การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3107 (LAW3007) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ระบบที่ใช้ในการอุทธรณ์ของคดีแพ่งในประเทศไทยนั้นคือระบบอะไร มาตราใดที่ให้ใช้ระบบเช่นนั้น
และระบบนั้นมีหลักการอย่างไร โดยระบบที่ใช้ในการอุทธรณ์แตกต่างจากระบบที่ใช้ในการฎีกา ในคดีแพ่งหรือไม่ อย่างไร

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 223 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด”

มาตรา 247 วรรคหนึ่ง “การฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทําได้เมื่อได้รับ อนุญาตจากศาลฎีกา”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติใน ป.วิ.แพ่ง 223 มาตรา 223 จะเห็นได้ว่า ระบบที่ใช้ในการอุทธรณ์ของคดีแพ่ง ในประเทศไทยนั้น คือ “ระบบสิทธิ” โดยมาตรา 223 ได้กําหนดไว้ว่า การอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งของ ศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น จะได้บัญญัติว่าให้ถึงที่สุด คือ ห้ามอุทธรณ์ ดังนั้น คดีทุกคดีที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ ได้ทั้งหมด หากไม่มีกฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์

ระบบที่ใช้ในการอุทธรณ์ดังกล่าวจะแตกต่างจากระบบฎีกาในปัจจุบัน เพราะระบบฎีกาในปัจจุบัน จะใช้ “ระบบอนุญาต” ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ซึ่งกําหนดว่า การฎีกา คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแล้วเท่านั้น ดังนั้น หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว จะถือว่าคดีถึงที่สุดในศาลอุทธรณ์

สรุป ระบบที่ใช้ในการอุทธรณ์คดีแพ่งคือระบบสิทธิซึ่งจะแตกต่างจากระบบที่ใช้ในการฎีกาที่ใช้ระบบอนุญาต

 

ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินจากการที่โจทก์ก่อสร้างถนนให้กับจําเลยโดยมีรายการตาม
คําขอให้ชําระเงินจากสัญญาดังต่อไปนี้

ก. สัญญาเช่ารถทําถนนมีอัตราค่าเช่าทั้งสิ้น 50,000 บาท
ข. สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ในการทําถนนมีราคารวมทั้งสิ้น 120,000 บาท
ค. สัญญาจ้างทําของเป็นค่าจ้างทําถนนมีอัตราค่าจ้าง 30,000 บาท
ง. ขอให้ชําระเงินรวมทั้งสิ้น 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยชําระหนี้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาว่าจําเลยยังมิได้ ชําระเงินทั้งหมด ให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย หากจําเลยไม่พอใจคําพิพากษา ของศาลชั้นต้นและต้องการยื่นอุทธรณ์ว่าจําเลยชําระหนี้โจทก์ทั้งหมดแล้ว ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสามารถรับอุทธรณ์ของจําเลยได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินจากการที่โจทก์ก่อสร้างถนนให้กับ จําเลย โดยมีรายการตามคําขอให้ชําระเงินจากสัญญาดังต่อไปนี้

ก. สัญญาเช่ารถทําถนนมีอัตราค่าเช่าทั้งสิ้น 50,000 บาท
ข. สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ในการทําถนนมีราคารวมทั้งสิ้น 120,000 บาท
ค. สัญญาจ้างทําของเป็นค่าจ้างทําถนนมีอัตราค่าจ้าง 30,000 บาท
ง. ขอให้ชําระเงินรวมทั้งสิ้น 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาว่าจําเลย ยังมิได้ชําระเงินทั้งหมด จึงให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนั้น หากจําเลยไม่พอใจคําพิพากษาของ ศาลชั้นต้น และต้องการยื่นอุทธรณ์ว่าจําเลยชําระหนี้โจทก์ทั้งหมดแล้ว ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคําพิพากษาของ ศาลชั้นต้นนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริง ดังนั้น ในกรณีดังกล่าว ศาลจะสามารถรับอุทธรณ์ของจําเลยได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงทุนทรัพย์ ของสัญญาแต่ละสัญญาแยกจากกันเป็นรายสัญญา โดยในสัญญาเช่ารถทําถนนมีทุนทรัพย์เพียง 50,000 บาท และสัญญาจ้างทําของเป็นค่าจ้างทําถนนมีทุนทรัพย์เพียง 30,000 บาท กรณีทั้ง 2 สัญญาจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 เพราะทุนทรัพย์ของสัญญาแต่ละสัญญาไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ในการทําถนนที่มีราคารวมทั้งสิ้น 120,000 บาท จึงเป็นสัญญาที่มี ทุนทรัพย์เกินกว่า 50,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง 224 ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับอุทธรณ์ของจําเลยในกรณีนี้ได้

สรุป ศาลสามารถรับอุทธรณ์ของจําเลยได้เฉพาะคดีเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ในการทําถนน ซึ่งมีราคารวมทั้งสิ้น 120,000 บาทเท่านั้น ส่วนคดีเกี่ยวกับสัญญาเช่ารถทําถนนซึ่งมีค่าเช่าทั้งสิ้น 50,000 บาท และสัญญาจ้างทําของเป็นค่าจ้างทําถนนซึ่งมีค่าจ้าง 30,000 บาทนั้น ศาลจะรับอุทธรณ์ของจําเลยไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยว่า “โจทก์และจําเลยเป็นทายาทของนายยิ่งรวยซึ่งเดิมเป็นเจ้าของโรงแรม สุดขอบฟ้าที่ตั้งอยู่ที่อําเภอหัวหิน เมื่อนายยิ่งรวยตายโรงแรมดังกล่าวย่อมตกแก่ทายาท แต่จําเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ่งรวยมิได้แบ่งสิทธิทั้งกรรมสิทธิ์ในโรงแรมและสิทธิในการบริหารโรงแรมให้กับโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายยิ่งรวยคนหนึ่ง จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยแบ่งสิทธิ ทั้งกรรมสิทธิ์ในโรงแรมและสิทธิในการบริหารโรงแรมให้กับโจทก์” เมื่อยื่นคําฟ้องมาแล้วโจทก์ได้ยื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว โดยโจทก์อ้างว่าโรงแรมพิพาทมีรายได้ตลอดในช่วงที่คดี อยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์เห็นว่าจําเลยจะนําไปใช้ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงขอให้ตั้งผู้จัดการเข้าเก็บ รายได้ของโรงแรมมาสู่ศาลเก็บไว้ในระหว่างพิจารณา ในกรณีเช่นนี้ โจทก์จะขอคุ้มครองชั่วคราว เป็นกรณีฉุกเฉินหรือเป็นกรณีปกติได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือ ในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา
รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ําหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิด สัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับ ต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่ายซึ่งทรัพย์สิน ที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สิน ดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
ที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาล จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่น คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับ ตามคําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการ หรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครอง
ของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

มาตรา 266 “ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินเมื่อโจทก์ยื่นคําขอตามมาตรา 254 โจทก์จะยื่นคําร้องรวมไปด้วย เพื่อให้ศาลมีคําสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้ …..”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยว่า “โจทก์และจําเลยเป็นทายาทของนายยิ่งรวย ซึ่งเดิมเป็นเจ้าของโรงแรมสุดขอบฟ้าที่ตั้งอยู่ที่อําเภอหัวหิน เมื่อนายยิ่งรวยตาย โรงแรมดังกล่าวย่อมตกแก่ทายาท
แต่จําเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ่งรวยมิได้แบ่งสิทธิทั้งกรรมสิทธิ์ในโรงแรมและสิทธิในการบริหารโรงแรมให้กับโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายยิ่งรวยคนหนึ่ง จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยแบ่งสิทธิทั้งกรรมสิทธิ์ในโรงแรม และสิทธิในการบริหารโรงแรมให้กับโจทก์” และเมื่อได้ยื่นคําฟ้องมาแล้ว โจทก์ก็ได้ยื่นคําร้องขอคุ้มครอง ประโยชน์ชั่วคราว โดยโจทก์อ้างว่าโรงแรมพิพาทมีรายได้ตลอดในช่วงที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์เห็นว่า จําเลยนําไปใช้ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงขอให้ตั้งผู้จัดการเข้าเก็บรายได้ของโรงแรมมาสู่ศาลเก็บไว้ในระหว่างพิจารณานั้น

