การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 หลักการปกครองประเทศมีกี่หลักการ อะไรบ้าง มีลักษณะอย่างไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่าง จุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละหลักการมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 27 – 30)

โดยทั่วไปหลักการปกครองประเทศนิยมแบ่งเป็น 3 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization)

1 หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หมายถึง หลักการจัดวางระเบียบ บริหารราชการแผ่นดินโดยรวมอํานาจในการปกครองไว้ให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองต่าง ๆ ของรัฐ และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยให้ขึ้นต่อกัน ตามลําดับขั้นการบังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ดําเนินการปกครองตลอดทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ

ลักษณะสําคัญของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) มีการรวมกําลังทหารและกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที

2) มีการรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง

3) มีการลําดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป (Hierarchy)

จุดแข็งของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) การที่รัฐบาลมีอํานาจแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาเขต ทําให้นโยบาย แผน หรือคําสั่งเกิดผลได้ทั่วประเทศอย่างทันที

2) ให้บริการและประโยชน์แก่ประชาชนโดยเสมอหน้าทั่วประเทศ ไม่ได้ทําเพื่อ ท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ

3) ทําให้เกิดการประหยัด เพราะสามารถหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดหาประจําทุกจุด

4) มีความเป็นเอกภาพในการปกครองและการบริหารงาน การปกครองในท้องถิ่น เป็นไปแนวเดียวกัน

5) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทําให้บริการสาธารณะดําเนินการไปโดยสม่ําเสมอ และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน

จุดอ่อนของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) ไม่สามารถดําเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วทุกท้องที่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึง

2) ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

3) การปฏิบัติงานมีความล่าช้า เพราะมีแบบแผนและขั้นตอนมากมายตามลําดับขั้นการบังคับบัญชา

4) ไม่อาจตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะความหลากหลายของความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น

2 หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง หลักการที่การบริหารราชการ ส่วนกลางได้จัดแบ่งอํานาจวินิจฉัยและสั่งการบางส่วนไปให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค โดยให้มีอํานาจในการใช้ ดุลยพินิจ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนริเริ่มได้ ในกรอบแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้

ลักษณะสําคัญของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากส่วนกลางไปประจําตามเขตการปกครองในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง ได้แก่ ภาค มณฑล จังหวัด อําเภอ กิ่งอําเภอ ตําบล และหมู่บ้าน เป็นต้น และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อยู่ในระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐบาลกลางอันเดียวกัน

2) เป็นการบริหารโดยใช้งบประมาณซึ่งส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติและควบคุมให้

เป็นไปตามวิธีการงบประมาณแผ่นดิน

3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

จุดแข็งของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่จะนําพาไปสู่การกระจายอํานาจการปกครอง

2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นในการมาติดต่อในเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการ เพราะไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาวินิจฉัยสั่งการ

3) เป็นจุดเชื่อมระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทําให้การติดต่อประสานงานระหว่างทั้ง 2 ส่วนดีขึ้น

4) มีประโยชน์ต่อประเทศที่ประชาชนยังไม่รู้จักการปกครองตนเอง

จุดอ่อนของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปบริหารงานในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เชื่อในความสามารถของท้องถิ่น

2) เกิดความล่าช้าในการบริหารงาน เพราะต้องผ่านระเบียบแบบแผนถึง 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาค

3) ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ

4) ทําให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าบางอย่างในท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ เช่น บุคลากร เจ้าหน้าที่ เพราะถูกส่งมาจากที่อื่น

5) บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่อาจจะเนื่องมาจากไม่ใช่คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจพื้นที่ และอาจเกิดความขัดแย้ง กับคนในพื้นที่

3 หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบ อํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทํา บริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่อง ที่ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

ลักษณะสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย ให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นเหล่านี้มีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และ ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปกฎหมายเท่านั้น

2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3) มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4) มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดแข็งของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2) เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยเพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขี่คู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3) ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือน การบริหารราชการส่วนกลาง

 

ข้อ 2 จงอธิบายความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์มาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 100, 104 – 106), (คําบรรยาย)

ความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น หมายถึง บุคคลที่มีคนในท้องถิ่นนับถือไว้วางใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากส่วนกลาง แต่งตั้งไปประจํายังส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล กรรมการหมู่บ้าน ครู พัฒนากร เป็นต้น

