การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006  กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1 

ก.      เป็นเจ้าพนักงานไทยได้รับแต่งตั้งให้เดินทางไปซื้อเรือดำน้ำที่ประเทศเยอรมนี  เมื่อ  ก  เดินทางไปถึงประเทศเยอรมนี  ก  ได้ร่วมกันกับ  ข  นักธุรกิจไทยซึ่งเดินทางไปทำธุรกิจที่ประเทศเยอรมนี  โดยให้  ข  ไปเรียกเงินจากบริษัทขายเรือดำน้ำ  5  แสนมาร์ค  ถ้าได้จากบริษัทใดก็จะซื้อจากบริษัทนั้น  บริษัทหนึ่งได้ตกลงตามที่  ข  เรียกร้อง  ก  จึงซื้อเรือดำน้ำจากบริษัทนั้นและแบ่งเงินให้  ข  1  แสนมาร์ค  ดังนี้  ก  และ  ข  จะต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

มาตรา  7  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  107  ถึงมาตรา  129

(1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  135/1  มาตรา  135/2  มาตรา  135/3  และมาตรา  135/4

(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  240  ถึงมาตรา  249  มาตรา  254  มาตรา  256  มาตรา  257  และมาตรา  266(3) และ (4)

(2 ทวิ)  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  และมาตรา  283

(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  339  และความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  340  ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ  หรือ

(ข)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว  และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย  และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ 

(1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  217  มาตรา  218  มาตรา  221  ถึงมาตรา  223  ทั้งนี้  เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา  220  วรรคแรก  และมาตรา  224  มาตรา  226  มาตรา  228  ถึงมาตรา  232  มาตรา  237  และมาตรา  233  ถึงมาตรา  236  ทั้งนี้  เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา  238

(2) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266(1)  และ  (2)  มาตรา  268  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา  267  และมาตรา  269

(2/1)  ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  269/1  ถึงมาตรา  269/7

(2/2)  ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  269/8  ถึงมาตรา  269/15

(3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  276  มาตรา  280  และมาตรา  285  ทั้งนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา  276

(4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

(5) ความผิดต่อร่างกาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  295  ถึงมาตรา  298

(6) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก  คนป่วยเจ็บ  หรือคนชรา  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  306  ถึงมาตรา  308

(7) ความผิดต่อเสรีภาพ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  309  มาตรา  310  มาตรา  312  ถึงมาตรา  315  และมาตรา  317  ถึงมาตรา  320

(8) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  334  ถึงมาตรา  336

(9) ความผิดฐานกรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ชิงทรัพย์  และปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  337  ถึงมาตรา  340

(10)                    ความผิดฐานฉ้อโกง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  341  ถึงมาตรา  344  มาตรา  346  และมาตรา  347

(11)                    ความผิดฐานยักยอก  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  352  ถึงมาตรา  354

(12)                    ความผดฐานรับของโจร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  357

(13)                    ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  358  ถึงมาตรา  360

มาตรา  9  เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  147  ถึงมาตรา  166  และมาตรา  200  ถึงมาตรา  205 นอกราชอาณาจักร  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

วินิจฉัย

โดยหลักทั่วไป  กฎหมายของรัฐใดย่อมใช้บังคับแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในเขตของรัฐนั้น  แต่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติยกเว้นหลักดังกล่าวไว้ว่า  ถึงแม้ผู้กระทำจะกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  แต่จะต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรหากเป็นกรณีตามมาตรา  7  มาตรา  8  และมาตรา  9

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก เป็นเจ้าพนักงานไทยซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เดินทางไปซื้อเรือดำน้ำที่ประเทศเยอรมนีได้ร่วมกันกับ  ข  โดยให้  ข  ไปเรียกเงินจากบริษัทขายเรือดำน้ำ  ถ้าได้จากบริษัทใดก็จะซื้อจากบริษัทนั้น  และบริษัทหนึ่งได้ตกลงตามที่  ข  เรียกร้อง  และ  ก  จึงซื้อเรือดำน้ำจากบริษัทหนึ่ง  ดังนั้น  เมื่อ  ก  เป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย  ก  จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม  ป.อ.  มาตรา  149  และ  เมื่อเป็นกรณีที่  ก  ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.อ.  มาตรา  147  ถึงมาตรา  166  นอกราชอาณาจักร  ดังนั้น  ก  จึงต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรตาม  ป.อ.  มาตรา  9

