การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3310 การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 5 ข้อ เลือกทํา 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายถึงจุดกําเนิดและความเป็นมาของการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

จุดกําเนิดและความเป็นมาของการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ จุดกําเนิดของการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบมาจากนักวิชาการ 2 คน คือ

1 โรเบิร์ต เอ. ดาห์ล (Robert A. Dahl) ได้เสนอความคิดเห็นไว้ในบทความเรื่อง “วิทยาศาสตร์ทางรัฐประศาสนศาสตร์” (The Science of Public Administration) ในปี ค.ศ. 1947 โดยกล่าวว่า “คนส่วนมากยังละเลยต่อการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ และตราบใดที่ยังไม่หันมาสนใจศึกษา รัฐประศาสนศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ความพยายามที่จะให้รัฐประศาสนศาสตร์เป็นไปในเชิงวิทยาศาสตร์ ดูค่อนข้างมืดมนเต็มที่” จากข้อเสนอของดาห์ลสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาเปรียบเทียบจะเป็นเครื่องมือที่สําคัญ ในการสร้างความเป็นศาสตร์ให้กับรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อเสนอ ของดาห์ลมีส่วนต่อการจุดประกายให้เกิดกระแสการศึกษาวิชาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในทางทฤษฎี

2 วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) เป็นอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และ เป็นบิดาของการศึกษาวิชาการบริหารรัฐกิจ โดยในศตวรรษที่ 19 วิลสันและคณะซึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่มศึกษา เปรียบเทียบระบบบริหาร” (Comparative Study Administration : CSA) ได้ไปศึกษาระบบบริหารราชการ – ของประเทศในยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซีย (เยอรมันปัจจุบัน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการหา

แนวทางในการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นให้หมดไป ซึ่งวิลสันได้นํา “หลักการแยกการบริหารออกจากการเมือง” ที่ได้จากการศึกษาระบบบริหารราชการของประเทศดังกล่าวมาใช้เป็น แนวทางในการแก้ปัญหาการบริหารราชการของสหรัฐอเมริกา และได้เสนอหลักการนี้ไว้ในผลงานชื่อ “The Study of Administration” ดังนั้นวิลสันจึงถือเป็นผู้จุดประกายการศึกษาวิชาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในทางปฏิบัติ

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงลักษณะของการบริหารรัฐกิจในประเทศกําลังพัฒนาตามข้อเสนอของริกส์ ได้แก่ “Formalism” และ “SALA Model” พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ตามข้อเสนอของเฟรด ดับบลิว ริกส์ (Fred W. Riggs) เกี่ยวกับลักษณะของการบริหารรัฐกิจ ในประเทศกําลังพัฒนานั้น

Formalism คือ ลักษณะการบริหารที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างปทัสถานหรือกฎเกณฑ์ ที่ตั้งไว้อย่างเป็นทางการกับความจริงในทางปฏิบัติ กล่าวคือ มีการกําหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ ต่าง ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ทําตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ที่ กําหนดไว้ ตัวอย่างเช่น

ข้าราชการไทยมีหน้าที่ดูแลรับใช้ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับแสดงตนเป็นนายของประชาชนแทนที่จะเป็นผู้รับใช้ประชาชน

การกําหนดให้มีการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการประจําหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยใช้หลักความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีลักษณะของ การใช้ระบบอุปถัมภ์ ไม่มีการพิจารณาคัดเลือกบุคคลโดยใช้หลักความรู้ความสามารถ

การกําหนดมาตรการ 5 จอมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อกวดขันวินัยการจราจรลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด

SALA Model คือ การกําหนดโครงสร้างของหน่วยงานราชการหรือองค์การหนึ่ง ๆ มักจะมี หน้าที่หลายอย่างในหน่วยงานเดียวกัน ทําให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความสับสนในการทํางานและทํางาน ก้าวก่ายกัน บางกรณีหน่วยงานราชการอาจเข้าไปก้าวก่ายอํานาจหน้าที่ของฝ่ายการเมือง หรือบางกรณีฝ่ายการเมือง อาจเข้าไปก้าวก่ายอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ทําให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นลักษณะของ SALA Model จึงแสดงถึงความไม่ผสมผสานกันระหว่างแนวคิดในการพัฒนากับความเป็นจริงในทางปฏิบัติดังเช่น คํากล่าวว่า “หัวมังกุท้ายมังกร” ตัวอย่างเช่น

