การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร  และในกฎหมายตราสามดวงมีการกล่าวถึงการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

พระคัมภีร์ธรรมศาสตร์  คือ  คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอำนาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่งเรียบเรียงขึ้น  เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆตามความยุติธรรม  ซึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์  มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย  กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง  ดังนั้นจึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกษัตริย์  และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมายของพระธรรมศาสตร์ด้วย  สภาพการณ์เช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะและศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวง

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ได้กล่าวถึงกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์  ความว่า  มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อพรหมเทวะ  จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์  ซึ่งเป็นข้าบาทพระเจ้าสมมุติราชครั้งอายุได้  15  ปี  ก็เข้าแทนที่บิดา  ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่างๆ  จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  จึงถวายบังคมลาออกไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์  จำเริญเมตตาภาวนาบริโภคพืชผลเป็นอาหาร  มีเทพกินนร  กินนรี  คนธรรม์  เป็นบริวาร  ต่อมาพระเทวะฤาษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตรสองคน  คนแรกชื่อ  ภัทธระกุมาร  คนที่สองชื่อ  มโนสารกุมร  เมื่อบุตรทั้งสองเจริญเติบโตบิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา  จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป  ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช  มโนสารฤาษีก็ตามพี่ชายออกไปทำราชการด้วย  พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มามีชายสองคนทำไร่แตงใกล้กัน  เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลาง  เถาแตงจึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน  เมื่อแตงเป็นผล  ชายทั้งสองคนก็มาเก็บแตง  จึงเกิดการทะเลาะวิวาท  ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง  ชายทั้งสองคนจึงพากันมาหามโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด  มโนสารตัดสินว่าแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด  ผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง  ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสารจึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช  พระองค์จึงตรัสใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่  อำมาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดูตามปลายยอดเอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น  ชายทั้งสองคนต่างพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์ผู้นี้  และประชาชนทั้งหลายต่างพากันตำหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม  พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีออกไปบวชเป็นฤาษีจำเริญภาวนาและมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วยทศพิธราชธรรม  จึงเหาะไปยังกำแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล  มีปริมาณเท่ากายคชสาร  พระมโนสารก็จดจำมาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์

การที่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้แต่งเรื่องราวการกำเนิดของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า  พระมโนสารเป็นผู้เหาะไปกำแพงจักรวาล  ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด  เพื่อจดเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราชนั้น  เป็นความประสงค์ของผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มุ่งที่จะยกย่องว่าบทบัญญัติต่างๆ  ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากอำนาจเบื้องสูง  ไม่อยู่ในบังคับของมนุษย์  หากแต่ยังมีอำนาจบังคับเหนือมนุษย์ทั้งปวงให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย  มาตรา  544  วางหลักไว้ว่า  “ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงไม่ได้”  ซึ่งจากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายของต่างประเทศพบว่า  มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดบัญญัติเกี่ยวกับการเช่าช่วงไว้  อยากทราบว่ากฎหมายนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร  เกิดขึ้นในยุคสมัยใดและจงอธิบายกฎหมายเรื่องนี้มาพอสังเขป

ธงคำตอบ

กฎหมายเรื่องนี้คือเช่าอสังหาริมทรัพย์  ชื่อกฎหมายคือ  ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี  ซึ่งยอมให้เอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้  แม้กระทั่งพระเจ้าฮัมมูราบีก็ทรงมีที่ดินเป็นของพระองค์เอง  รวมทั้งวัดก็เป็นเจ้าของที่ดินได้  ดังนั้นกษัตริย์  วัด  หรือประชาชน  ย่อมนำที่ดินไปให้ผิอื่นเช่าโดยได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทนนอกจากนี้ผู้เช่าอาจนำที่ดินที่ตนเช่าอยู่ไปให้ผู้อื่นเช่าต่อไป  เรียกว่า  เป็นการ”เช่าช่วง”  ดังนั้น  การเช่าช่วงจึงมีมาตั้งแต่สมัยบาบิโลนแล้ว

 

ข้อ  3  คดีฆาตกรรมต่อเนื่องครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศแคนาดาได้ยุติลงแล้ว  เมื่อคณะลูกขุนประจำศาลแวนคูเวอร์ตัดสินว่านายโรเบิร์ต  วิลลี่  พิกตัน  วัย  58  ปี  มีความผิดฐานฆาตกรรมผู้หญิง  6  คน  ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต  รายงานข่าวโดยเอพีและบีบีซี  เมื่อวันที่ 10  ธันวาคม  2550  จากข่าวดังกล่าวจงอธิบายวิธีพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน  พอสังเขป

ธงคำตอบ

จูลี่หรือลูกขุน  เป็นคำรวม  หมายถึง  คณะลูกขุนจำนวน  12  คน  บุคลซึ่งประกอบเป็นลูกขุนคนใดคนหนึ่งเรียกว่า  จูรอร์ (Juror) เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ  สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่  2

วัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน  เป็นระบบการพิจารณาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดแทนที่จะปล่อยให้อยู่ในมือของนักกฎหมายเท่านั้น  การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนเป็นวิวัฒนาการของการพิจารณาคดี  ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์โดยเฉพาะ  ซึ่งสืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษ

คุณสมบัติของผู้เป็นลูกขุนมีบัญญัติอยู่ใน  Jury  Act  1825  คือ  ต้องเป็นคนสัญชาติอังกฤษอายุระหว่าง  20 -60 ปี  ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง  บุคคลที่ไม่อาจเป็นลูกขุนได้  คือ  สมาชิกสภาขุนนาง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นักพรต  นักบวช  แพทย์  ทหาร  ตำรวจ  ข้าราชการ  นักกฎหมาย  ผู้มีจิตไม่สมประกอบ

ปัจจุบันประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายคอมมอน  ลอว์  เช่น  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  สิงคโปร์  มาเลเซีย  ได้ยกเลิกระบบลูกขุน  เพราะความไม่สะดวกเนื่องจากสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย  ในมาเลเซียเฉพาะคดีที่มีโทษประหารชีวิตเท่านั้น  ที่มีการพิจารณาคดีโดยลูกขุน

การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน  ส่วนมากใช้เฉพาะในคดีอาญา  ส่วนคดีแพ่งมีน้อยมาก  เว้นแต่คดีหมิ่นประมาท  คดีทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ  คดีผิดสัญญาสมรส  คดีล่อลวง  และคดีฉ้อโกง  ในปัจจุบันคดีอาญาที่มีการพิจารณาโดยคณะลูกขุนต้องเป็นความผิดอุกฉกรรจ์  เช่น  ฆ่าคนตายโดยเจตนา  ปล้นทรัพย์  ข่มขืนกระทำชำเรา  อำนาจหน้าที่ของคณะลูกขุนคือ  พิจารณาเฉพาะปัญหาข้อเท็จจริง  เช่น จำเลยแทงผู้ตายจริงหรือไม่  ส่วนจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่เจตนา  เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี  ลูกขุนจะนั่งฟังการสืบพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นจนจบ  แล้วจะลงมติว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่  ถ้าเห็นว่าผิด  (Guilty)  ผู้พิพากษาจะเป็นผู้กำหนดโทษต่อไป  และฝ่ายที่ไม่พอใจย่อมอุทธรณ์และฎีกาต่อไป.

Advertisement