การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายสนองขับรถบนทางหลวงจากจังหวัดลำปางมุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่  โดยมีนายสว่างขับรถตามหลังมา  นายสว่างได้ให้สัญญาณไปขอแซงหลายครั้งแต่นายสนองก็เร่งเครื่องยนต์ขับรถเร็วขึ้นไม่ยอมให้แซง  เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนบนไหล่เขา  ด้านหนึ่งของถนนเป็นภูเขาส่วนอีกด้านเป็นเหวลึกประมาณ  30  เมตร  นายสว่างได้ขับรถเร่งความเร็วแซงขึ้นและหมุนพวงมาลัยขับรถปาดหน้ารถของนายสนองแล้วเหยียบเบรกกะทันหัน  นายสนองจึงต้องเหยียบเบรกและขับรถหลบไปทางซ้ายทำให้รถตกลงไปในเหวข้างทางแต่ตัวรถไปติดกับต้นไม้ใหญ่รถจึงหยุด  นายสนองได้รับอันตรายคือขาซ้ายหักต้องเข้าเฝือกรักษาอยู่  40  วัน  จึงหาย  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายสว่างจะเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตหรือร่างกายฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

 วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

การกระทำที่จะเป็นความผิด  ตามมาตรา  288  นั้น  นอกจากจะมีการกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว  ผู้กระทำยังต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วย  อาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้

สำหรับเจตนาเล็งเห็นผล  หมายความว่า  ผู้กระทำเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้  ดังนั้นหากผู้กระทำเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้น  แม้ในที่สุดผลจะไม่เกิด  ผู้กระทำต้องรับผิดฐานพยายาม

นายสว่างเจตนาขับรถปาดหน้ารถของนายสนอง  เพื่อให้นายสนองต้องหักหลบจะได้ตกลงไปในเหวข้างทาง  ซึ่งลึกประมาณ  30  เมตร  ที่เกิดเหตุเป็นไหล่เขา  ถ้ารถตกลงไปย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจะต้องทำให้คนในรถถึงแก่ความตาย  การกระทำของนายสว่างจึงเห็นได้ว่ามีเจตนาฆ่านายสนอง  ซึ่งเป็นเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่านายสนองไม่ถึงแก่ความตาย  นายสว่างจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80

สรุป  นายสว่างมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตาย

 

ข้อ  2  นายเสน่ห์กับ  น.ส.แอน  อายุ  17  ปีเศษ  เป็นคู่รักกัน  วันหนึ่ง  น.ส.แอน  ได้มาหานายเสน่ห์ที่บ้านหลังจากที่บุคคลทั้งสองได้นั่งฟังเพลงและพูดคุยกันที่ห้องรับแขกได้ประมาณ  1  ชั่วโมง  นายเสน่ห์ก็ชวน  น.ส.แอนเข้าไปในห้องนอน  ต่อมาบิดาของ  น.ส.แอนก็ตามมาที่บ้านของนายเสน่ห์และพบน.ส.แอนอยู่กับนายเสน่ห์ในห้องนอนโดยยังไม่ได้ร่วมประเวณีกัน  บิดาของน.ส.แอน  จึงพาตัว  น.ส.แอนกลับบ้านแล้วได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายเสน่ห์ในข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร  ในชั้นสอบสวนนายเสน่ห์ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด  เพราะที่ชวน  น.ส.แอนเข้าไปในห้องนอนก็เพื่อจะดูหนังวีดีโอ  ประกอบกับยังไม่ได้มีการร่วมประเวณีกันแต่อย่างใด  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นายเสน่ห์จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

การพราก  หมายถึง  การพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าว  ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน  อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบุคคลดังกล่าว

น.ส.แอน  อายุ  17  ปีเศษ  ได้มาหานายเสน่ห์ที่บ้าน  โดยนายเสน่ห์มิได้ชักชวนแต่อย่างใด  จึงเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ไปที่บ้านนายเสน่ห์โดยสมัครใจ  มิได้เกิดจากการที่จำเลยชักพาไป  การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการ  พราก  ตามนัยของมาตรา  319  วรรคแรก  นายเสน่ห์จึงไม่มีความผิดตามมาตรา  319  วรรคแรก

เมื่อไม่เป็นการพราก  แม้นายเสน่ห์จะชวน  น.ส.แอน  เข้าไปในห้องนอน  โดยมีเจตนาจะร่วมประเวณีกัน  แต่ยังไม่ได้ร่วมประเวณีนั้นก็ไม่เป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร

