การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายยิ่งยื่นฟ้องนายมูเป็นจําเลยที่ 1 และนายสีเป็นจําเลยที่ 2 ว่า นายมูเป็นลูกหนี้ของนายจึงรู้ว่า นายจึงจะฟ้องนายมู จึงโอนรถยนต์ป้ายทะเบียน 1234 กทม. ให้แก่นายสี โดยนายสีรู้ว่าการโอน ดังกล่าวนี้จะทําให้นายซึ่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในนิติกรรมเพื่อให้รถยนต์กลับมาเป็นของนายมู โดยรถยนต์คันดังกล่าวมีมูลค่า 350,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาว่า การโอนรถยนต์ระหว่างนายมูและนายสีไม่ใช่เป็นการฉ้อฉลยกฟ้องโจทก์ นายจึงจึงอุทธรณ์ว่า นิติกรรมที่โอนรถยนต์จากนายมูไปยังนายสีเป็นการฉ้อฉล ขอให้ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้นเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะสามารถรับอุทธรณ์ของนายจึงได้หรือไม่

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่ พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจึงฟ้องนายมูเป็นจําเลยที่ 1 และนายสีเป็นจําเลยที่ 2 ว่า นายมู เป็นลูกหนี้ของนายยิ่งรู้ว่านายจึงจะฟ้องนายมู จึงโอนรถยนต์ป้ายทะเบียน 1234 กทม. ให้แก่นายสี โดยนายสี รู้ว่าการโอนดังกล่าวนี้จะทําให้นายขิงซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในนิติกรรมเพื่อให้รถยนต์ กลับมาเป็นของนายมูนั้น กรณีเช่นนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าศาลมีคําพิพากษาให้เพิกถอนแล้วรถยนต์พิพาทกันนี้ก็จะ กลับไปเป็นของนายมู โดยนายขิงซึ่งเป็นโจทก์จะไม่ได้รับทรัพย์สินใดจากการฟ้องเลย ดังนั้น คดีที่นายขิงฟ้อง ดังกล่าวจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

และเมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาว่าการโอนรถยนต์ระหว่างนายมูและนายสีไม่ใช่เป็นการฉ้อฉล จึงยกฟ้องโจทก์ นายจึงจึงอุทธรณ์ว่า นิติกรรมการโอนรถยนต์จากนายมูไปยังนายสีเป็นการฉ้อฉล ถือเป็นการอุทธรณ์ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ นายจึงโจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ดังนั้น ศาลชั้นต้น จึงสามารถรับอุทธรณ์ของนายจึงได้

สรุป ศาลชั้นต้นสามารถรับอุทธรณ์ของนายของได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยให้จําเลยชําระเงินกู้ จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญากู้ปลอม จําเลย ไม่เคยกู้เงินโจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาโจทก์มาขอยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง ศาลมีคําสั่ง ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง ไม่รับคําร้องดังกล่าว โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาโจทก์มายื่น คําร้องขอถอนฟ้อง ศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องไม่รับคําร้องดังกล่าว สุดท้ายศาลมีคําพิพากษายกฟ้อง โจทก์ ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ขอให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ (500,000 บาท) อีกทั้งอุทธรณ์คําสั่งไม่อนุญาต ให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องและคําสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะรับอุทธรณ์คําสั่ง ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง และคําสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(5) “คําคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคําฟ้อง คําให้การหรือคําร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

มาตรา 18 วรรคท้าย “คําสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และ ฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น
เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่งระหว่าง
พิจารณา”

มาตรา 228 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(3) ไม่รับหรือคืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งมิได้ทําให้ คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป”

วินิจฉัย

คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี
2. เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป
3. ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228

เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่งไว้ก่อน จึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นตามมาตรา 226 (2) ส่วนคําสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ ไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยให้ชําระเงินกู้ จําเลยยื่นคําให้การว่าสัญญากู้ดังกล่าว เป็นสัญญากู้ปลอม จําเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาโจทก์มาขอยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องและไม่รับคําร้องดังกล่าวซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาโจทก์ มายื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องและไม่รับคําร้องดังกล่าว สุดท้ายศาลมีคําพิพากษายกฟ้องโจทก์ และต่อมาโจทก์อุทธรณ์ขอให้จําเลยชําระเงินกู้ อีกทั้งอุทธรณ์คําสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง และคําสั่ง ไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ดังนี้ ศาลจะรับอุทธรณ์คําสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง และคําสั่งไม่อนุญาตให้ ถอนฟ้องได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. คําสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้อง เมื่อคําฟ้องถือเป็นคําคู่ความอย่างหนึ่ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 (5) การที่ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องโดยการไม่รับคําร้องของโจทก์ จึงเป็นคําสั่งไม่รับคําคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 18 ซึ่งมิได้ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากแต่เสร็จไปเฉพาะประเด็น บางข้อ จึงเป็นคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 (3) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิ อุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า โจทก์จะมิได้โต้แย้งคัดค้านคําสั่งนั้นไว้ก่อนก็ตาม

2. คําสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ถือเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา เพราะเป็นคําสั่งของศาล ที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินคดี และเมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล และไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านคําสั่งนั้นไว้ก่อน จึงต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์คําสั่งนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226

