การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสุรพลเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 จากนางบุญมารดาผู้มีสัญชาติไทย ส่วนบิดาเป็นวิศวกรการเกษตรสัญชาติอิสราเอลในโครงการการเกษตรระหว่างประเทศไทยกับอิสราเอลเป็นเวลา 2 ปี แล้วเดินทางกลับไป ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นายสุรพลได้ สัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ แล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสุรพลจะได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่นายสุรพลเกิดที่จังหวัด บุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่ทําให้นายสุรพลได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ทั้งนี้เพราะนายสุรพลได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่ เกิดบิดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 ประกอบกับข้อ 1(2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ย่อมมีผลทําให้นายสุรพลกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กําหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้

สัญชาติไทยโดยการเกิด และตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ยังได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น นายสุรพลจึงได้รับ สัญชาติไทย เพราะเกิดจากนางบุญมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยถือว่านายสุรพลได้รับสัญชาติไทยย้อนหลัง ไปตั้งแต่นายสุรพลเกิด

สรุป

นายสุรพลจะได้รับสัญชาติไทย

 

ข้อ 2 นายสิทธิชัยคนสัญชาติไทยได้ทําสัญญาซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจํานวน 10 เครื่องจากนายปีเตอร์คนสัญชาติอังกฤษที่มีภูมิลําเนาตามกฎหมายอยู่กรุงเทพฯ โดยทําสัญญาฉบับนี้ที่สิงคโปร์ และขณะทําสัญญาเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่สิงคโปร์ นายสิทธิชัยและนายปีเตอร์ไม่ได้แสดงเจตนาไว้ โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้ เมื่อซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าสวิตช์ตัวควบคุมของเครื่องถ่ายเอกสารทั้ง 10 เครื่องนี้อยู่ในสภาพชํารุด ใช้การไม่ได้ นายสิทธิชัยจึงขอเปลี่ยน แต่นายปีเตอร์ไม่ยอมเปลี่ยนให้โดยโต้แย้งว่าตนในฐานะ ผู้ขายไม่จําต้องรับผิดในกรณีการชํารุดที่ว่านี้ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า หากศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ของสัญญาฉบับนี้ไว้พิจารณา ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 13 วรรคแรก “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญหรือ ผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้า คู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มี สัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสําคัญหรือผลของ สัญญานั้น กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคแรก ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น กรณีตามลําดับได้ดังนี้

1 กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้นํากฎหมายของประเทศใด มาใช้บังคับ ก็ให้นํากฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2 กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้ บังคับแก่สัญญา

(ก) ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ

(ข) ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้น ได้ทําขึ้นมาใช้บังคับ

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่า นายปีเตอร์ (ผู้ขาย) จะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องในทรัพย์สิน (เครื่องถ่ายเอกสาร) ที่ซื้อขายกันเพียงใด หรือไม่อันเป็นปัญหาในเรื่องผลของสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือ โดยปริยายว่าให้นํากฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายได้ว่าคู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ข้อพิพาทนี้ และเมื่อทั้งนายสิทธิชัยและนายปีเตอร์ คู่สัญญาก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่ กฎหมายประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็น กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาฉบับนี้ได้ทําขึ้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคแรก

ดังนั้น หากได้ความว่าศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ไว้พิจารณา ศาลไทยจึงควรนํากฎหมาย ประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าว

สรุป

ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 3 ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่นั้น ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองบัญญัติหรือกําหนดไว้แต่ประการใด จึงให้ท่านอธิบายว่าการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าวข้างต้นในปัจจุบันนี้ มีแนวปฏิบัติหรือหลักการ ของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการนี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร ให้ท่านอธิบายโดยละเอียดชัดเจนและครบถ้วน

ธงคําตอบ

ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมือง หรือไม่นั้น มีแนวปฏิบัติหรือหลักการของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการนี้ ดังนี้

(1) ในกรณีที่ศาลที่วินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีหลักกฎหมายภายในเกี่ยวกับ ความผิดทางการเมืองบัญญัติไว้โดยตรงก็จะนําหลักกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น หลักกฎหมายของประเทศ ฝรั่งเศสที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองจะต้องเป็นการกระทําที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครอง และรัฐบาลโดยมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลง หรือล้มล้างหลักการปกครองของประเทศในหลักใหญ่ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หรือหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองได้นั้น จะต้องเป็นการ กระทําความผิดในขณะที่ไม่มีความสงบทางการเมือง ระหว่างคณะบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยต่างฝ่ายต่าง พยายามที่จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับระบบการปกครองตามที่ฝ่ายตนต้องการ เป็นต้น

(2) ในกรณีที่ศาลทีวินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีหลักกฎหมายภายในเกี่ยวกับ ความผิดทางการเมืองบัญญัติไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษาของศาลแห่งประเทศนั้นเป็นหลักพิจารณา ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยไม่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษา ศาลอุทธรณ์เป็นหลักพิจารณา เพราะตามหลักกฎหมายไทยในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ถือเป็นที่สุดทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังเช่น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนายพลท้าวมาทิ้งระเบิด ที่นครเวียงจันทน์เพื่อทําการยึดอํานาจในประเทศลาว แต่ไม่สําเร็จ จึงหนีเข้ามาในเมืองไทยโดยขอลี้ภัยทางการเมือง แต่ทางฝ่ายรัฐบาลลาวขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายพลท้าวมาและพรรคพวกกลับไปดําเนินคดี แต่ศาลไทยปฏิเสธ ไม่ยอมส่งตัวให้ โดยถือว่านายพลท้าวมาและพรรคพวกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง เป็นต้น

 

ข้อ 4 บริษัท ลักกี้เทรดดิ้ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศนอร์เวย์ได้มาตั้งสาขาที่ประเทศไทย โดยมีนายโธมัสคนสัญชาตินอร์เวย์เป็นพนักงานประจําสํานักงานที่ประเทศไทย นายโธมัสได้ปลอมแปลง บัญชีของบริษัทฯ เพื่อบริษัทฯ จะได้เสียภาษีน้อยลง ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมาย ประกอบด้วยว่า การกระทําของนายโธมัสถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโธมัสคนสัญชาตินอร์เวย์ซึ่งเป็นพนักงานประจําสํานักงานที่ ประเทศไทยได้ปลอมแปลงบัญชีของบริษัทฯ สาขาที่ประเทศไทยเพื่อบริษัทฯ จะได้เสียภาษีน้อยลงนั้น การกระทํา ของนายโธมัสดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่ง หมายถึงการกระทําความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตําแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตําแหน่งหน้าที่การงาน ของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด

ซึ่งลักษณะของการกระทําความผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอก หรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่าง ๆ รวมตลอดถึงการขโมยหรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือ ปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้า หรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่าง ๆ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น

สรุป

การกระทําของนายโธมัสถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes”

Advertisement