กรุงเทพมหานครมีหน้าที่หลายอย่างจนทําให้การทํางานเกิดความซ้ำซ้อนหรือเกิดการก้าวก่ายอํานาจหน้าที่กับหน่วยงานราชการอื่น ๆ เช่น เรื่องการจราจร นอกจาก กรุงเทพมหานครแล้วยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทําหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เช่น กรมการขนส่ง ทางบก สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายถึงลักษณะการบริหารรัฐกิจตามตัวแบบ “Civic Culture” พร้อมยกตัวอย่างประเทศมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การบริหารรัฐกิจตามตัวแบบ “Civic Culture” หรือการบริหารแบบพลเรือน/พลเมือง (Civic Culture Administration/Civic Culture Model) เป็นรูปแบบการบริหารที่ให้ความสําคัญกับการเข้าไปมีส่วนร่วม ในทางการเมืองของประชาชน การยินยอมให้มีการกระจายอํานาจและยอมรับเสียงส่วนใหญ่ซึ่งมีสิทธิในอํานาจ การบริหารการปกครอง รวมทั้งการยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงและยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ ๆ ซึ่ง การบริหารรัฐกิจแบบนี้สามารถพบตัวอย่างได้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

การบริหารรัฐกิจของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและส่วนที่ แตกต่างกัน ดังนี้

ส่วนที่คล้ายคลึงกันของการบริหารรัฐกิจในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

1 การพัฒนาของระบบราชการเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยในอดีตนั้น การบริหารรัฐกิจของ อังกฤษตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) จึงเกิดการต่อต้านจากประชาชนและเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบราชการ ในปี ค.ศ. 1853 จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และเสนอร่างรายงาน “Trevelyan Northcote Report” โดยมีสาระสําคัญมุ่งเน้นความยุติธรรมและความโปร่งใสในวงราชการ โดยจัดให้มีการ สอบแข่งขันเป็นการทั่วไป และการจัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ส่วนการบริหารรัฐกิจของสหรัฐอเมริกา เกิดปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก (Split System) ในปี ค.ศ. 1883 จึงเกิดการประท้วงจากประชาชนและเกิด การลอบสังหารประธานาธิบดี ทําให้มีการกําหนดพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนและตั้งคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือนขึ้น ทั้งนี้การปฏิรูประบบราชการของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างมากกับผู้นําทางการเมือง และประชาชนเป็นส่วนใหญ่

2 การบริหารตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ระบบพลเรือน” กล่าวคือ วัฒนธรรมในการ บริหารรัฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะเน้นการมีส่วนร่วมและการกระจายอํานาจในการตัดสินใจ และ ประชาชนมีลักษณะ “Active Citizens” คือ มีอุดมการณ์ทางการเมืองสูง ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์ โดยประชาชนมองข้าราชการเป็นผู้มีหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชนและอยู่ภายใต้การควบคุม ของฝ่ายการเมือง และข้าราชการถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเป็นสื่อกลางของผู้นําทางการเมือง

ส่วนที่แตกต่างกันของการบริหารรัฐกิจในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

1 ลักษณะของการบริหารงานของผู้นําประเทศ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ มีลักษณะการบริหารงานแบบกระจายอํานาจ คือ จะมีการมอบหมายภาระหน้าที่และความรับผิดชอบแก่รัฐมนตรี ประจํากระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งได้มีการมอบอํานาจการตัดสินใจให้กับรัฐมนตรีแต่ละคนด้วย ส่วนประธานาธิบดี ของสหรัฐอเมริกาจะมีลักษณะของการบริหารงานแบบรวมอํานาจ คือ แม้ว่าจะได้มีการมอบหมายภาระหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่รัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ แล้ว แต่อํานาจการตัดสินใจเด็ดขาดยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ทําให้มีคนมองว่า สหรัฐอเมริกามีลักษณะโครงสร้างการบริหารงานเหมือนร่างกายของมนุษย์ นั่นคือ “ประธานาธิบดี เปรียบได้กับสมอง ส่วนระบบราชการเปรียบได้กับแขนและขา” หากขาดซึ่งการสั่งการจากประธานาธิบดี ระบบ บริหารส่วนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถทํางานได้

