การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์  ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย  จำเลยได้รับสำเนาฟ้องแล้ว  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด  หาใช่สัญญาจะซื้อจะขายไม่  และสัญญาก็ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินย่อมตกเป็นโมฆะ  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์

ต่อมาศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วได้ข้อเท็จจริงว่า  จำเลยได้ขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ในราคา  5  ล้านบาท  โดยจำเลยยอมเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน  ทั้งจำเลยได้รับเงินราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินจากโจทก์ไว้ก่อน  500,000  บาท  หลังจากนั้น  จำเลยนำเงิน  500,000  บาทมาขอคืนให้โจทก์  และไม่ขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ 

แต่โจทก์ไม่ยอมรับและขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์อ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ  ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินที่พิพาทให้โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ให้โจทก์ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายซื้อขายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายตามมาตรา  453  เป็นสัญญาที่ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ขายให้กับผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน  แม้ตามข้อเท็จจริงสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  แต่ก็สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้  เพราะได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว  เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย  ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ศาลก็ต้องมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินที่ยังขาดอยู่ให้แก่จำเลยด้วย  แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแต่เพียงให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินที่พิพาทให้โจทก์  หาได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินให้จำเลยด้วย  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน

 

ข้อ  2  นายไก่ตกลงขายรถยนต์ซึ่งตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดให้แก่นายไข่ในราคา  3  แสนบาท  ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวนายไก่ทราบดีว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟมาโดยตลอด  แต่ไม่ได้แจ้งให้นายไข่ทราบ  ในการตกลงซื้อขายกันครั้งนี้นายไก่ผู้ขายได้ระบุไว้ในสัญญาว่าถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องอย่างใดๆขึ้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบอย่างใดๆทั้งสิ้น  เมื่อส่งมอบรถยนต์แล้วนายไข่เพิ่งจะทราบว่ารถยนต์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟจึงมาเรียกร้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดชอบแต่นายไก่ปฏิเสธอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ได้มาจากการขายทอดตลาดของศาลตนไม่ต้องรับผิดชอบ

คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังได้หรือไม่  และนายไข่จะฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

นายไก่ขายรถยนต์ที่ตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดแก่นายไข่ในราคา  3   แสนบาท  เมื่อส่งมอบรถยนต์แล้ว  นายไข่จึงทราบว่ารถยนต์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟ  และได้เรียกร้องให้นายไก่รับผิดชอบ  แต่นายไก่อ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาด  ตนจึงไม่ต้องรับผิด  เช่นนี้คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังไม่ได้  เพราะถึงแม้ว่านายไก่ จะซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาด  แต่การซื้อรถยนต์ระหว่างนายไก่และนายไข่นั้นไม่ใช่การขายทอดตลาด  นายไข่จึงฟ้องนายไก่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้  ตามมาตรา  472  แม้จะมีการตกลงยกเว้นไว้ในสัญญาว่าถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องอย่างใดๆ ขึ้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดก็ตาม  เพราะข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วปกปิดเสีย  ดังนั้น  เมื่อนายไก่ไม่สุจริตทราบถึงเหตุความชำรุดบกพร่องอยู่แล้วไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบ  แต่ยังมายกเว้นความรับผิดชอบของตนอีก  จึงไม่พ้นความรับผิด  ยังต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามมาตรา  483, 485

สรุป  คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังไม่ได้  และนายไข่ฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดปกพร่องในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันได้

 

ข้อ  3  นายพานได้จำนองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  200  ตารางวาไว้กับนายพัดในราคาสี่แสนบาท  ที่ดินแปลงนั้นราคาตารางวาละ  10,000  บาท  และนายพานยังได้ให้ทำเอกสารเป็นหนังสือยกที่ดินแปลงนั้นให้นายพุธ  โดยให้นายพุธไปไถ่จำนองจากนายพัดเอง

แต่ที่ดินแปลงนั้นมีนายผันครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อยู่ห้าสิบตารางวา  และกำลังยื่นฟ้องต่อศาลขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์  แต่นายพุธไม่ทราบ  นายพุธมาทราบภายหลังจากไถ่จำนองและจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้มาเรียบร้อยแล้ว  และถูกนายผันขับไล่ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวที่ดินในส่วนที่นายผันครอบครองปรปักษ์

นายพุธจึงต้องการให้นายพานชดใช้เงินที่ตนไปไถ่จำนองที่ดินแปลงนั้น  แต่นายพานไม่ยอม  ถ้านายพุธมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำแนะนำกับนายพุธอย่างไร  นายพุธจะเรียกร้องให้นายพานรับผิดได้หรือไม่ในกรณีใด

ธงคำตอบ

มาตรา  530  ถ้าการให้นั้นมีค่าภาระติดพัน  ท่านว่าผู้ให้ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย  แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน

วินิจฉัย

นายพานได้จำนองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  200  ตารางวา  ไว้กับนายพัดในราคาสี่แสนบาท  ที่ดินแปลงนั้นราคาตารางวาละ  10,000  บาท  และนายพานยังได้ให้ทำเอกสารเป็นหนังสือยกที่ดินแปลงนั้นให้นายพุธโดยให้นายพุธไปไถ่จำนองจากนายพัดเอง  เอกสารเป็นหนังสือนี้เป็นสัญญาให้ที่มีค่าภาระติดพันในทรัพย์สินที่ให้  แต่ที่ดินแปลงนั้นมีนายผันครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อยู่ห้าสิบตารางวา และกำลังยื่นฟ้องต่อศาลขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์  แต่นายพุธไม่ทราบ  นายพุธมาทราบภายหลังจากไถ่จำนองและจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้มาเรียบร้อยแล้ว  จึงเป็นกรณีที่นายพุธถูกรบกวนขัดสิทธิโดยบุคคลภายนอก  (นายผัน)  ไม่ให้เข้าครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  และเป็นการรอนสิทธิที่เกิดก่อนสัญญาให้  นายพุธจึงสามารถเรียกร้องให้นายพานชดใช้เงินจำนวนสี่แสนบาทค่าไถ่ถอนจำนองได้  เพราะในสัญญาให้ที่มีค่าภาระติดพันผู้ให้ต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกับผู้ขายแต่จำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพันตามมาตรา  530

สรุป  ถ้านายพุธมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำกับนายพุธโดยบอกให้นายพุธฟ้องร้องให้นายพานรับผิด  ในกรณีที่มีการรอนสิทธิในทรัพย์สินที่ให้และมีค่าภาระติดพัน  (ที่ดินแปลงดังกล่าว)  ดังนั้นนายพุธเรียกให้นายพานรับผิดชดใช้เงินจำนวนสี่แสนบาทได้  แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน

Advertisement