สรุป ศาลจะรับอุทธรณ์คําสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องได้ แต่จะรับอุทธรณ์คําสั่ง ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไม่ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระหนี้ โดยโจทก์เป็นชาวต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่ปัจจุบันได้ปิดกิจการไปแล้วเพราะเกิดโรคระบาดโดยโจทก์ไม่มีภูมิลําเนาในราชอาณาจักร แต่มี คอนโดมิเนียมอยู่ที่ซอยทองหล่อ 1 ห้อง ในระหว่างพิจารณา จําเลยมายื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ ชั่วคราวให้โจทก์วางค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาล กรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งให้โจทก์วางได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 253 วรรคหนึ่ง “ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลําเนาหรือสํานักทําการงานอยู่ในราชอาณาจักรและ ไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยง ไม่ชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จําเลยอาจยื่นคําร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาขอให้ศาล มีคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ เพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 253 วรรคหนึ่ง กรณีที่จําเลยจะยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายได้นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ คือ

1. โจทก์มิได้มีภูมิลําเนาหรือสํานักทําการงานอยู่ในราชอาณาจักร และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูก บังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือ

2. เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระหนี้นั้น โจทก์ ไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร แต่โจทก์มีคอนโดมิเนียมอยู่ที่ซอยทองหล่อ 1 ห้อง ซึ่งถือว่าโจทก์มีทรัพย์สิน ที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร อีกทั้งในระหว่างพิจารณา เมื่อจําเลยมายื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ ชั่วคราวโดยให้โจทก์วางค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาล จําเลยก็มิได้แสดงให้ศาลเชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยง ไม่ชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 253 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ศาลจะสั่งให้โจทก์วางค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลตามที่จําเลยร้องขอไม่ได้

สรุป ศาลจะสั่งให้โจทก์วางค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ยื่นฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ จําเลยยื่นคําให้การว่าหนี้เป็นโมฆะขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมา ในวันแรกของการสืบพยาน โจทก์และจําเลยมาศาล แต่ในวันอื่นหลังจากนั้นที่มีการสืบพยาน จําเลยไม่มาศาล รวมถึงวันที่ศาลมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ จําเลยก็มิได้มาศาล ศาลออกคําบังคับให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ภายใน 15 วัน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ มาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อไปยึดทรัพย์จําเลย จําเลยคัดค้านว่า คําบังคับดังกล่าวไม่ส่งให้จําเลยจะถือว่าจําเลยทราบระยะเวลาตามคําบังคับไม่ได้ต้องแจ้งให้จําเลยทราบก่อนจึงถือว่าจําเลยมิได้ปฏิบัติตามคําบังคับไม่ได้

4.1 ข้ออ้างของจําเลยนี้ฟังขึ้นหรือไม่

4.2 หากโจทก์ต้องการโอนหนี้การชําระเงินกู้ดังกล่าวไปให้คนอื่นบังคับคดี จะสามารถทําได้
หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 272 “ถ้าศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคําพิพากษา ก็ให้ศาลออกคําบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้ทราบคําบังคับแล้วในวันนั้น

ในคดีที่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณา และลูกหนี้ตามคําพิพากษา ทนายความ หรือผู้รับมอบฉันทะจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวให้มาฟังคําพิพากษาหรือคําสั่ง มิได้อยู่ในศาล ในเวลาที่ออกคําบังคับ ให้บังคับตามมาตรา 199 ทวิ หรือมาตรา 207 แล้วแต่กรณี”

มาตรา 274 วรรคสาม “ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นมีอํานาจบังคับคดี ตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบ ทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

4.1 การที่โจทก์ยื่นฟ้องให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ จําเลยยื่นคําให้การว่าหนี้เป็นโมฆะขอให้ศาล ยกฟ้อง ต่อมาในวันแรกของการสืบพยาน โจทก์และจําเลยมาศาล แต่ในวันอื่นหลังจากนั้นที่มีการสืบพยาน จําเลยไม่มาศาล รวมถึงวันที่ศาลมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ จําเลยก็มิได้มาศาลนั้น กรณีนี้ ไม่ถือว่า จําเลย (ลูกหนี้) ขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 วรรคสอง ที่ศาลจะต้องส่งคําบังคับให้แก่จําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การหรือขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 ทวิ แต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อศาลออกคําบังคับให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา ย่อมถือว่าจําเลยได้ทราบคําบังคับแล้วในวันนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 272 วรรคหนึ่ง และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ดังกล่าว จําเลยไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงมาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อไปยึดทรัพย์จําเลยนั้น การที่ จําเลยคัดค้านว่า คําบังคับดังกล่าวไม่ส่งให้จําเลยจะถือว่าจําเลยทราบระยะเวลาตามคําบังคับไม่ได้ และจะถือว่า จําเลยมิได้ปฏิบัติตามคําบังคับไม่ได้นั้น ข้ออ้างของจําเลยย่อมฟังไม่ขึ้น

4.2 ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคสาม ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคําพิพากษาหรือ คําสั่งเป็นการให้ชําระเงิน ส่งคืน หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้น มีอํานาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน…” นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในกรณีเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาหรือคําสั่งมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ตามคําพิพากษาหรือคําสั่งชําระเงิน ส่งคืน หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่นเพื่อบังคับคดีต่อไปได้

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษามีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ เงินกู้ โจทก์ย่อมสามารถโอนหนี้การชําระเงินกู้ดังกล่าวไปให้คนอื่นบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคสาม

สรุป 4.1 ข้ออ้างของจําเลยฟังไม่ขึ้น

4.2 โจทก์สามารถโอนหนี้การชําระเงินกู้ดังกล่าวไปให้คนอื่นบังคับคดีได้

Advertisement