การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายพิเชษฐ์เกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. 2516 จากนางไพรมารดาผู้มีสัญชาติไทย ส่วนบิดาสัญชาตินอร์เวย์เป็นวิศวกรการประมง ผู้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการประมงระหว่างไทย กับนอร์เวย์เป็นเวลา 2 ปี แล้วก็เดินทางกลับไป ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นายพิเชษฐ์ควรได้สัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายพิเชษฐ์ควรได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่นายพิเชษฐ์เกิดที่ จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่ทําให้นายพิเชษฐ์ได้รับสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ทั้งนี้เพราะนายพิเชษฐ์ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยบิดาเป็น คนต่างด้าว และในขณะที่เกิดบิดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 ประกอบกับข้อ 1(2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ย่อมมีผลทําให้นายพิเชษฐ์กลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กําหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้ สัญชาติไทยโดยการเกิด และตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ยังได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 7(1)มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น นายพิเชษฐ์จึงได้รับ สัญชาติไทย เพราะเกิดจากนางไพรมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยถือว่านายพิเชษฐ์ได้รับสัญชาติไทยย้อนหลังไป ตั้งแต่นายพิเชษฐ์เกิด

สรุป

นายพิเชษฐ์ควรได้รับสัญชาติไทย เพราะเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ประกอบกับมาตรา 10 โดยมีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่นายพิเชษฐ์เกิด

 

ข้อ 2 นายจังเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน แต่เกิดและมีภูมิลําเนาในประเทศเวียดนาม ตามกฎหมายจีนบุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีน และตามกฎหมายเวียดนามบุคคลย่อมได้สัญชาติเวียดนามหากเกิดในประเทศเวียดนาม กฎหมาย ภายในจีนยังกําหนดว่าบุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่อ อายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายเวียดนามต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่นายจังมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้ทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์ม จํานวน 10 เครื่อง จากนายโชคคนสัญชาติไทยที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้น นายจังและนายโชคมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า นายจังมีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยควรวินิจฉัยอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสอง “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลําเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้น มีภูมิลําเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ ในกรณีใด ๆ ที่มีการ ขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้ บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม”

มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคล ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่า นายจังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์มจากนายโชคคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจังมีทั้งสัญชาติจีนและเวียดนามซึ่งได้รับมาในคราวเดียวกัน (ได้รับมาพร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายจังมีภูมิลําเนาอยู่ อันได้แก่ กฎหมายเวียดนามตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม กฎหมายเวียดนามแล้ว นายจังย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายเวียดนาม กําหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อ ในขณะทํานิติกรรมนายจังมีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายจังจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่านายจังคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตาม ข้อ 1)

3) แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

ดังนั้น การที่นายจังได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของนายจัง (เวียดนาม) ก็ถือว่านายจัง ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว นายจังมีความสามารถทํา นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่านายจังบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควร วินิจฉัยว่านายจังมีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายจังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มดังกล่าวได้

 

ข้อ 3 ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเด็นแห่งคดี ว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่นั้น ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองบัญญัติหรือกําหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงอยากทราบว่าการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าวข้างต้น มีแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการนี้ไว้บ้างหรือไม่อย่างไร ให้ท่านอธิบายโดยละเอียด ชัดเจน และครบถ้วน

ธงคําตอบ

ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมือง หรือไม่นั้น มีแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการนี้ ดังนี้

(1) ในกรณีที่ศาลที่วินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิด ทางการเมืองไว้โดยตรง ก็จะนําหลักกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น หลักกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส ที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองจะต้องเป็นการกระทําที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและรัฐบาล

โดยมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลง หรือล้มล้างหลักการปกครองของประเทศในหลักใหญ่ (นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ) หรือหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองได้นั้น จะต้องเป็น การกระทําความผิดในขณะที่ไม่มีความสงบทางการเมือง ระหว่างคณะบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยต่างฝ่าย ต่างพยายามที่จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับระบบการปกครองตามที่ฝ่ายตนต้องการ เป็นต้น

(2) ในกรณีที่ศาลที่วินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิด ทางการเมืองไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษาของศาลแห่งประเทศนั้นเป็นหลักพิจารณา ตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ไม่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นหลักพิจารณา เพราะตามหลักกฎหมายไทยในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุดทั้งในปัญหา ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังเช่น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนายพลท้าวมาทิ้งระเบิดที่นครเวียงจันทน์เพื่อ ทําการยึดอํานาจในประเทศลาว แต่ไม่สําเร็จ จึงหนีเข้ามาในเมืองไทยโดยขอลี้ภัยทางการเมือง แต่ทางฝ่ายรัฐบาลลาว ขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายพลท้าวมาและพรรคพวกกลับไปดําเนินคดี แต่ศาลไทยปฏิเสธไม่ยอมส่งตัวให้ โดยถือว่า นายพลท้าวมาและพรรคพวกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง เป็นต้น

 

ข้อ 4 ประเทศภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 ใดบ้างที่อาจร้องขอต่อรัฐภาคีอื่น ๆ ที่ผู้กระทําผิดปรากฏตัว ให้ทําการส่งตัวผู้กระทําผิดนั้นให้แก่ตนได้ ให้ท่านกล่าวมาโดยครบถ้วน

ธงคําตอบ

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 เป็นอนุสัญญา ระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการจี้เครื่องบินอันถือเป็นการกระทําความผิดฐานสลัดอากาศ ซึ่งประเทศภาคีอนุสัญญา กรุงเฮกฯ ที่มีเขตอํานาจศาลเหนือความผิดในเรื่องนี้ และอาจร้องขอต่อรัฐภาคีอื่น ๆ ที่ผู้กระทําผิดปรากฏตัว ให้ทําการส่งตัวผู้กระทําผิดนั้นให้แก่ตน ได้แก่

1 รัฐที่เครื่องบินนั้นจดทะเบียน หมายความว่า การกระทําผิดเกิดขึ้นบนเครื่องบินที่ จดทะเบียนโดยรัฐใด รัฐนั้นย่อมมีเขตอํานาจศาลเหนือความผิดนั้น

2 รัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลง หมายความว่า เครื่องบินที่เกิดการกระทําผิดนั้นแล่นลงที่รัฐใด รัฐนั้นย่อมมีเขตอํานาจศาลเหนือความผิดนั้น ไม่ว่าเครื่องบินลํานั้นจะจดทะเบียนโดยรัฐใดก็ตาม

3 รัฐผู้เช่าเครื่องบินนั้น หมายความว่า กรณีที่เกิดการกระทําผิดบนเครื่องบินที่รัฐเช่า มาจากรัฐอื่น รัฐผู้เช่าย่อมมีเขตอํานาจศาลเหนือความผิดนั้น

Advertisement