2  การบริหารงานบุคคล กล่าวคือ การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการของ ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน ดังนี้

การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ

สหรัฐอเมริกา

ใช้ “ระบบเปิด (Open System) กล่าวคือ

– เปิดกว้างในการรับสมัคร ไม่จํากัดอายุและประสบการณ์

– วิธีการสรรหามีความยืดหยุ่น ไม่จํากัดวิธีคัดเลือก

– การบรรจุบุคคลระดับสูงจะสรรหาจากบุคคลหลายระดับเน้นเป็นตัวแทนประชาชนได้

– มีแนวคิดว่าข้าราชการต้องมีการศึกษาสูงและมีประสบการณ์มาก

 

อังกฤษ

ใช้ “ระบบปิด” (Closed System) กล่าวคือ

– เปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบจากมหาวิทยาลัย ทันที ไม่สนใจประสบการณ์

– วิธีการสรรหามีความเข้มงวดมาก โดยวิธีการสอบจะลดความเข้มงวดตามลําดับชั้นของตําแหน่งข้าราชการ

– การบรรจุข้าราชการระดับสูงมักเป็นบุคคลในสายข้าราชการหรือบุคคลภายนอกชั้นสูง

– มีแนวคิดว่าคนชั้นสูงมีการศึกษาเป็นหัวสมองของประเทศหรือเน้นการศึกษามากกว่าประสบการณ์

 

การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ

อังกฤษ

เน้น”Career-Staffing” กล่าวคือ

– ให้ความสําคัญกับเรื่องสมรรถภาพทั่ว ๆ ไป เชาวน์ไหวพริบ

– ต้องผ่านการสอบแข่งขันซึ่งจะเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ

– ไม่สนับสนุนให้มีการโอนย้ายหน่วยงาน หรือเปลี่ยนอาชีพจากเอกชนมาเป็นข้าราชการ

 

สหรัฐอเมริกา

เน้น “Program-Staffing” กล่าวคือ

– ให้ความสําคัญกับเรื่องสมรรถภาพในความชํานาญเฉพาะด้าน ตามความต้องการของภาครัฐจากการเกิดขึ้นของโครงการตามนโยบาย

– ต้องผ่านการสอบแข่งขันซึ่งจะเน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีดูประสบการณ์

– เปิดโอกาสให้มีการโอนย้ายหน่วยงาน หรือเปลี่ยนอาชีพจากเอกชนมาเป็นข้าราชการได้

 

3 บทบาทของข้าราชการ

อังกฤษ

– ปฏิบัติตามนโยบายของฝ่ายการเมือง โดยไม่ได้รับการยอมรับให้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย

– เน้นการไม่เปิดเผยตัว เป็นลักษณะการปิดทองหลังพระ ดังนั้นความรับผิดชอบจึงตกอยู่ที่ฝ่ายการเมือง

– ข้าราชการมีลักษณะเป็นผู้คุ้มครอง (Protector) และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

– มีหลักประกันฐานะของข้าราชการ

 

สหรัฐอเมริกา

– ปฏิบัติตามนโยบายของฝ่ายการเมือง แต่ได้รับการยอมรับให้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย

– เน้นการแสดงออก (Show off) การแสดงตัวถึงผลงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นความรับผิดชอบจึงตกอยู่กับตัวข้าราชการคนนั้น ๆ

– ข้าราชการมีลักษณะเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น (Innovator) ที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการทํางาน

– ไม่มีหลักประกันฐานะของข้าราชการชัดเจน

 

4 ลักษณะของกิจกรรม กล่าวคือ กิจกรรมที่ข้าราชการอังกฤษทําทุกอย่างจะต้องถือเป็นความลับตามหลัก “Anonymity” ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐอเมริกาสามารถเปิดเผยให้ประชาชนรู้ได้ว่าภาครัฐกําลัง ทําอะไรอยู่บ้าง และประชาชนสามารถตรวจสอบการทํางานของข้าราชการได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องความมั่นคง และความลับส่วนตัว

5 การยอมรับจากสังคม กล่าวคือ ข้าราชการอังกฤษได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติ เนื่องจาก ข้าราชการอังกฤษมีฐานะเป็น “ผู้รับใช้พระมหากษัตริย์” (Crown Servants) ส่วนข้าราชการสหรัฐอเมริกามีฐานะ เป็น “ผู้รับใช้ประชาชน” (Public Servants)

6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของข้าราชการอังกฤษมีลักษณะ เป็นทางการ (Formal Relationship) และยึดสายการบังคับบัญชา (Chain of Command) ตายตัว โดยระบบ ราชการบริหารรักษาสมรรถภาพและอํานาจของตนไว้ ยึดถือการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งผูกมัด ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ในขอบเขตจํากัดเพื่อความสามัคคีในกรมกอง นอกจากนี้ข้าราชการอังกฤษ

ยังเกิดความมั่นใจในการทํางานเพราะข้าราชการไม่ต้องแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปกครองแบบรัฐสภา – ทําให้เกิดความเห็นพ้องกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนความสัมพันธ์ของข้าราชการสหรัฐอเมริกา มีลักษณะไม่เป็นทางการ (Informal Relationship) ไม่ยึดติดกับสายการบังคับบัญชา และเนื่องจากสหรัฐอเมริกา ปกครองแบบประธานาธิบดีจึงมักมีความเห็นขัดแย้งกันง่ายกว่า เพราะมีการแข่งขันระหว่างกันสูง มีอํานาจไม่จํากัด ในระบบ มีความก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง และพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่หน่วยงานต้องการ ไม่คํานึงถึง ความสัมพันธ์ของบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ

7 การจําแนกประเภทข้าราชการ กล่าวคือ ประเทศอังกฤษจําแนกประเภทข้าราชการ ตามชั้นยศ (Rank Classification) ส่วนสหรัฐอเมริกาจําแนกประเภทข้าราชการตามชนิดของงานในตําแหน่ง หน้าที่ (Position or Duty Classification)

 

ข้อ 4 จงอธิบายถึงลักษณะของบทบาทและสถานภาพของข้าราชการในประเทศอินเดียและไทยมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

การบริหารรัฐกิจในประเทศอินเดีย

การบริหารรัฐกิจในประเทศอินเดียมีรูปแบบการบริหารแบบระบบกึ่งแข่งขันของพรรคการเมือง ที่มีอํานาจเหนือเด่น (Dominate Party Semicompetitive Systems) ซึ่งเป็นการบริหารที่มีพรรคการเมืองหนึ่งพรรค มีอํานาจเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ซึ่งความเด่นชัดดังกล่าวส่งผลให้นโยบายของพรรคการเมืองนั้นได้รับการยอมรับ มาปฏิบัติ แต่หากพรรคการเมืองพรรคอื่น ๆ ขึ้นมามีอํานาจและบทบาทหน้าที่ก็จะส่งผลให้นโยบายที่มุ่งเน้นนั้น เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการบริหารก็แตกต่างกันออกไปด้วย

บทบาทและสถานภาพของข้าราชการในประเทศอินเดีย

ข้าราชการอินเดียมีบทบาทและสถานภาพเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยข้าราชการถูกกําหนด ให้เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กําหนด ส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและฝ่ายการเมือง ถือว่ามีความราบรื่นดี เพราะข้าราชการระดับสูงมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนักการเมือง จึงทําให้ข้าราชการมี บทบาทต่อการบริหารรัฐกิจค่อนข้างมากและมีอิทธิพลจนยากต่อการควบคุม แต่อย่างไรก็ตามข้าราชการอินเดีย ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้นําฝ่ายการเมืองของพรรคคองเกรส

