การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ดุษฎีเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากบิดาคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง บิดามารดาไม่ได้เป็น สามีภริยาตามกฎหมาย บิดาเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกับมารดา เมื่อ 20 ธันวาคม 2518 ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดุษฎีได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้สมรส กับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

มาตรา 11 “บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรี มีคําสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ดุษฎีได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ดุษฎีเกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2508 จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย สวนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและเกิดก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักดุษฎีย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 7 (3)

แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ดุษฎีจะถูกถอนสัญชาติไทยตาม ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1. เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดย ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (เพราะในขณะดุษฎีเกิด บิดามารดาไม่ได้เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย) และแม้ว่าต่อมาบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง (ปี พ.ศ. 2518) ทําให้บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทําให้คุษฎีซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยไปแล้วจะได้สัญชาติไทย กลับคืนมาอีก เพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาของนายดุษฎีไม่ใช่คนต่างด้าว อันจะทําให้คุษฎีไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 11 ดังนั้น ดุษฎีจึงกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน

และเมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยบัญญัติให้กรณีที่บิดามารดาได้จดทะเบียน สมรสกันในภายหลังนั้น ผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่เด็กเกิด (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) ตามมาตรา 1547 และมาตรา 1557 ดังนั้นจากผลของ ป.พ.พ. ที่ได้มีการแก้ไขใหม่ ทําให้ดุษฎีกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) เพราะเกิด โดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป

ดุษฎีจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) และ (3)

 

ข้อ 2 นายเจียงเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน แต่เกิดและมีภูมิลําเนาในประเทศเวียดนามตามกฎหมายจีนบุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีน และตามกฎหมายเวียดนามบุคคลย่อมได้สัญชาติเวียดนามหากเกิดในประเทศเวียดนาม กฎหมายจีน ยังกําหนดไว้อีกว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถจะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่ออายุ ครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายเวียดนามต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ นายเจียงมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้ทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์ม จํานวน 10 เครื่องจาก นายเกิดผลคนสัญชาติไทยที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นนายเจียงและนายเกิดผลมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายเจียงมีความสามารถทําสัญญาที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสอง “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลําเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมี ภูมิลําเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาในเวลายืนฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ ในกรณีใด ๆ ที่มีการ ขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้ บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม”

มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อม เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่า นายเจียงมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์มจากนายเกิดผลคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็น เรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วย การขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเจียงมีทั้งสัญชาติจีนและเวียดนามซึ่งได้รับมาในคราว เดียวกัน (ได้รับมาพร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายเจียง มีภูมิลําเนาอยู่ อันได้แก่ กฎหมายเวียดนามตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่ง เมื่อพิจารณาตามกฎหมายเวียดนามแล้ว นายเจียงย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจาก ตามกฎหมายเวียดนามกําหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมใด ๆ ได้เมื่อมีอายุ ครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทํานิติกรรมนายเจียงมีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายเจียงจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่านายเจียงคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตามข้อ 1)

3) แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

 

ดังนั้น การที่นายเจียงได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของนายเจียง (เวียดนาม) ก็ถือว่านายเจียง ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว นายเจียงมีความสามารถทํา นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่านายเจียงบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควร วินิจฉัยว่านายเจียงมีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายเจียงมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม ดังกล่าวได้

 

ข้อ 3 นายโรมาโนคนสัญชาติอิตาลีได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาขึ้นเงินในประเทศไทย การกระทําของนายโรมาโนถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโรมาโนคนสัญชาติอิตาลีได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งในอิตาลี และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาขึ้นเงินที่ประเทศไทยนั้น การกระทําของนายโรมาโนดังกล่าวถือเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึง การกระทําความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัว สะอาดโก้หรู มีตําแหน่งหน้าที่ในการทํางาน เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ และสมุห์บัญชี เป็นต้น

ซึ่งลักษณะของการกระทําความผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอก หรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่าง ๆ รวมตลอดถึงการขโมยหรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือ ปลอมแปลงสัญญาหรือตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้า หรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่าง ๆ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น

สรุป

การกระทําของนายโรมาโนถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes”

 

ข้อ 4 ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ให้ท่านอธิบายตอบคําถามต่อไปนี้

ก ผู้ร้ายข้ามแดน หมายความว่าอย่างไร

ข วัตถุที่ประสงค์ของกฎหมายนี้

ค อุปสรรคของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ธงคําตอบ

ก คําว่า “ผู้ร้ายข้ามแดน” หมายถึง บุคคลผู้กระทําผิดอาญา ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะผู้ต้องหาหรือ จําเลย หรือผู้ซึ่งต้องคําพิพากษาให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้กระทําผิดอาญาในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีข้ามแดน ไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ความผิดได้กระทําลงร้องขอให้ประเทศที่ผู้ร้ายหลบหนีไปอยู่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อนํามาพิจารณาโทษ

ดังนั้น “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” คือการที่ประเทศซึ่งผู้ร้ายไปปรากฏตัวอยู่ได้ส่งมอบตัวผู้ร้ายนั้น ไปยังประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวนั่นเอง

ข วัตถุประสงค์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีอยู่ 3 ประการ คือ

1 เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการกระทําผิดอาญาและอาชญากรรมต่าง ๆ เพื่อความสงบสุขของประชาชนโลกทั้งปวง

2 เพื่อให้เป็นไปตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้กระทําผิดอาญาจะต้องได้รับโทษ

เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

3 เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทําผิดอาศัยการหลบหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้ตนรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

ค อุปสรรคของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีหลายประเภท อาทิเช่น

– กฎหมายขาดสภาพบังคับ

– ประเทศผู้ร้องขอหรือประเทศที่ความผิดได้กระทําลงละเลยไม่พยายามที่จะนําตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ

– ขาดความร่วมมือจากประเทศผู้รับคําขอ ซึ่งนอกจากจะไม่ร่วมมือป้องกันปราบปราม

อาชญากรรมแล้ว บางครั้งยังมีการกระทําที่ปกป้องหรือการสนับสนุนผู้ร้ายอีกด้วย

– ผู้ร้ายกระทําทุกวิถีทางทั้งชอบธรรมและไม่ชอบธรรม เพื่อไม่ต้องรับโทษ ฯลฯ

Advertisement