การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  รัฐธรรมนูญคือ  กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  เป็นกติกาการปกครองของรัฐ  กลไกการใช้อำนาจรัฐฝ่ายต่างๆ  ทั้งนิติบัญญัติ  บริหาร  ตุลาการ  และองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ

กติกา  หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมีทั้งดีและไม่ดี  มีทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการและรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย  ซึ่งหากกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นกติกาที่ไม่ดี  กำหนดตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ  ก็ควรต้องแก้ไขกติกาหรือกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนั้น 

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์และขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ตามมาตรา  291  มาโดยละเอียดและให้ยกตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไขมา  3  มาตรา 

ธงคำตอบ

ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดหลักการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขแบบง่ายโดยมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการแก้ไขกำหนดไว้ในมาตรา 291 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1)  ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชน   ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้(2)  ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3)  การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4)  การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5)  เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(6)  การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)  เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไข  เช่น

มาตรา  122  ที่เป็นการนำหลักของทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติมาผสมผสานกับหลักของทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  กล่าวคือ  ผู้แทนตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนต้องอยู่ในอาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง  แต่รัฐธรรมนูญฯมาตราดังกล่าวได้บัญญัติให้ผู้แทนไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ  อันเป็นหลักของทฤษฎีที่ขัดกัน  หรือ

มาตรา  237  ที่กำหนดให้การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวที่มีเจตนาทุจริตเลือกตั้ง  มีผลต่อกรรมการบริหารพรรคและพรรคการเมืองที่ตนสังกัดด้วย  หากรู้แล้วมิได้ยับยั้งหรือปล่อยปละละเลย  ซึ่งนับว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

มาตรา  309  ที่เป็นการรับรองการยึดอำนาจ  รัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  “กฎหมายมหาชน”  มีความสำคัญต่อการปกครองในทุกระดับอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย  กล่าวคือ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น  3  อำนาจ  คือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้  คือ  ศาล

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับสอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  เช่น  สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ  ได้แก่  ข้าราชการ  พนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป  กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครองมีความสัมพันธ์กับการปกครองของไทยในทุกระดับในแง่ที่ว่า  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ  หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว  ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ  3  ให้นักศึกษาอธิบายและยกตัวอย่าง  เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในคำต่อไปนี้  ในเรื่องการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ

– การให้เหตุผลทางปกครอง

-ระบบศาลคู่

-การควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบป้องกัน

– ดุลพินิจผูกพัน  และอำนาจดุลพินิจทั่วไป

– การเยียวยาความเสียหาย

ธงคำตอบ

อธิบาย

การให้เหตุผลทางปกครอง  โดยหลักแล้ว  คำสั่งทางปกครองเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในการที่ จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล  ดังนั้น  กฎหมายจึงกำหนดว่า  คำสั่งทางปกครองจะต้องมีเหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวเอาไว้ด้วย  เช่น  ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นในสาระสำคัญ  กฎหมายที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณา  ข้อพิจารณา  ข้อสนับสนุนที่ใช้ประกอบดุลพินิจในการตัดสินใจ  เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อให้คู่กรณีสามารถทราบได้ว่าเจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองเพราะเหตุใด  ถูกต้อง  เหมาะสม  ขัดหรือแย้งข้อเท็จจริงหรือกฎหมายใดหรือไม่  มีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือไม่  และการให้เหตุผลดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครอง  และประการที่สำคัญก็คือ  เหตุผลในทางปกครองสามารถนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป  (พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539)

ระบบศาลคู่ 

เป็นหนึ่งในระบบการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองแบบแก้ไข (ภายหลัง)  ซึ่งเป็นการใช้ระบบตุลาการเข้ามาช่วย  หมายความว่า  มีศาลพิเศษแยกต่างหากจากศาลยุติธรรม  กล่าวคือ  เป็นระบบการควบคุมฝ่ายปกครองที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น  ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองนั้นให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง  ซึ่งมีระบบศาลและระบบผู้พิพากษาแยกต่างหากจากระบบศาลยุติธรรม

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐในระบบศาลคู่นี้ถือว่าเป็นวิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่ดีที่สุด  เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีระบบการพิจารณาที่ใช้ศาล  และมีกฎหมายรองรับทำให้การพิจารณาพิพากษาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยิ่ง  อาทิเช่น  กฎหมายจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.2542  กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ.2539  กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ  พ.ศ.2539  ซึ่งแม้วิธีการจะล่าช้าอยู่บ้าง  แต่เป็นหลักประกันที่ดีกว่าแก่ประชาชน  เมื่อเทียบกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐในวิธีการอื่นๆ

สำหรับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง  มีกำหนดไว้ใน  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ.2542  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการตรวจสอบหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้า หน้าที่ของรัฐในเรื่องการใช้อำนาจทางปกครองหรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคำสั่งหรือการกระทำอื่นใด  เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่สุจริต  หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ  เป็นต้น

