การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน) 

ข้อ  1  ยุทธเวทหนุ่มไทยไปทำมาหากินในประเทศลาว  ได้นางพันแสนคำสาวลาวเป็นภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  เกิดบุตรในประเทศลาวห้าคน  บุตรทั้งห้าคนได้สัญชาติไทยหรือไม่  ถ้าหากจะให้บุตรและภรรยาได้สัญชาติไทยท่านจะแนะนำยุทธเวทอย่างไร  อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

Advertisement

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  9  หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทยถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย  ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ  และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี

พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร

พ.ร.บ. สัญชาติ  (ฉบับที่  4)  พ.ศ. 2551  มาตรา  7  วรรคสอง  คำว่าบิดาตาม  (1)  ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด  และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน  จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย  ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา  1557  การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1547  ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด  แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้

วินิจฉัย

บุตรทั้ง  5  คนที่เกิดในประเทศลาวจากยุทธเวทบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยและนางพันแสนคำมารดาซึ่งมีสัญชาติลาว  โดยบิดาและมารดานั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  กรณีเช่นนี้ถือว่าบุตรทั้ง  5  คน  เกิดในขณะที่ยุทธเวทเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ได้เกิดในราชอาญาจักรไทย  ดังนั้นบุตรทั้ง  5  คน  จึงไม่ได้รับสัญชาติไทย  ไม่ว่าตามหลักดินแดน  หรือหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)

แต่อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม  พ.ร.บ.  สัญชาติฯ  และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นให้นำไปใช้กับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนั้นใช้บังคับด้วย  ดังนั้นหากยุทธเวทต้องการให้บุตรทั้ง  5  คน  อาจได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด  ข้าพเจ้าจะแนะนำยุทเวทว่าสามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน  2  วิธีดังนี้

1       ให้ดำเนินการพิสูจน์ตามวิธีการที่กำหนดในกฎหกระทรวงว่ายุทเวทเป็นบิดาของบุตรทั้ง  5  คนตามสายโลหิตจริง  ตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  4)  พ.ศ.  2551  มาตรา  7  วรรคสอง  ซึ่งจะต้องดำเนินการพิสูจน์กับบุตรทุกคน  เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าบุตรทั้ง  5  คนเป็นบุตรของยุทธเวทจริง  บุตรนั้นก็จะกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  ทั้งนี้  แม้ยุทเวทจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางพันแสนคำ  และมิได้จดทะเบียนรับรองบุตรเหล่านั้นก็ตาม  หรือ

2       ให้ยุทเวทจดทะเบียนสมรสกับนางพันแสนคำ  หรือจดทะเบียนรับรองบุตรเหล่านั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือขอให้ศาลพิพากษาว่าบุตรเหล่านั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตาม  ป.พ.พ.มาตรา  1547  ทั้งนี้เนื่องจากบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  1557  ที่แก้ไขใหม่นั้นได้กำหนดให้  การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1547  ให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด  ซึ่งผลของการเป้นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว  ย่อมทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่เดิมนั้นกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย  เมื่อเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงทำให้บุตรทั้ง  5  คน  กลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7(1)  เช่นกัน

สำหรับนางพันแสนคำซึ่งมีสัญชาติลาวและได้จดทะเบียนสมรสกับผู้มีสัญชาติไทยนั้น  หากต้องการมีสัญชาติไทย  ก็อาจจะขอมีสัญชาติโดยการสมรสได้ตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  9  โดยให้ต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ  และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  ทั้งนี้การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยเป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำให้ยุทเวทดำเนินการตามวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้นเพื่อให้บุตรมีสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต  ส่วนนางพันแสนคำจะแนะนำให้ยื่นคำขอมีสัญชาติไทยโดยการสมรสก่อน  และเมื่อรัฐมนตรีอนุญาตจึงจะได้สัญชาติไทย

 

ข้อ  2  นายกล้าคนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อโถประดับมุกอันเป็นวัตถุโบราณชิ้นหนึ่งจากนายอาลีคนสัญชาติอินโดนีเซีย  และขณะทำสัญญาโถฯ  ที่ว่านี้ก็อยู่ที่อินโดนีเซียโดยนายกล้าและนายอาลีตกลงกันไว้ว่าหากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย  กฎหมายขัดกันของอินโดนีเซียกำหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นทำขึ้น  และกฎหมายภายในของอินโดนีเซีย กำหนดว่า  การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ  ปรากฏว่าการซื้อขายตามสัญญาฉบับนี้คงทำเป็นหนังสือ  แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ต่อมานายกล้าผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาและรับมอบโถฯ  ที่ว่านี้  นายอาลีจึงฟ้องนายกล้าต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา  นายกล้าต่อสู้ว่า สัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตนจึงไม่ผูกพันหรือต้องรับผิดตามสัญญา

ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  หากท่านเป็นศาลไทยควรพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายฉบับนี้เป็นโมฆะหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคแรก  นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้  หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม  ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น

มาตรา  13  วรรคแรกและวรรคท้าย  ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น  ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี  ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ  ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

นายกล้าคนสัญชาติไทยทำสัญญาซื้อโถประดับมุกอันเป็นวัตถุโบราณจากนายอาลีคนสัญชาติอินโดนีเซีย  และขณะทำสัญญานายกล้าและนายอาลีตกลงกันว่า  หากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย  กรณีเช่นนี้แม้ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  9  วรรคแรก  จะกำหนดให้ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นก็ตาม  แต่อย่างไรก็ดีตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ.  2481  มาตรา  13  วรรคท้าย  กำหนดว่าสัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ  หากได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญา  ในกรณีนี้กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาจึงได้แก่  กฎหมายไทยตามเจตนาของคู่กรณีตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก

สำหรับกรณีนี้แม้การซื้อขายโถประดับมุกดังกล่าวจะได้ทำเป็นหนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม  แต่โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยมิได้มีบทมาตราใดบังคับว่าการซื้อโถประดับมุกวัตถุโบราณซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่ตกลงด้วยวาจาก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว  ดังนั้น  สัญญาซื้อขายระหว่างนายกล้าและนายอาลีจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะ  การที่นายอาลีได้มาฟ้องนายกล้าต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุผิดสัญญา  นายกล้าต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ  ข้อต่อสู้ของนายกล้าจึงฟังไม่ขึ้น  นายกล้าต้องรับผิดตามสัญญา 

สรุป  หากข้าพเจ้าเป็นศาลไทยจะวินิจฉัยว่า  สัญญาซื้อขายรายนี้ไม่เป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า  ได้มีคนร้ายจี้เครื่องบินของสายการบินแอร์โร  เม็กซิโก  เที่ยวบินที่  576  พร้อมด้วยลูกเรือและผู้โดยสารที่ได้รับการยืนยัน  รวม  112  ชีวิต  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน  ฝรั่งเศส  และเม็กซิกัน  มาจากเมืองตากอากาศแคนคูณ  ริมทะเลแคริเบียน  โดยบังคับให้กัปตันนำเครื่องไปยังกรุงเม็กซิโก  ซิตี้  เพื่อขอพบกับประธานาธิบดี  เฟลิเป  คาลเดอเอน  โดยขู่จะวางระเบิดหากไม่ทำตาม  สื่อท้องถิ่นรายงานข่าวว่า  เหตุดังกล่าวเกิดในวันพุธที่  9  กันยายน  พ.ศ.2552  เวลาประมาณ  13.40  น.  ตามเวลาท้องถิ่น  เครื่องได้ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินนานาชาติ  ในกรุงเม็กซิโก  ซิตี้  ภายหลังลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมดถูกปล่อยตัวและไม่ได้รับอันตรายใดๆ  ต่อมาภาพจากสื่อท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำคนร้ายราว  8  คน  ถูกควบคุมตัวออกจากเครื่องบินที่ลงจอดฉุกเฉินในสนามบินนานาชาติที่กรุงเม็กซิโก  ซิตี้  (จากข่าวเมื่อวันที่  10  กันยายน  พ.ศ.  2552  ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

ดังนี้  การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  มาตรา  1  ให้นิยามของคำว่า  สลัดอากาศ  ว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำนั้นกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน  โดยใช้กำลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน  ทั้งนี้  รวมถึงการพยายามกระทำความผิด

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  กากระทำของคนร้ายทั้ง  8  คน  ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ  เนื่องจากการเรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางนำเครื่องบินโดยบังคับให้กัปตัน  นำเครื่องไปยังกรุงเม็กซิโก  ซิตี้  เป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน  ซึ่งเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อที่จะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินปกติ  ไปสู่เส้นทางการบินที่ตนต้องการ  ทั้งนี้  แม้ว่าคนร้ายจะถูกจับตัวได้และไม่ได้มีการวางระเบิดตามที่ขู่ก็ตาม  การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญาเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  มาตรา  1

สรุป  การกระทำของคนร้ายทั้ง  8  คน  ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดดารยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  มาตรา  1

 

ข้อ  4  จงอธิบายว่า  ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทำความผิดที่จะสามารถยกขึ้นอ้างเพื่อมิให้ถูกส่งข้ามแดนนั้นมีอะไรบ้าง  พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

อธิบาย

ฐานะพิเศษบางประการของผู้ที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนมีอยู่  4  ประการดังนี้

1       บุคคลที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว  กล่าวคือ  ถ้าบุคคลผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวนั้นถูกศาลใดศาลหนึ่งพิจารณาในความผิดที่ขอให้ส่งตัวมาแล้ว  และศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว  หรือศาลได้พิจารณาลงโทษและผู้นั้นได้รับโทษแล้ว  ประเทศผู้รับคำขอ  ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการส่งตัวได้โดยอาศัยหลักกฎหมาย  ที่ว่าบุคคลคนเดียวกันย่อมจะไม่ต้องถูกพิจารณาในความผิดนั้นเป็นสองซ้ำ  ตัวอย่างเช่น  ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมาตรา  10  และมาตรา  11  ซึ่งได้บัญญัติยืนยันหลักนี้ไว้

2       มีโทษประหารชีวิตเพียงประการเดียว  กล่าวคือ  ตามหลักทั่วๆไปถือกันว่า  ถ้าความผิดที่ขอให้ส่งตัวนั้นเป็นความผิดที่มีแต่โทษสถานเดียว  คือ  ประหารชีวิตแล้ว  ประเทศที่รับคำขอชอบที่จะปฏิเสธการส่งตัวนั้นได้เพราะถือหลักมนุษยธรรมว่า  ประเทศไม่ควรยอมเป็นเครื่องมือช่วยประเทศอื่นโดยส่งคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศของตนไปให้ประเทศอื่นประหารชีวิตเสีย  นอกจากนั้นยังละเมิดหรือฝ่าฝืนหลักศาสนาต่างๆและยังเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคล  ตัวอย่างเช่น  สนธิสัญญาระหว่างสเปนกับฝรั่งเศส  ในปี  ค.ศ. 1850  ซึ่งระบุไว้ชัดแจ้งว่า  สเปนจะยอมส่งคนข้ามแดนให้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าความผิดที่จะพิจารณาลงโทษแก่บุคคลนั้นไม่เป็นความผิดที่มีโทษหนักถึงประหารชีวิต

3       ความผิดที่ขัดกับหลักศีลธรรมของประเทศที่รับคำขออย่างร้ายแรง  กล่าวคือ  เป็นความผิดที่นานาประเทศไม่ให้การยอมรับ  เพราะขัดกับหลักศีลธรรมอย่างร้ายแรง  ตัวอย่างเช่น  ประเทศ  ก.  (รับรองการมีทาสและมีบัญญัติกฎหมายลงโทษทาสผู้กระทำความผิด)  ได้ร้องขอให้ประเทศ  ข.  (ซึ่งมีหลักกฎหมายบัญญัติว่า  การค้าทาสละมีทาสเป้นความผิดเพราะขัดต่อหลักศีลธรรมและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์)  ส่งตัว  ช.  (ทาส)  ผู้กระทำผิด  ดังนี้  ประเทศ  ข.  ย่อมปฏิเสธการส่งตัว  ช.  ให้แก่ประเทศ  ก.  ได้

4       บุคคลในคณะทูต  กล่าวคือ  ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศได้ให้หลักเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน  (Priviege  and  Immunity)  ทางการทูต  ในการที่ไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่ไปประจำอยู่ฉะนั้นถ้าเกิดปัญหาว่า  บุคคลในคณะทูตผู้หนึ่งไปกระทำความผิดอาญาในประเทศที่ตนไปประจำอยู่  แล้วหลบหนีไปอยู่ในประเทศที่สาม  ประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุ  (ประเทศที่ผู้กระทำความผิดไปประจำอยู่)  จะขอให้ประเทศที่สามส่งตัวให้ไม่ได้  เพราะแม้ว่าบุคคลนั้นยังอยู่ในประเทศนั้นโดยไม่ได้หลบหนีไปประเทศที่สาม  ศาลแห่งประเทศนั้น  (ประเทศที่ผู้กระทำความผิดไปประจำอยู่)  ก็ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอยู่แล้ว  เพราะหลักเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตดังกล่าวข้างต้น

Advertisement