มิใช่คําร้องขอให้ศาลกําหนดวิธีการคุ้มครองภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขตามที่กําหนดไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 แต่อย่างใด แต่เป็นคําขอให้ศาลกําหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ซึ่งให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขอได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ขอให้ศาลกําหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการ พิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 นั้น โจทก์จะขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินไม่ได้ เพราะการขอ คุ้มครองประโยชน์เป็นกรณีฉุกเฉิน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 266 นั้น จะขอได้เฉพาะเมื่อโจทก์ได้ยื่นคําขอคุ้มครอง ประโยชน์ชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เท่านั้น

สรุป โจทก์สามารถขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีปกติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ได้ แต่จะขอ คุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 266 ไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ยื่นฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้รวมทั้งสิ้น 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลจึงให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการ สืบพยาน ศาลพิพากษาและออกคําบังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 โดยในคําบังคับระบุให้ จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 15 วัน และศาลได้ส่งคําบังคับไปให้แก่จําเลยในวันที่ 2 กันยายน 2561 จําเลยมิได้อุทธรณ์ คําพิพากษาจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ในกรณี เช่นนี้ หากโจทก์จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีจะสามารถยื่นคําร้องต่อศาลได้ในวันที่เท่าไหร่และระยะในการบังคับคดีจะสิ้นสุดเมื่อใด ต่อมาหากมีการออกหมายบังคับคดีแล้วหากโจทก์ต้องการจะโอนสิทธิในการบังคับคดีทั้งหมดไปให้นายสมชายจะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 272 “ถ้าศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคําพิพากษา ก็ให้ศาลออกคําบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ทราบคําบังคับแล้วในวันนั้น

ในคดีที่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณา และลูกหนี้ตามคําพิพากษา ทนายความหรือผู้รับมอบฉันทะจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าว ให้มาฟังคําพิพากษาหรือคําสั่ง มิได้อยู่ในศาลใน เวลาที่ออกคําบังคับ ให้บังคับมาตรา 199 ทวิ หรือมาตรา 207 แล้วแต่กรณี”

มาตรา 274 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือ คําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง….

ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดี ในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดย การร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ยืม แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลจึง ให้โจทก์ยื่นส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน เมื่อศาลพิพากษาและออกคําบังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2561
โดยในคําบังคับระบุให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 15 วันนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่ลูกหนี้ตามคําพิพากษา ขาดนัดยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 272 วรรคสอง จึงต้องมีการส่งคําบังคับไปให้แก่จําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ตามคําพิพากษาเสียก่อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ทวิ) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลได้ส่งคําบังคับไปให้ จําเลยในวันที่ 2 กันยายน 2561 ระยะเวลาตามคําบังคับจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2561 และเมื่อ ศาลกําหนดให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 15 วัน จึงครบกําหนดระยะเวลาในวันที่ 17 กันยายน 2561 ดังนั้น หากโจทก์จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี (ถ้าจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคําบังคับ ที่ออกโดยคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง) โจทก์ย่อมสามารถยื่นคําร้องต่อศาลได้ในวันที่ 18 กันยายน 2561

2. เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้รวมทั้งสิ้น 500,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และศาลได้พิพากษาและออกคําบังคับให้ตามคําขอของโจทก์ จึงถือว่าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษานั้นเป็นการให้ชําระเงินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคสาม ดังนั้น หากโจทก์ต้องการจะโอนสิทธิในการบังคับคดีทั้งหมดไปให้นายสมชายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น โจทก์
ย่อมสามารถทําได้

สรุป โจทก์สามารถขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ในวันที่ 18 กันยายน 2561 และหากศาลได้ ออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์สามารถโอนสิทธิในการบังคับคดีทั้งหมดไปให้นายสมชายได้

Advertisement