การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงสรุปสาระสำคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย และท่านเห็นด้วยหรือไม่กับจุดอ่อนของปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามที่มีผู้วิจารณ์
ธงคำตอบ
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย (หรือยุคปัจจุบัน) มีแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายว่า กฎหมายต้องสัมพันธ์กับศีลธรรม หรือกับความยุติธรรม หรือหลักจริยธรรมต่างๆ อีกทั้งในแง่ทฤษฎีปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้ ยังเป็นทฤษฎีที่สำคัญที่สนับสนุนเร่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ ฯลฯ โดยมีนักปรัชญากฎหมายคนสำคัญ ได้แก่
ลอน ฟุลเลอร์ มองกฎหมายธรรมชาติว่า ไม่ใช่กฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา โดยเขาให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายกับศีลธรรม เขาเชื่อว่ากฎหมายต้องอยู่ภายใต้บังคับของศีลธรรม หลักเกณฑ์ทางศีลธรรมจะทำให้กฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และนำไปสู่ความสมบูรณ์ของกฎหมาย ซึ่งการที่จะบรรลุได้ต้องมีการปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ประการ เช่น กฎหมายต้องมีลักษณะทั่วไปในฐานะเป็นกฎหมายซึ่งใช้เป็นหลักชี้นำการกระทำโดยเฉพาะต่างๆ กฎเกณฑ์ต้องถูกเผยแพร่แก่สาธารณะ กฎเกณฑ์ต้องไม่มีผลย้อนหลัง ฯลฯ เหล่านี้ฟุลเลอร์เรียกว่า “ศีลธรรมในกฎหมาย”
แนวคิดของฟุลเลอร์ที่เน้น “กระบวนการ” อันจะนำไปสู่ความเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์แท้จริงมิได้เน้นสาระเนื้อหาของกฎหมายธรรมชาติที่เป็นนิรันดร์ถาวร แต่ฟุลเลอร์ก็มั่นใจว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆที่ตราขึ้นจะต้องมีเหตุผล และความยุติธรรมเป็นเนื้อหาสาระเสมอ
จอห์น ฟินนีส ได้อธิบายกฎหมายธรรมชาติในลักษณะเป็นนามธรรมเชิงวิธีการ โดยอาศัยสมมุติฐาน 2 ประการ คือ
– ประการแรก “รูปแบบพื้นฐานแห่งความมั่งคั่งรุ่งเรืองของมนุษย์” ได้แก่ ชีวิต ความรู้ ความบันเทิง หรือสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับสุนทรีวิสัย
– ประการที่สอง “สิ่งจำเป็นเชิงวิธีการพื้นฐานครองความชอบธรรมด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติ” เช่น การแสวงหาความดีงาม แผนการชีวิตอันเป็นระบบ หรือความเชื่อมต่อของผลลัพธ์ อย่างมีขอบเขต และเคารพต่อค่านิยมพื้นฐาน เป็นต้น
ฟินนีส เชื่อว่า เมื่อสมมุติฐานประการแรก และประการที่สองประกอบกันจะเกิดเป็นหลักกฎหมายธรรมชาติขึ้นมา
ส่วนในกรณีของจุดอ่อนของปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่มีผู้วิจารณ์ไว้ว่า
1 มีความคลุมเครือไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และมีความเป็นนามธรรมอย่างมากจนไม่น่านำมาถือเป็นรากฐานทางกฎหมาย
2 ขาดรูปแบบวิธีกาคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ตรวจสอบความถูกต้องได้โดยอาศัยเครื่องมือใด
3 มักจะเกิดความผิดพลาดเชิงตรรกะได้ง่าย
4 มีความบกพร่องต่อสมมุติฐานที่มาจากความหลากหลายของสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติแต่ละแห่งแตกต่างกัน
5 การเสนอความคิดเห็นมักจะนิยมใช้สามัญสำนึก ซึ่งอาจเอนเอียงไปตามเหตุผลส่วนตัวได้
หากจะพิจารณาโดยรวมแล้วข้อวิจารณ์ดังกล่าวมีความจริงอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นถ้าเปรียบเทียบกับสำนักคิดปรัชญากฎหมายอื่นๆแล้ว ดูเหมือนว่ากฎหมายธรรมชาติจะมีข้อดีที่มากกว่าข้อเสียดังข้อวิจารณ์ดังกล่าวนั้นมากทีเดียว เพราะเป็นสำนักปรัชญาทางกฎหมายที่มุ่งเน้นความยุติธรรมที่ต้องมาก่อนกฎหมาย อุดมคติทางกฎหมายเชิงศีลธรรม ตลอดจนเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับลัทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแนวคิดนี้เองได้ไปปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฯ และรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก้มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หมายเหตุ น้องๆอาจมีความคิดเห็นแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ โดยอาศัยแนวความคิดหรือเหตุผลของน้องๆเองครับ