การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ประกอบหรือเต่ย เกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. 2483 จากบิดามารดาเป็นญวนอพยพ ต่อมาประกอบได้สมรสกับนางสาวเหงียนทิ ญวนอพยพและมีบุตรชื่อสมจร เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 อยากทราบว่า ประกอบและสมจร บุตรจะได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไร หรือไม่ ยกเหตุผลประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา 11 บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
วินิจฉัย
ประกอบและสมจรได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ประกอบเกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2483 จากบิดามารดาซึ่งเป็นญวนอพยพ กรณีจึงถือได้ว่าประกอบเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ย่อมได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)
เมื่อประกอบสมรสกับนางสาวเหงียนทิ ญวนอพยพและเกิดบุตรคือ สมจร ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ก่อนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515) กรณีเช่นนี้ สมจรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) เพราะในขณะที่สมจรเกิดนั้น ประกอบบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ ประกอบจึงถูกถอนสัญชาติไทย เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และในขณะเกิดนั้น บิดาได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)
อนึ่งการที่ประกอบถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ก็ไม่มีผลกระทบถึงสมจร เนื่องจากในขณะที่สมจรเกิด ประกอบบิดายังมีสัญชาติไทยอยู่ และการได้สัญชาติไทยของสมจรเป็นการได้มาตามหลักสายโลหิต มิใช่หลักดินแดน ดังนั้นแม้ต่อมาประกอบจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของบุตรด้วยแต่ประการใด (ฎ. 1204 –1205/2533 ฎ. 1513 – 1514/2531) สมจรจึงยังคงได้สัญชาติไทย
แต่ครั้นถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ ยอมทำให้ประกอบไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก เพราะในขณะที่เกิด บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว และทั้งบิดาและมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกำหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้โดยผลของมาตรา 11 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ซึ่งทำให้ประกอบไม่ได้รับสัญชาติไทยถือว่าเป็นผลร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดโดยตรง กรณีจึงไม่ย้อนกลับไปใช้บังคับ บังคงบังคับตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เพราะในข้อเท็จจริงเดียวกันมีกฎหมายเป็นโทษบังคับหลายฉบับ ให้บังคับตามกฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด
สรุป ประกอบได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ต่อมาถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ส่วนสมจร ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด