การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยมีทั้งหมด 2 ข้อ ๆ ละ 50 คะแนน

ข้อ 1 ให้อธิบายความแตกต่างของแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจดังต่อไปนี้โดยสังเขป (50 คะแนน)

1.1 รัฐอิสลามกับลัทธิบูชิโด

แนวคําตอบ

รัฐอิสลาม เป็นรัฐในอุดมคติ ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดําเนินงานด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอิสลาม ใช้รูปแบบการปกครองของอิสลาม และสร้างวิถีชีวิตของคนในรัฐ ให้ศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระอัลเลาะห์ ซึ่งรัฐที่พอจะอนุโลมได้ว่าเป็นรัฐอิสลาม คือ รัฐภายใต้การปกครอง สมัยพระนบีมุฮัมหมัดและคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ได้แก่ อาบูบัคร์ อุมาร์ อุธมาน และอาลี

ลัทธิบูชิโด เป็นลัทธิชาตินิยมอย่างแรงกล้าของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหลักจรรยาของชนชาติทหาร และเป็นหลักจริยธรรมของนักรบ โดยจะมีหน้าที่สําคัญดังนี้

1 ให้จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ

2 ทหารทุกคนต้องยอมตายแทนพระจักรพรรดิ

3 ทหารต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น

4 ชายญี่ปุ่นทุกคนต้องเป็นทหาร

5 ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือเป็นลูกพระอาทิตย์

6 ประชาชนต้องเชื่อฟังทหาร ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ภักดีต่อพระจักรพรรดิ ใครทําร้ายทหารเท่ากับทําร้ายพระจักรพรรดิ

ในปี พ.ศ. 2447 – 2448 ปรากฏว่าทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิสามารถทําสงครามชนะ ประเทศรัสเซียได้ ทําให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอํานาจ และเกิดความรู้สึกว่าญี่ปุ่นก็สามารถเป็นมหาอํานาจ ทางตะวันออกได้เช่นเดียวกับมหาอํานาจทางตะวันตก ทําให้ชาวญี่ปุ่นต้องการเป็นมหาอํานาจแห่งเอเชียบูรพา ซึ่งความรักชาติได้กลายเป็นความหลงชาติ และทําให้บูชิโดกลายเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์

1.2 ลัทธิไต้ทั้งกับรัฐเซียวคัง

แนวคําตอบ

ลัทธิใต้ท้ง เป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นอุดมคติทางการเมืองในรูปสากลนิยม ซึ่งเป็นเหมือนรัฐในอุดมคติ ไม่มีการแบ่งชาติชั้นวรรณะ ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก มีชาติเพียงชาติเดียวคือมนุษยชาติ ประชาชนทุกคนมีงานทํา มีความเสมอภาคด้านความเป็นอยู่ เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการคัดเลือกประชาชนที่เป็นคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองโดยพรรคหรือคณะใด ๆ รัฐบาลที่เลือกมานี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลโลก ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะทําให้เกิด “มหาสันติสุข” (ไท้เพ้ง)

รัฐเซียวคัง เป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าถ้ายังไม่สามารถสร้าง รัฐบาลโลกได้ ก็ให้มีรัฐบาลของแต่ละชาติ แต่ละประเทศ แต่ละรัฐไปพลาง ๆ ก่อน จุดสําคัญก็คือกษัตริย์หรือ เจ้าผู้ครองนครต้องทําหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง และปกครองแบบพ่อปกครองลูก รัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้ ซึ่งสันติสุขที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ในวงแคบเฉพาะชาติ เฉพาะรัฐ เรียกว่า “จุลสันติสุข” (เซ็งเพ้ง)

1.3 การปกครองแบบป้าเจ่งกับยินเจ่ง

แนวคําตอบ

เม่งจื้อ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1 การปกครองแบบเดชานุภาพ (ป้าเจ่ง) คือ การใช้อิทธิพลทางทหารและกําลังในการปกครอง ซึ่งการปกครองแบบนี้จะทําให้เกิดการเสียเลือดเนื้ออันเนื่องมาจากการรบพุ่งแย่งชิงอํานาจ

2 การปกครองแบบธรรมานุภาพ (ยินเจ่ง) คือ การใช้คุณธรรมและความเมตตากรุณา ในการปกครอง เพราะสามารถทําให้บรรลุความสําเร็จได้ดีกว่า แม้จะมีเขตแดนเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครองที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดีเท่านั้น จึงจะได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชน พร้อม ที่จะต่อสู้เพื่อผู้ปกครองของตนในสงครามได้

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และ ข.

