การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001 หลักกฎหมายมหาชน

ข้อ 1. จงอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยหลักนิติรัฐ และกฎหมายมหาชน ตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

Advertisement

 จากปัญหาการใช้อำนาจทางปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจอยูที่ผู้นำเพียงผู้เดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง และการใช้อำนาจในการปกครองไม่สามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้ ทำให้ประชาชนถูกรบกวนสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองอย่างไม่เป็นธรรม

จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครองเป็นสามอำนาจคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

จากหลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง ทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยโดยมีหลักการว่า

1. ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน

2 ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง

3. เมื่อได้อำนาจในการปกครองประเทศแล้ว ต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

4. การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้
เมื่อเกิดหลักการของระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดหลักนิติรัฐคือหลักการปกครองโดยกฎหมาย หมายความว่า การใช้อำนาจในทางปกครองในทุกระดับต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ และการใช้อำนาจนั้นต้องสามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้จากหลักนิติรัฐ ทำให้เกิดหลักกฎหมายมหาชนในปัจจุบัน เพราะกฎหมายมหาชนในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่
บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่รัฐแก่หน่วยงานของรัฐ และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และการใช้อำนาจในทางปกครองดังกล่าวต้องสามารถควบคุมตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

 

ข้อ 2. ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งอำนาจทางปกครอง
ธงคำตอบ

หลักการแบ่งอำนาจทางปกครอง เกิดขึ้นเนื่องจาการรวมอำนาจปกครองเข้าไว้ในส่วนกลาง มีข้อเสีย เพราะไม่สามารถดำเนินการให้ได้ผลดีและทั่วถึงทุกท้องที่พร้อมกัน และมักมีระเบียบแบบแผนยุ่งยากทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน ไม่อาจสนองตอบความต้องการขอประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

จึงได้มีการขยายหลักการรวมอำนาจด้วยหลักการแบ่งอำนาจปกครองให้แก่ส่วนภูมิภาคทั้งนี้เพราะการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องสงวนอำนาจสั่งการทุกเรื่องไว้ที่ส่วนกลางแห่งเดียว เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลาง 

ที่ออกไปประจำในส่วนภูมิภาคได้ เมื่อราชการนั้นไม่เกี่ยวกับส่วนได้เสียทั่วไปของประเทศ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเขตการปกครองนั้นโดยเฉพาะ แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังคงเป็นผู้ที่ราชการบริหารส่วนกลางแต่งตั้งทั้งสิ้นและอยู่ในบังคับบัญชาของราชการบริการส่วนกลาง หลักการแบ่งอำนาจทางปกครองนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจทางปกครอง ไม่ใช่เป็นการกระจายอำนาจ

 

ข้อ 3. ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของกฎหมายมหาชน คือเป็นกฎหมายที่ใช้ในการปฏิรูป

ดังนั้นจึงขอให้นักศึกษาอธิบายสาระสำคัญของ การปฏิรูป การเมืองการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินแนวใหม่ ตามมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 และพระราชทฤษฏีการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชนเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐในการดำเนินการปฏิรูป โดยการปฏิรูปที่สำคัญ
คือ การปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 ได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินไว้
มาตรา 3/1 การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์
ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงานการลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงานการจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึง หลักการตามวรรคหนึ่ง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึง
ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไป ตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่ง การให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้

ส่วนพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นั้นออกโดยอาศัย
อำนาจตามมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติงานการ การสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารกิจการบ้านเมืองเป็นไปตามเป้าหมายในเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 จะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการ โดยนำเนื้อความของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา311 มาขยายอีกทีหนึ่งซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 7 ประการดังต่อไปนี้

1. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประขาชน
2. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของ
3. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการเพื่อไม่เป็นการสร้างขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการเพื่อให้มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6. หลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการเพื่อให้ประชาชนได้รับการอ่านวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7. หลักเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement