การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายโท นายเอกให้นายหนึ่งเช่าที่ดินแปลงหนึ่ง เพื่อปลูกอาคารพาณิชย์เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งนายหนึ่งตกลงว่าหากครบกําหนดตามสัญญาเช่า จะยอมให้อาคารพาณิชย์หลังนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอก นอกจากนี้นายเอกยังให้นายสอง ยืมรถยนต์ไปใช้เป็นเวลา 4 ปี หลังจากที่นายหนึ่งเช่าที่ดินและนายสองยืมรถยนต์แล้วเป็นเวลา 2 ปี นายหนึ่งและนายเอาเดินทางไปต่างประเทศด้วยกัน และเครื่องบินตกเสียชีวิตทั้งคู่

Advertisement

ดังนี้ นายโทจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่ง และจะเรียกรถยนต์คืนจากนายสองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600) ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ นายโทจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่งและจะเรียกรถยนต์คืนจาก นายสองได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. การที่นายเอกให้นายหนึ่งเช่าที่ดินเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์เป็นเวลา 15 ปี การที่นายเอกให้นายหนึ่งเช่าที่ดินเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์ดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหนึ่งตกลงว่าจะยอมให้อาคารพาณิชย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอกเมื่อครบกําหนดตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าที่มีข้อตกลงต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและ หน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายหนึ่ง ดังนั้น นายโทจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่งไม่ได้

2. การที่นายเอกให้นายสองยืมรถยนต์ไปใช้เป็นเวลา 4 ปี
การที่นายเอกให้นายสองยืมรถยนต์ไปใช้เป็นเวลา 4 ปีนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูป ซึ่งตาม กฎหมายสัญญายืมใช้คงรูปย่อมระงับไปเมื่อผู้ยืมตาย (ป.พ.พ. มาตรา 648) แต่จะไม่ระงับไปในกรณีที่ผู้ให้ยืมตาย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากทําสัญญากับนายสองแล้วเป็นเวลา 2 ปี นายเอกผู้ให้ยืมถึงแก่ความตาย

สิทธิและหน้าที่ตามสัญญายืมซึ่งตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย (ผู้ให้ยืม) จึงไม่ระงับไปด้วย แต่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น นายโทจึงต้องให้นายสองใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมคือรถยนต์ต่อไปอีก 2 ปี จะเรียกรถยนต์คืนจากนายสองไม่ได้

สรุป นายโทจะเรียกที่ดินคืนจากทายาทของนายหนึ่งและจะเรียกรถยนต์คืนจากนายสองไม่ได้

 

ข้อ 2. นายกลมอยู่กินกับนางมณีมีบุตรคือนายดําซึ่งนายกลมได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ต่อมานางมณีป่วยตาย นายกลมจึงไปอยู่กินกับนางแก้วมีบุตรคือนายกระทิงซึ่งนายกลมให้นายกระทิง ใช้นามสกุล โดยนายกระทิงจดทะเบียนสมรสกับนางอรนุชมีบุตรคือนางฤดี ซึ่งต่อมานางฤดีได้อยู่กิน กับนายสมชัยซึ่งนายสมชัยมีบุตรติดจากการสมรสครั้งก่อนคือ ด.ช.ปรีชา นางฤดีและนายสมชัย มีบุตรด้วยกันคือ ด.ญ.มานี ซึ่งนายสมชัยได้ให้ ด.ญ.มานี้ใช้นามสกุล ต่อมานางฤดีได้จดทะเบียนรับ ด.ช.ปรีชามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางฤดี หลังจากนายกระทิงป่วยและ ถึงแก่ความตาย ต่อมานางฤดีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายดําป่วยและตาย เช่นนี้ จงพิจารณาการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกของนายดําซึ่งมีเงินสดอยู่ในธนาคาร 240,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน”

มาตรา 1634 “ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตามบทบัญญัติ
ในลักษณะ 2 หมวด 4 นั้นให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1644 “ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายดําถึงแก่ความตาย มรดกของนายดําซึ่งเป็นเงินสดในธนาคารจํานวน 240,000 บาท จะตกได้แก่ใครนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. นายกลม ซึ่งเป็นบิดาของนายดํา แต่เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา เพราะ ขณะที่นายดําเกิดนั้น นายกลมกับนางมณีเป็นสามีภริยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายกลมจึงไม่มีสิทธิ รับมรดกของนายดํา เพราะตามมาตรา 1629 (2) ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกนั้น จะต้องเป็นบิดาและมารดา โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

2. นางมณี ซึ่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายดํา เพราะบุคคลที่เกิดจากหญิงที่มิได้ สมรสกับชาย กฎหมายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นตามมาตรา 1546 นางมณีจึงมีฐานะเป็น ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) แต่เมื่อในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น นางมณีไม่มีสภาพบุคคล อยู่ในเวลานั้น เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ดังนั้น นางมณีจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

3. นายกระทิง เป็นบุตรที่เกิดจากนายกลมและนางแก้ว จึงเป็นพี่น้องร่วมแต่บิดาเดียวกันกับ นายดําและเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4) ประกอบมาตรา 1627 แต่การที่นายกระทิงตายก่อนเจ้ามรดก นายกระทิงจึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น นายกระทิงจึงไม่มีสิทธิรับมรดก ของนายดําตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาการเข้ารับมรดกแทนที่นายกระทิงตามมาตรา 1639

การที่นายกระทิงได้จดทะเบียนสมรสกับนางอรนุชและมีบุตรคือนางฤดี นางฤดีจึงเป็นบุตร โดยชอบด้วย
กฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายกระทิงตามมาตรา 1536 ประกอบมาตรา 1643 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางฤดีได้ถึงแก่ความตายก่อนนายดําด้วย ดังนั้น นางฤดีจึงไม่มีสิทธิบริบูรณ์ ในการรับมรดกแทนที่นายกระทิงตามมาตรา 1644 ประกอบมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาการเข้ารับ มรดกแทนที่นางฤดีต่อไปตามมาตรา 1639 และเมื่อปรากฏว่านางฤดีมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคือ ด.ญ.มานี และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางฤดีตามมาตรา 1536 ประกอบมาตรา 1643 ดังนั้น ด.ญ.มานี้จึงเข้ารับมรดก แทนที่นางฤดีในการรับมรดกของนายดําได้ ส่วน ด.ช.ปรีชาซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางฤดีนั้น จะเข้ารับมรดก แทนที่นางฤดีไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางฤดี จึงต้องห้ามมิให้รับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1643

ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายดํา คือเงินฝากในธนาคารจํานวน 240,000 บาท จึงตกได้แก่ ด.ญ.มานี
แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1634 (3)

สรุป มรดกของนายดําซึ่งเป็นเงินสดในธนาคารจํานวน 240,000 บาท ตกได้แก่ ด.ญ.มานี โดย การเข้ามารับมรดกแทนที่นางฤดีแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3. นายดําอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายเอ บี และซี ซึ่งนายดําได้อุปการะทั้งสามเป็นอย่างดี นายเอ จดทะเบียนสมรสกับนางเล็ก มีบุตรคือนายไก่ ส่วนนายปีจดทะเบียนรับนายดินมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนนายซีอยู่กินกับนางใหญ่โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคือนายอึ่ง ซึ่งนายซีได้ให้ใช้นามสกุล ต่อมานายดําทําพินัยกรรมตัดนายเอมิให้รับมรดกและทําพินัยกรรม ยกเงินสดให้นายปี 120,000 บาท ต่อมานางแดงได้ขอร้องให้นายดําถอนการตัดนายเอ นายดํา จึงทําหนังสือถอนการตัดนายเอต่อนายอําเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี หลังจากนั้น นายบีทําหนังสือ สละมรดกของนายดํามอบแก่นายอําเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ต่อมานายดําป่วยและถึงแก่ความตาย เช่นนี้จงแบ่งมรดกคือ เงินสดนอกพินัยกรรมอยู่ในธนาคาร 240,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่ด้วย
แสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1609 “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียก็ได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น…”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําอยู่กินกับนางแดงและมีบุตร 3 คน คือ นายเอ นายบี และนายซี โดยนายดําได้อุปการะทั้งสามเป็นอย่างดีนั้น เมื่อนายดําได้ถึงแก่ความตาย บุตรทั้งสามของนายดําย่อมถือว่าเป็น ทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานของนายดําและมีสิทธิรับมรดกของนายดําตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนนางแดงเมื่อมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายดําจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสของนายดํา ตามมาตรา 1629 วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายดํา

และเมื่อนายดําถึงแก่ความตายนั้น นายดํามีมรดกคือเงินตามพินัยกรรมที่ระบุยกให้นายบีจํานวน 120,000 บาท และเงินนอกพินัยกรรมอยู่ในธนาคารอีกจํานวน 240,000 บาทนั้น บุตรทั้งสามคนของนายดํา จะเสียสิทธิหรือมีสิทธิรับมรดกดังกล่าวหรือไม่เพียงใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอ การที่นายดําเจ้ามรดกทําพินัยกรรมตัดนายเอมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมตาม มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง (1) นั้น เป็นการตัดมิให้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นถ้าจะมีการถอนก็จะต้อง แสดงเจตนาแต่โดยพินัยกรรมเท่านั้นตามมาตรา 1609 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดําได้ทําหนังสือถอนการตัด นายเอมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจึงไม่ถูกต้องตามมาตรา 1609 ดังนั้นจึงถือว่านายเอยังคงเสียสิทธิ ในการรับมรดกของนายดํา