การบริหารรัฐกิจในประเทศไทย

การบริหารรัฐกิจในประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารแบบระบบกลุ่มผู้นําทางราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร (Bureaucratic Elite Systems Civil and Military) ซึ่งเป็นการบริหารที่อํานาจ ทางการเมืองและการบริหารราชการมักตกอยู่ในมือของข้าราชการทั้งในส่วนของข้าราชการทหารและพลเรือน ซึ่งเฟรด ดับบลิว. ริกส์ (Fred w. Riggs) เรียกรูปแบบการบริหารแบบนี้ว่า “รัฐราชการ” (Bureaucratic Polity)

บทบาทและสถานภาพของข้าราชการในประเทศไทย

ข้าราชการไทยมีบทบาทและสถานภาพเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยอาชีพรับราชการเป็นอาชีพ ที่ได้การยอมรับว่ามีเกียรติสูง มีความมั่นคง แต่มีค่าตอบแทนยังไม่เพียงพอกับการครองชีพ ในขณะที่สวัสดิการ ต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก และการลงโทษทางวินัยมีค่อนข้างน้อยมาก

นอกจากนี้ ซิฟฟิน (Siffin) ยังมองว่า สถานภาพของข้าราชการไทยเป็นการพิจารณาตามชั้นยศ ผู้มีอํานาจทางชั้นยศที่ต่ำกว่ามักจะเป็นผู้ที่ต้องคอยปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ที่มีตําแหน่งยศสูงกว่า โดยต้องรับฟังคําสั่ง ทั้งในส่วนของเนื้องาน และนอกเหนือเนื้องาน

สรุป ข้าราชการอินเดียและข้าราชการไทยมีบทบาทและสถานภาพเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ข้าราชการอินเดียจะต้องอยู่ภายใต้อํานาจและอิทธิพลของฝ่ายการเมือง (พรรคการเมือง) โดยข้าราชการอินเดียถูกกําหนดให้เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กําหนดเท่านั้น ส่วนข้าราชการไทย มีอํานาจและอิทธิพลทั้งในด้านการเมืองและการบริหารราชการ

 

ข้อ 5 จงอธิบายถึงหลักการบริหารงานตามแนวคิดการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

หลักการบริหารงานตามแนวคิดการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มี 6 ประการ คือ

1 หลักการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Public Participation) คือ การให้ประชาชน ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการบริหารอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้เสรีภาพ แก่สื่อมวลชนและสาธารณชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

2 หลักความสุจริตและโปร่งใส (Honesty and Transparency) คือ การกําหนด ระบบกติกาและการดําเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับ ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

3 หลักพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) คือ การมีความรับผิดชอบ ในบทบาทภาระหน้าที่ที่มีต่อสาธารณชน โดยมีการจัดองค์กรหรือการกําหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดําเนินงานเพื่อ ตอบสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอย่างเป็นธรรม

4 หลักกลไกการเมืองที่ชอบธรรม (Political Legitimacy) คือ ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรือ ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารประเทศต้องชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมส่วนรวม ทั้งในเรื่องความสุจริต ความเที่ยงธรรม และความสามารถในการบริหารประเทศ

5 หลักกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและชัดเจน (Fair Legal Framework and Predictability) คือ การกําหนดกรอบในการปฏิบัติหรือกฎหมายที่เป็นธรรมและยุติธรรมสําหรับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งกฎเกณฑ์ จะต้องเป็นที่เข้าใจตรงกัน มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ สามารถคาดหวังผลและรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

6 หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) คือ ประสิทธิภาพ ในการดําเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทํางาน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคลากร และมีการใช้ ทรัพยากรสาธารณะต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีการดําเนินการและให้บริการสาธารณะที่ให้ผลลัพธ์เป็นที่ น่าพอใจและกระตุ้นการพัฒนาของสังคมทุกด้าน

Advertisement