การควบคุมการใช้อำนาจแบบป้องกัน  (ก่อน)  เป็นวิธีการก่อนที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีนิติกรรมหรือคำสั่งในทางปกครอง  หรือการกระทำในทางปกครองใดที่จะไปกระทบต่อสิทธิหรือสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  จะมีระบบป้องกันเสียก่อน  กล่าวคือ  มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ  หรือขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งออกไป  กระบวนการควบคุมดังกล่าวมีตัวอย่างเช่น

–  การโต้แย้งคัดค้านคำสั่ง  คือ  ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครอง  จะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น  เพื่อหลีกเลี่ยง  “การปกครองที่ดื้อดึง”

–  การไต่สวนหาข้อเท็จจริง  เป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง  โดยทำการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย  แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสีย

– การปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

– องค์กรที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะ

– การให้เหตุผล  เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง

– หลักการไม่มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น

– การแจ้งสิทธิและระยะเวลาอุทธรณ์  เป็นต้น

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบป้องกันนี้  มีผลทำให้ฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง  ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย  แต่ก็มักไม่ได้ผลเมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบแก้ไข  ทั้ง นี้เพราะรูปแบบของการควบคุมแบบป้องกันนั้นยังขาดหลักประกันในการดำเนินการ หรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมก่อนที่ องค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคำสั่งหรือนิติกรรมในทางปกครองอันส่ง ผลกระทบถึงประชาชนนั่นเอง  ซึ่งมักจะมีการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินการดังกล่าว

ดุลพินิจผูกพัน  และอำนาจดุลพินิจทั่วไป  การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  มีสิ่งที่จะต้องควบคุมคือ  การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  นั่นเอง  ซึ่งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  มี  2  รูปแบบ  คือ

1       ดุลพินิจผูกพัน  คือ  อำนาจหน้าที่ที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐต้องปฏิบัติเมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดๆเกิดขึ้นตามที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ  ได้บัญญัติกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว  ดังนี้  องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่งและคำสั่งนั้นต้องมีเนื้อความเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้  เช่น  เรื่องการร้องขอจดทะเบียนสมรส  เมื่อชายและหญิงผู้ร้องขอมีคุณสมบัติครบถ้วนและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ.  แล้ว  นายทะเบียนครอบครัวจะต้องทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องขอเสมอ

2       อำนาจดุลพินิจทั่วไป  อำนาจดุลพินิจทั่วไปแตกต่างกับดุลพินิจผูกพันข้างต้น  กล่าวคือ  อำนาจดุลพินิจทั่วไปเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐสามารถเลือกตัดสินใจออกคำสั่ง  หรือเลือกสั่งการอย่างใดๆได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้  เพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  อำนาจดุลพินิจทั่วไปก็คือ  อำนาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์หรือมีข้อเท็จจริงใดๆที่กำหนดไว้เกิดขึ้น

ทั้งดุลพินิจผูกพันและอำนาจดุลพินิจทั่วไปนี้  ส่วนใหญ่แล้วกฎหมายจะกำหนดให้ใช้อำนาจทั้งสองนี้ไปด้วยกัน  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดเกิดขึ้นแล้ว  องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่งในเรื่องนั้นๆ (ดุลพินิจผูกพัน)  แต่จะออกคำสั่งอย่างไรนั้น  สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้  (อำนาจดุลพินิจทั่วไป)

การเยียวยาความเสียหาย  คือ  การชดใช้ในทางค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีปกครองเช่นเดียวกับค่าเสียหายในคดีแพ่ง  ทั้งนี้เพราะในการใช้อำนาจปกครองที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจหรือกว่านั้น  ในบางครั้งอาจจะกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนได้  ดังนั้น  จึงไม่สมควรที่จะให้ฝ่ายปกครองนำหลักของการที่ตนมีอำนาจในทางปกครองเหนือกว่ามาปฏิเสธความรับผิดในเรื่องนี้  กฎหมายจึงกำหนดให้ฝ่ายปกครองอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชน  หากการกระทำใดๆของฝ่ายปกครองจะไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เช่น  ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาเป็นของรัฐเพื่อทำถนนสาธารณะ  ซึ่งฝ่ายปกครองมีอำนาจทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากประชาชน  กรณีเช่นนี้  ถ้าฝ่ายปกครองเวนคืนที่ดินมา  ก็จะทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินส่วนนั้นได้รับความกระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ตนมีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย  ในการนี้ฝ่ายปกครองจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทดแทนค่าที่ดินในส่วนที่จะต้องเวนคืนให้กับประชาชนเจ้าของที่ดินนั้น  เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั่นเอง

Advertisement