และเมื่อนายเอถูกตัดมิให้รับมรดก แม้นายเอจะมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายไก่ นายไก่ก็ไม่มีสิทธิ ที่จะรับมรดกแทนที่นายเอได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1639 คือมิใช่เป็นกรณีที่นายเอได้ถึงแก่
ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายแต่อย่างใด

กรณีของนายบี การที่นายปีได้ทําหนังสือสละมรดกของนายดํามอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ การสละมรดกของนายที่จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1612 ก็ตาม แต่การสละมรดกของนายบีถือเป็นการสละสิทธิ อันจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกของนายดําที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น เป็นการแสดงเจตนาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1619 การสละมรดกของนายบีจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น นายบีจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายดํา คือยังมีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม 120,000 บาท และมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมในเงิน นอกพินัยกรรมอีกจํานวน 240,000 บาท

กรณีของนายซี จะมีสิทธิรับมรดกของนายดําเฉพาะในเงินนอกพินัยกรรมจํานวน 240,000 บาทเท่านั้น

ดังนั้น มรดกของนายดํา คือเงินตามพินัยกรรมจํานวน 120,000 บาท จะตกได้แก่นายบี ส่วนเงิน นอกพินัยกรรมจะตกได้แก่นายปีและนายซีในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 โดยนายบีและนายซีจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันคือคนละ 120,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายดําคือเงินตามพินัยกรรมจํานวน 120,000 บาท ตกได้แก่นายปี ส่วนเงิน นอกพินัยกรรมจํานวน 240,000 บาท ตกได้แก่นายปีและนายซีคนละ 120,000 บาท

 

ข้อ 4. นายหนึ่งมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ นายสอง นายสามและนายสี่ นายสามจุด ทะเบียนสมรสกับนางส้ม มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเอกและนายโท นายสองและนายสาม ทะเลาะกันอย่างรุนแรง นายสองใช้ปืนยิงนายสามถึงแก่ความตาย นายสองต้องคําพิพากษาถึงที่สุด ว่าฆ่านายสามตายโดยเจตนา ต่อมานายสี่ได้ขอเงินนายหนึ่งไปเป็นทุนในการค้าขาย นายหนึ่ง มอบเงินจํานวนหนึ่งให้นายไปเป็นทุนโดยนายสี่ได้ทําหนังสือมอบไว้แก่นายหนึ่งว่าจะขอสละมรดก ของนายหนึ่งทั้งหมด หลังจากนั้น นายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรม นายหนึ่งมีมรดก คือเงินสด 900,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่ามรดกของนายหนึ่งจะตกได้แก่ใคร เท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิ ได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้
ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายหนึ่ง คือเงินสด 900,000 บาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง ได้แก่ นายสอง นายสาม และนายสี่ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตาม มาตรา 1629 (3) โดยทั้งสามคนจะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 300,000 บาท ตามมาตรา 1633

การที่นายสองใช้ปืนยิงนายสามถึงแก่ความตาย และต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าฆ่านายสามตาย โดยเจตนานั้น นายสองก็ไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกของนายหนึ่งฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) แต่อย่างใด เพราะมิได้ฆ่าผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตาย เนื่องจากนายสองและนายสามเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดก ของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกัน ดังนั้น นายสองจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง

และเมื่อนายสามได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายสามมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายเอกและนายโท ดังนั้น นายเอกและนายโทจึงเข้ารับมรดกของนายหนึ่งแทนที่นายสามได้ตามมาตรา 1639 และ มาตรา 1643 โดยนายเอกและนายโทจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 150,000 บาท ตามมาตรา 1633

ส่วนนายสี่ซึ่งได้ทําหนังสือมอบไว้นายหนึ่งว่าจะขอสละมรดกของนายหนึ่งทั้งหมดนั้น ถือเป็นการสละสิทธิอันจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกของนายหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น เป็นการแสดงเจตนาที่ฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติมาตรา 1619 การสละมรดกของนายสี่จึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น นายสี่จึงยังคงมีสิทธิรับมรดก ของนายหนึ่งในจํานวน 300,000 บาท

สรุป มรดกของนายหนึ่งจํานวน 900,000 บาท ตกได้แก่นายสองและนายสี่คนละ 300,000 บาท และตกได้แก่นายเอกและนายโทซึ่งเข้ารับมรดกแทนที่นายสามคนละ 150,000 บาท

Advertisement