายอาทิตย์จึงขออายัดที่ดินได้

สรุป  นายอาทิตย์ขออายัดที่ดินได้


ข้อ  4  นางพลอยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสำรวยโดยพินัยกรรม  ขณะนี้นางพลอยต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในที่ดินซึ่งเป็นมรดก  ดังนี้  ให้ท่านแนะนำขั้นตอนการจดทะเบียนในกรณีดังกล่าว

ธงคำตอบ

อธิบาย

โดยหลักแล้ว  การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกอาจมีได้หลายกรณี  กล่าวคือ  ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล  ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  และผู้จัดการมรดกโดยมติของทายาท

สำหรับกรณีนางพลอยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมประสงค์จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินซึ่งเป็นมรดก  นางพลอยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  82  ดังนี้

1       นางพลอยผู้จัดการมรดกต้องยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  71  พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่อไปนี้

1.1)         หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  เช่น  โฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์

1.2)         หลักฐานการตายของเจ้ามรดก  (นายสำรวย)  เช่น  ใบมรณะบัตร

1.3)         หลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก  คือ  พินัยกรรม

1.4)         บัญชีเครือญาติ

 2       พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน  และในกรณีนี้นางพลอยถือเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากคำสั่งศาล  คือ  เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประกาศเป็นหนังสือมีกำหนด  30  วัน  (มาตรา  81  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  82  วรรคแรก)

3       เมื่อประกาศตาม  ข้อ  2  แล้ว  ถ้าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนตามคำขอให้ได้เลย  แต่ถ้ามีผู้โต้แย้งคัดค้านให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้  และให้คู่กรณีไปดำเนินการทางศาล  หลังจากนั้นถ้าศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดประการใด  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามนั้น

Advertisement