ส่วนกรณีของ  ข  นั้น  เมื่อ  ข  ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย  จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม  ป.อ. มาตรา  149  เพราะบุคคลธรรมดาไม่อาจจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้  กรณีจึงไม่ต้องด้วย  ป.อ.  มาตรา  9  และการกระทำของ  ข  ดังกล่าว  ก็ไม่ต้องด้วยกรณีตาม  ป.อ.  มาตรา  7  และมาตรา  8  แต่อย่างใด  ดังนั้น  ข  จึงไม่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

สรุป  ก  ต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักร  ส่วน  ข  ไม่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

 

ข้อ  2 

ก  ใช้ปืนขู่บังคับ  ข  ให้ตีหัว  ค  หากไม่ตี  ก  จะยิง  ข  ให้ตาย  ข  กลัว  ก  ยิงตน  ข  จึงใช้ไม้ตีไปที่  ค  ค  เห็น  ข  เงื้อไม้ขึ้นตีตน  ค  จึงใช้ไม้ที่ถืออยู่ตีไปที่  ข  และไม้ได้หลุดจากมือ  ค  เลยไปถูก  ก  ด้วย  ดังนี้  ก  ข  และ  ค  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  89  ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ  ลดโทษ  หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคนใด  จะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ก  ข  และ  ค  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของ  ก

การที่  ก  ใช้ปืนขู่บังคับ  ข  ให้ตีหัว  ค  นั้น  ถือเป็นการ  ก่อ  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการบังคับขู่เข็ญแล้ว  ก  จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลงคือ  ข  ได้ใช้ไม้ตีไปที่  ค  ก  ผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84  วรรคสอง  และกรณีนี้  ก  ไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา  89  เพราะถึงแม้การที่  ข  ใช้ไม้ตี  ค  จะกระทำด้วยความจำเป็นและได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา  67  ก็ตาม  แต่การได้รับยกเว้นโทษดังกล่าวถือเป็นเหตุส่วนตัวของ  ข  จะนำมาใช้กับ  ก  ด้วยไม่ได้

ความรับผิดของ  ข

การที่  ข  ใช้ไม้ตีไปที่  ค  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของ  ข  จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ข  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่  ข  ใช้ไม้ตีไปที่  ค  นั้น  ข  ได้กระทำไปเพราะอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของ ก  ซึ่ง  ข  ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  เมื่อ  ข  ได้กระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ  การกระทำของ  ข  จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(1)  ดังนั้น  ข  จึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของ  ค

การที่  ค  ใช้ไม้ตีไปที่  ข  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น การกระทำของ  ค  จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ค  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ ค  ได้ใช้ไม้ตีไปที่  ข  นั้น  ค  ได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตน  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของ  ข  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เมื่อ  ค  ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของ  ค  จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ดังนั้น  ค  จึงไม่ต้องรับผิดต่อ  ข

และเมื่อการกระทำของ  ค  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่าไม้ได้หลุดจากมือ  ค  เลยไปถูก  ก  ด้วย  ซึ่งถือเป็นกรณีที่  ค เจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไปและกฎหมายให้ถือว่า  ค  เจตนากระทำต่อ  ก  โดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ตาม  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของ  ค  เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปก็ถือเป็นผลที่เกิดจากการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ด้วย  ดังนั้น  ค  จึงไม่ต้องรับผิดต่อ  ก  เช่นเดียวกัน

สรุป

ก  ตองรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  และรับโทษเสมือนตัวการ

ข  ต้องรับผิดทางอาญา  แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67  เพราะเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

ค  ไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  68  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  นายแดงกับนายดำเป็นเพื่อรักกัน  ทั้งสองคนเข้าป่าล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกด้วยกันเป็นประจำ  วันหนึ่ง  ทั้งคู่ได้นัดกันไปล่าสัตว์ตามปกติ  โดยนัดเจอกันเวลาบ่ายโมงตรงใต้ต้นไม้ใหญ่  นายแดงล่าสัตว์ไม่ได้เลยจึงรู้สึกเบื่อหน่ายมานั่งรอนายดำก่อนเวลานัดเจอจนเผลอหลับไป

