การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของกฎหมายธรรมชาติและศีลธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ตามความคิดของ Fuller
ธงคำตอบ
กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ
1 ความหมายทั่วๆไป กฎหมายธรรมชาติ หมายถึง
– กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้น เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จำกัดกาลเทศะ
– กฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่างๆ ในอุดมคติซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น ซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล
– กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมการณ์)
2 ความหมายในทางทฤษฎี แบ่งเป็น 2 ทฤษฎี คือ
ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและยุคโรมันไปจนถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ) ถือว่า “กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่ค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น” กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติจะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย
ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่า “ หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น” กล่าวคือ รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ แต่ถ้าตราขึ้นหรือขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง
กฎหมายธรรมชาติ และศีลธรรมตามความคิดของฟุลเลอร์ (Fuller) มีความสัมพันธ์กัน ดังต่อไปนี้
ลอน ฟุลเลอร์ (Fuller) นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่เชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม แต่เขาก็ปฏิเสธหลักกฎหมายธรรมชาติในแง่ความเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา รวมทั้งยืนกรานปฏิเสธทฤษฎีความเป็นนิรันดร์ของกฎหมายธรรมชาติ
ฟุลเลอร์ให้แนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมและกฎหมายว่า กฎหมายต้องออยู่ภายใต้บังคับของศีลธรรมหรือต้องบรรจุด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมภายใน หรือที่ฟุลเลอร์เรียกว่า “ศีลธรรมในกฎหมาย” ดังเงื่อนไขสำคัญ 8 ประการ ที่ฟุลเลอร์ถือเสมือนว่าเป็นการมีศีลธรรมภายในกฎหมาย หรือเป็น “กฎหมายธรรมชาติในเชิงกระบวนการ” ได้แก่
1 กฎหมายจะต้องมีลักษณะทั่วไปในฐานะเป็นกฎเกณฑ์
2 กฎเกณฑ์จะต้องถูกตีพิมพ์เผยแพร่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ
3 กฎเกณฑ์จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง
4 กฎเกณฑ์ต้องชัดแจ้งและสามารถเข้าใจได้
5 กฎเกณฑ์จะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน
6 กฎเกณฑ์จะต้องไม่กำหนดบังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
7 กฎเกณฑ์จะต้องมีความมั่นคง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป
8 จะต้องมีความกลมกลืนกันระหว่างกฎเกณฑ์ที่ถูกประกาศใช้กับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