สรุป  นายเสน่ห์ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  3  แดงและขาวเป็นเพื่อนกันได้เข้าไปรับประทานอาหารในภัตตาคารแห่งหนึ่ง  เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ  แดงเป็นผู้จ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมด  แดงบอกขาวว่าวันนี้แดงขอเลี้ยงข้าวเอง  แดงได้ให้เงินกับพนักงานเก็บเงินไป  โดยส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาท  ให้ซึ่งเป็นค่าอาหารเพียง  200  บาท  พนักงานรับเงินไปแล้วได้นำเงินทอน  800  บาท  เพื่อมาทอนให้กับแดงในขณะนั้นเองแดงเกิดปวดท้องขึ้นมาทันที  แดงเห็นพนักงานร้านอาหารเดินมาอยู่ห่างประมาณ  10  เมตร  แดงบอกกับขาวว่าทนไม่ไหวแล้วจะไปเข้าห้องน้ำให้ขาวรับเงินทอนไว้เดี๋ยวตนจะกลับมาเอา  แดงรีบไปเข้าห้องน้ำในภัตตาคารแห่งนั้นและเมื่อแดงทำธุระเสร็จ  แดงได้กลับมาที่โต๊ะอาหาร  ขาวส่งเงินทอนให้แดงเพียง  700  บาท  พร้อมกับบอกแดงว่าเงินทอนนับเรียบร้อยแล้วไม่ต้องนับอีก  แดงรับเงินจากขาวไปเพียง  700  บาท  โดยไม่รู้ว่าขาวยักเอาไว้เสีย  100  บาท  ดังนี้ท่านเห็นว่าการกระทำของขาวจะเป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การลักทรัพย์  เป็นเรื่องการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือการแย่งการครอบครองนั่นเอง

การครอบครองทรัพย์  หมายถึง  การยึดถือทรัพย์โดยมีเจตนาที่จะยึดถือไว้เพื่อตนเอง  และผู้ครอบครองมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง

แดงเป็นผู้จ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมด  โดยส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาท  แต่ค่าอาหารเพียง  200  บาท  พนักงานนำเงิน  800  บาท  เพื่อทอนให้แดง  แต่แดงให้ขาวรับเงินทอนไว้แทนเพื่อตนจะได้ไปเข้าห้องน้ำ  ดังนี้เงินทอน  800  บาทดังกล่าวยังคงเป็นเงินของแดง  เป็นกรณีที่แดงผู้เสียหายให้ขาวรับเงินทอนไว้แทนเป็นการชั่วคราวชั่วระยะเวลาที่แดงไปเข้าห้องน้ำ  มิได้เจตนาสละการครอบครองให้  ถือว่าเงินยังอยู่ในครอบครองของแดงผู้เสียหาย  ขาวเป็นเพียงผู้ยึดถือแทนแดงเท่านั้น  แต่ไม่ได้ครอบครองเงินนั้นเพราะแดงเป็นผู้ครอบครอง (แดงมิได้ออกไปจากภัตตาคาร)  เมื่อขาวยักเงินไว้  100  บาท  จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของแดงโดยสุจริตแล้ว  ขาวมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่

สรุป  ขาวมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  นางเดือนได้ฝากเงินไว้กับนางฟ้า  20,000  บาท  หลังจากนั้นประมาณปีเศษนางเดือนจึงไปขอรับเงินคืน  นางฟ้าบอกว่าเงินที่รับฝากได้นำไปใช้หมดแล้วยังไม่มีคืนให้และขอผัดผ่อนโดยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากต่อมานางเดือนได้ทวงถามอีกหลายครั้งนางฟ้าก็ขอผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งนางเดือนได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนางฟ้า  เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกไปสอบถามนางฟ้าจึงได้ปฏิเสธว่าไม่เคยรับฝากเงินจากนางเดือน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านางฟ้าจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

ในเรื่องฝากเงินนี้  ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์  มาตรา  672  ได้บัญญัติไว้เป็นใจความว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับมี่ฝาก  แต่จะต้องใช้เงินให้ครบจำนวน  ผู้รับฝากมีสิทธิจะนำเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  หากแต่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินที่ฝากจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเป็นจำนวนดังว่านั้น  กฎหมายดังกล่าวมานี้แสดงว่าผู้รับฝากเงินมีสิทธิเอาเงินที่ฝากไปใช้ได้  โดยมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวน  ทั้งนี้แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ฝากก็ตาม

นางเดือนผู้เสียหายรับว่าครั้งแรกได้ไปทวงเงินจากนางฟ้า  โดยนางฟ้าบอกว่าเอาเงินไปใช้หมดแล้วยังไม่มีคืนให้  และขอผัดผ่อนโดยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝาก  หลังจากนั้นนางเดือนผู้เสียหายไปทวงเงินจากนางฟ้าหลายครั้ง  แต่นางฟ้าขอผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งนางเดือนไปแจ้งความดำเนินคดี  นางฟ้าจึงปฏิเสธว่าไม่เคยรับฝากเงินจากนางเดือน  ดังนี้  แสดงว่าขณะที่นางฟ้าเอาเงินไปใช้หมดนางฟ้าไม่มีเจตนาทุจริตยักยอกเงินนั้น   เพราะนางฟ้าได้ขอผัดผ่อนการชำระเงินอยู่  จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง  การที่นางฟ้าปฏิเสธในชั้นสอบสวนในภายหลังว่าไม่เคยรับฝากเงินกับนางเดือนผู้เสียหายไม่ทำให้นางฟ้ามีความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินที่รับฝาก

สรุป  นางฟ้าจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

Advertisement