เมื่อใกล้เวลาบ่ายโมง  นายแดงได้ยินเสียงดังอยู่หลังพุ่มไม้ที่ตนนอนอยู่  ด้วยความรีบร้อนไม่ทันดูให้ดีเสียก่อน  จึงชักปืนจากเอวขึ้นยิงไปทันที  ปรากฏว่าเป็นนายดำที่จะเข้ามาหยอกล้อเล่นเหมือนที่เคยทำเป็นประจำ  กระสุนถูกอวัยวะสำคัญทำให้นายดำถึงแก่ความตายทันที

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายแดง

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น  ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกแล้ว  จึงถือว่านายแดงมีการกระทำทางอาญา  แต่การที่นายแดงยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์แต่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายดำนั้น  เป็นกรณีที่นายแดงได้กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงนั้นเป็นคน  ดังนั้น  จะถือว่านายแดงได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำคือการที่นายดำถึงแก่ความตายไม่ได้  กล่าวคือ  จะถือว่านายแดงได้กระทำโดยเจตนาต่อนายดำไม่ได้นั่นเอง  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม

แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  59  วรรคสามของนายแดงได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทำของนายแดงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นว่านั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และนายแดงอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่  กล่าวคือ  ถ้านายแดงใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้ดีไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายดำไม่ใช่สัตว์  เพราะนายดำมักจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจำ  ดังนั้น  นายแดงจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  62  วรรคสองประกอบมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  นายแดงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทตามมาตรา  62  วรรคสองประกอบมาตรา  59  วรรคสี่

 

ข้อ  4  เรยาเกลียดณฤดีที่ได้รับความรักจากคุณใหญ่เพียงคนเดียว  เรยาจึงคิดฆ่าณฤดี  แต่กลับเห็นเด่นจันทร์เป็นณฤดี  เมื่อใช้ปืนยิงเด่นจันทร์ถึงแก่ความตายไปแล้ว  กระสุนที่ใช้ยิงเด่นจันทร์นั้น  ยังเลยไปถูกสินธรที่เดินอยู่ห่างออกไปได้รับบาดเจ็บสาหัส  นอกจากนี้กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธรที่เด่นจันทร์ซื้อให้ราคา  20  ล้านบาท  ได้รับความเสียหายอีกด้วย  จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของเรยา  

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ความรับผิดทางอาญาของเรยา  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของเรยาต่อเด่นจันทร์

การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์โดยเข้าใจว่าเป็นณฤดีนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  ความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้น  การกระทำของเรยาจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และกรณีดังกล่าวนี้เรยาจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทำต่อเด่นจันทร์ไม่ได้ตามมาตรา  61  ดังนั้น  เรยาจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของเรยาต่อสินธร

การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์  และกระสุนยังได้เลยไปถูกสินธรบาดเจ็บด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่เรยาเจตนาจะกระทำความผิดต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเรยากระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นด้วย  ดังนั้น  เมื่อเรยามีเจตนาฆ่ามาตั้งแต่ต้น  เจตนาที่โอนมายังสินธรก็คือ  เจตนาฆ่าเช่นเดียวกัน  เมื่อปรากฏว่าสินธรเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น  ไม่ถึงแก่ความตาย  เรยาจึงต้องรับผิดต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  60  ประกอบมาตรา  80

ส่วนกรณีที่กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธรได้รับความเสียหายด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่เรยากระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  แต่เนื่องจากการทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นโดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  เรยาจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์องสินธร  ทั้งนี้ตามหลักในมาตรา  59  วรรคแรกที่ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยประมาทก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

สรุป  เรยาต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทำต่อเด่นจันทร์โดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรกประกอบมาตรา  61  และรับผิดทางอาญาต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามมาตรา  60  ระกอบมาตรา  80  แต่เรยาไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์ของสินธร    

Advertisement