ก ระบบวรรณะมีผลกระทบต่อการเมืองการปกครองในประเทศอินเดียอย่างไร จงอธิบายให้ชัดเจน

แนวคําตอบ

ผลกระทบของระบบวรรณะที่มีต่อการเมืองการปกครองของประเทศอินเดีย

ระบบวรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของคนอินเดีย ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งทําให้สามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน โดยศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูได้แบ่งสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่

1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็น หลักการสูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู (Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้ การศึกษาแก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น

2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความมั่นคง ของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน

3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย การประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย

4 ศูทร (ชนชั้นกรรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ

การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นี้ถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง

ระบบวรรณะดังกล่าวนั้นทําให้สังคมอินเดียเกิดความเกลียดชังระหว่างวรรณะ และยังส่งผล ให้มีลักษณะเป็นสังคมปิด คือ เมื่อเกิดวรรณะใดวรรณะหนึ่งแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายวรรณะได้

ระบบวรรณะในอินเดีย จึงเป็นสถาบันที่มีโครงสร้างและกลไกการทํางานเป็นระเบียบชัดเจน และ มีความละเอียดซับซ้อนเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะเป็นทั้งจารีตและเป็นเสมือนกฎหมาย เนื่องจากเป็นบรรทัดฐานที่ กําหนดให้คนในสังคมทําตามต่อกันมาอย่างเข้มงวดและรุนแรง ในแง่ที่ว่ามีการกําหนดบทลงโทษไว้ และมี สถาบันกลางที่ใช้อํานาจบังคับให้เป็นไปตามกฏที่กําหนดไว้ ดังนั้นระบบชนชั้นวรรณะจึงถูกฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรม ของชาวอินเดียมาอย่างช้านาน ทั้งในด้านสังคมและการเมือง แม้จะมีกฎหมายออกมาห้ามการเลือกปฏิบัติก็ตาม แต่ ด้วยความเชื่อที่ฝังลึกในเรื่องวรรณะนี้จึงไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แม้กฎหมายเปลี่ยนไป แต่อคติต่อคนต่าง วรรณะนั้นฝังรากลึก โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อคนวรรณะศูทรและวรรณะจัณฑาล ก็ไม่สามารถทําให้หมดไปได้

ความเชื่อในเรื่องระบบวรรณะนี้ยังสร้างให้เกิดความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย โดยพบว่าประชากรอินเดียไม่เกินร้อยละ 10 อยู่ใน 3 วรรณะแรก คือ วรรณะ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ จะมีอํานาจในสังคมและได้ทํางานราชการมากกว่าร้อยละ 50

นอกจากนี้ยังมีวรรณะย่อยอีกประมาณ 3,000 วรรณะ เรียกว่า “โณติ” (Jotis) ซึ่งทําให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดู ความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายนี้เองเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิด ปัญหาทางการเมืองในประเทศอินเดีย และส่งผลต่อแนวคิดของนักการเมืองอินเดียที่สําคัญหลายคน เช่น มหาตมะ คานธี (Mahatma Grandhi) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการใช้หลักอหิงสาและสัจจะในการปกครองหรือการต่อสู้ ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เป็นต้น

ข ในศาสนาพุทธมีคําสอนหลายหมวดที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปกครอง ให้นักศึกษายกตัวอย่างคุณธรรมและจริยธรรมดังกล่าวมา 4 หมวด พร้อมทั้งอธิบายความหมาย ให้ชัดเจน

แนวคําตอบ

คุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปกครองในทัศนะของพุทธศาสนา ได้แก่

1 พรหมวิหาร 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักธรรมประจําใจของผู้เป็นใหญ่ ประกอบด้วย

1) เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

2) กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3) มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ริษยา

4) อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยความรักและความชัง

2 สังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ ประกอบด้วย

1) ทาน หมายถึง การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

2) ปิยวาจา หมายถึง การมีวาจาสุภาพไพเราะ ซาบซึ้ง จริงใจ

3) อัตถจริยา หมายถึง การบําเพ็ญประโยชน์หรือทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4) สมานัตตตา หมายถึง การทําตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือการวางตนให้เหมาะสม

3 ราชสังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ครองแผ่นดินประกอบด้วย

1) สัสสาเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาพืชพันธุ์ธัญญาหาร และส่งเสริมการเกษตร

2) ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดี และมีความสามารถ

3) สัมมาปาสะ หมายถึง ความรู้จักผูกน้ำใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ

4) วาชเปยะ (วาจาเปยะ) หมายถึง ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย วาจาไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ในทางสามัคคี ทําให้เกิดความเข้าใจอันดี และเกิดความนิยมเชื่อถือ

4 อคติ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับความลําเอียง 4 ประการ ซึ่งมีผลกับการปกครองและผู้ปกครองไม่ควรประพฤติเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

1) ฉันทาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชอบหรือความรักใคร่

2) โทสาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะขังหรือความโกรธเกลียด

3) โมหาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะหลงหรือความโง่เขลา

4) ภยาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ เกรงอิทธิพล

 

Advertisement