การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงสรุปอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ในความเข้าใจของนักศึกษาปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยอมรับความสำคัญของเรื่องวิบากกรรม – บุญกรรมหรือไม่อย่างไร จงอธิบายโดยยกตัวอย่างในกฎหมายตราสามดวงประกอบ
ธงคำตอบ
หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้ เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ
2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม
3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร
4 การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม
ในส่วนของความเกี่ยวพันกันระหว่างปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม กับเรื่องของวิบากกรรม – บุญกรรมนั้น จะเห็นได้ว่าในอดีตประชาชนไทยมีความเชื่อมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในเรื่องกรรมเก่า วิบากกรรมต่างอันมีมาแต่ชาติปางก่อน การอ้างอิงหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องบุญกรรมดูเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับเคราะห์
ในกฎหมายตราสามดวงก็มีการบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้หลายบทมาตรา เช่น ในพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ กำหนดให้ “ผ๔ถากไม้ใกล้หนทางและขวานหลุดมือไปถูกผู้เข้ามาใกล้จนเสียชีวิต ผู้นั้นไม่มีความผิดโดยถือเป็นบาปกรรมของผู้ตายเอง กฎหมายกำหนดเพียงให้ผู้ถากไม้นั้นช่วยทำบุญส่งไปให้ผู้ตาย” ซึ่งเห็นได้ว่า เคราะห์ร้ายอันเกิดขึ้นโดยมิคาดฝันย่อมถูกปรับความหมายให้เป็นเสมือน “วิบากกรรม” แห่งตนในอดีตชาติได้โดยไม่ขัดเขิน ส่วนตัวผู้ก่อเคราะห์ร้ายกฎหมายกำหนดหน้าที่เพียงทำบุญหรืออุทิศผลบุญกุศลให้แก่ผู้ตายซึ่งยังติดอยู่ในบ่วงแห่งวิบากกรรมของตนอยู่
นอกจากนี้ยังมีอีกในบทมาตราอื่นๆ เช่น ในมาตรา 117 กรณีคนสองคนชกมวกกันด้วยใจสมัครหากเกิดเหตุถึงแก่ความตาย ผู้จัดการชกมวยย่อมไม่มีโทษ เหตุเพราะผู้จัดการชกมวยมิได้มีเจตนาจะให้ถึงชีวิตถือเป็นบาปกรรมของผู้เสียชีวิตนั้นเอง หรือในมาตรา 127 ก็กำหนดให้เจ้าของควายจ่ายค่าควายแทนผู้ที่ช่วยตีควายของผู้อื่นที่มาชนควายของตนจนบาดเจ็บล้มตายเนื่องจากผู้ช่วยตีควายอาสาที่จะเป็นบาปเป็นกรรมแทนเจ้าของควายนั้นเอง
กฎแห่งกรรมในแง่บาป – บุญจึงเป็นรากฐานของบทกฎหมายโบราณหลายๆมาตรา