2 ผู้นําท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่มีบารมี มีอิทธิพล หรือมีความรู้ความชํานาญ เป็นพิเศษเกี่ยวกับอาชีพหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการในการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านและตําบลของตน เช่น ผู้นํากลุ่มอาชีพ ผู้นํากลุ่มสตรี ผู้นํา กลุ่มสันทนาการ ผู้นํากลุ่มเยาวชน ผู้นําทางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมือง

พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน รวมถึงมีอุดมการณ์ และแนวปฏิบัติที่ตกลงกันแน่นอน โดยพรรคการเมืองต้องมีลักษณะสําคัญดังนี้

1 อุดมการณ์หรือหลักการ คือ คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือหลักการปกครองร่วมกันเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งพรรคการเมือง

2 การจัดตั้งเป็นองค์กร คือ มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานมีพนักงานประจํา มีระเบียบข้อบังคับ ในการดําเนินงาน มีการแบ่งงานกันทํา และมีผู้รับผิดชอบงานชัดเจน

3 ความเชื่อมโยงกับประชาชน คือ พรรคการเมืองต้องทําหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล เช่น สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน การดําเนินการต่าง ๆ หรือผลักดัน ให้รัฐบาลนําความคิดเห็นนั้นไปปฏิบัติ

วิสุทธิ์ โพธิแท่น กล่าวว่า พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวกัน รวมกันจัดตั้งเป็นรากฐานที่มีการจัดองค์กรที่แน่นอนชัดเจน มีการกําหนดทางเลือกเกี่ยวกับนโยบาย ที่สําคัญในการปกครองและบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ มีการคัดเลือกคนเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง พยายาม เข้าไปมีส่วนร่วมในอํานาจรัฐจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ โดยพรรคการเมืองมีองค์ประกอบที่จําเป็น เช่น คน สถานที่ และอุปกรณ์ โครงสร้างของพรรคการเมืองและระเบียบข้อบังคับ

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้ที่มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อให้สามารถ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มตนหรือเพื่อผลประโยชน์ ของส่วนรวมก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1 กลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มผลประโยชน์ด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยจะมีบทบาททางการเมืองสูง และมีอํานาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาก เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มหอการค้าจังหวัด เป็นต้น

2 กลุ่มทางเกษตรกรรม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้เป็นเจ้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจํานวนมาก และมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล เช่น สหพันธ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

3 กลุ่มทางสังคม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ปฏิบัติงานทางด้านสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ของกลุ่มและเพื่อสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เช่น สมาคม ภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

4 กลุ่มโลกทัศน์ คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อมหาชนให้คล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาล กระทําตาม เช่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ และองค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 43 – 47)

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการปกครองท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือ คํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือ สํานวนและรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจ หรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตาก (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางหรือ ภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้กลายเป็น รัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ

2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อุทัย หิรัญโต (2523 : 22) อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ

1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็ง กว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น

2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน

3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ

4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ

5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงานทางราชการ

7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับดูแลจากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของหน่วย การปกครองท้องถิ่นนั้น

 

ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคือหลักการในเรื่องอะไร สามารถนํามาแก้ไขปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่อย่างไร

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 55287 หน้า 90, 93), (คําบรรยาย)

หลักธรรมาภิบาลหรือหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Governance) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลตามหลักการดังกล่าวสามารถนํามาแก้ไขปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นได้ดังนี้

1 ช่วยขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ และการหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใส่ตนของนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความสํานึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกันกับคนในท้องถิ่น

2 ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และวิธีการทํางานของนักการเมืองท้องถิ่นให้ถือเอา ประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดมุ่งหมายในการทํางาน และสามารถร่วมทํางานกับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น

3 ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความตื่นตัวและรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจน มีความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นการสร้างจิตสํานึกให้ประชาชนได้เห็นความสําคัญของการเข้าร่วม กิจกรรมทางการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและท้องถิ่น

4 ช่วยให้นักการเมืองท้องถิ่นยึดถือหลักคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่ สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นพัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน

5 ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นอยู่เสมอในท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ จึงส่งผล ทําให้เกิดความคึกคัก และทําให้การเมืองท้องถิ่นมีชีวิตชีวา เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

6 ช่วยยกระดับความเป็นผู้นําและขีดความสามารถของผู้บริหารท้องถิ่นในการตอบสนอง ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

Advertisement