การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายมหากระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายศรีลจํานวน 300,000 บาท นายศรีลนําเช็คไปขึ้นเงิน ที่ธนาคาร เมื่อเช็คถึงกําหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย นายศรีล จึงนําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ ลงโทษนายมหากระทิงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ระหว่างศาลชั้นต้น พิจารณาคดี นายศรีลยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคําร้องของนายศรีลอย่างไร

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี คําร้องทุกข์ตามระเบียบ”

วินิจฉัย

โดยหลักการแล้วพนักงานอัยการเป็นบุคคลผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อาญามาตรา 28 (1) แต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน (ป.วิ.อาญา มาตรา 120) และถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะได้มีคําร้องทุกข์ ตามระเบียบ (ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง)

ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คือผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมหากระทิงออกเช็คชําระหนี้ให้นายศรีลจํานวน 300,000 บาท
นายศรีลนําเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกําหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย ดังนั้นจึงถือว่า นายศรีลเป็นผู้เสียหายตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4)

แต่การที่นายศรีลได้นําเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ
จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” นั้น ไม่ถือว่าเป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามกฎหมาย คือ ไม่มีเจตนาที่จะให้นายมหากระทิงผู้กระทําความผิดได้รับโทษ ดังนั้น การแจ้งความของนายศรีลดังกล่าวจึงไม่ถือว่า เป็นการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) และเมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคําร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้น การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดําเนินการไปจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย และเป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 ประกอบมาตรา 28 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงถือว่าไม่มีคําฟ้องของพนักงานอัยการอยู่ในศาล นายศรีลจึงมิอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 30) ดังนั้น ศาลจึงต้องยกคําร้องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายศรีล

สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และสั่งยกคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายศรีล

 

ข้อ 2. นายอํานวยข่มขืนกระทําชําเรานางไลลา นางไลลาจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้หมายเรียกนายอํานวยมาพบเพื่อรับทราบข้อหาและทําการสวบสวน ก่อนเริ่มถามคําให้การ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาข่มขืนกระทําชําเรา (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท) และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้นายอํานวยทราบ พร้อมกับถามว่านายอํานวยมีทนายความหรือไม่ นายอํานวยตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงเริ่มถามคําให้การ นายอํานวยโดยไม่มีทนายความ นายอํานวยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงจดบันทึก คําให้การดังกล่าวไว้

ให้วินิจฉัยว่าคําให้การของนายอํานวยในชั้นสอบสวนสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของนายอํานวยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”

มาตรา 134/3 “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้”

มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้ เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้

เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด ของผู้นั้นไม่ได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่คํานึงว่าในขณะกระทําความผิดจะมีอายุเท่าใดก็ตาม) ก่อนเริ่มถามคําให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ กรณีนี้เป็นบทบังคับ เด็ดขาดหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและแม้จะไม่ต้องการก็ต้องจัดหาทนายความให้เสมอ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง)

ในส่วนคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี) ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหา ต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่ต้องการ ก็ไม่จําต้องจัดหาให้แต่ประการใด (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานสอบสวนได้หมายเรียกนายอํานวยมาพบเพื่อรับทราบข้อหาและ ทําการสวบสวน ซึ่งก่อนเริ่มถามคําให้การพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้นายอํานวย ทราบแล้วตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 และได้ถามนายอํานวยว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งนายอํานวยตอบว่าไม่มี และไม่ต้องการทนายความ ดังนี้เมื่อข้อหาข่มขืนกระทําชําเรานั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกและพนักงานสอบสวน ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคสองแล้ว คือได้ถามนายอํานวยว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งนายอํานวย ตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความนั้น พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องจัดหาทนายความให้นายอํานวย

และเมื่อพนักงานสอบสวนได้เริ่มถามคําให้การนายอํานวยโดยไม่มีทนายความ นายอํานวยให้การ รับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงได้จดบันทึกคําให้การของนายอํานวยดังกล่าวไว้ ดังนี้ คําให้การของนายอํานวย ในชั้นสอบสวนจึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายอํานวยได้

สรุป คําให้การของนายอํานวยในชั้นสอบสวนสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์
ความผิดของนายอํานวยได้

 

ข้อ 3. นายสับปะรดร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหานายชะอมว่านายชะอมทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ดําเนินคดีแก่นายชะอมตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 295 ระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบสวนคดี นายสับปะรดได้ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้ลงโทษนายชะอมข้อหานายชะอมทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตราย แก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้ ต่อมาเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายชะอมต่อศาลข้อหานายชะอมทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 เข้ามาอีกคดีหนึ่ง

นายชะอมให้การต่อสู้ว่าคดีของพนักงานอัยการเป็นการฟ้องซ้ําตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาตรา 39 (4)

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายชะอมถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2. การกระทําของจําเลยเป็นการกระทํากรรมเดียวกัน

3. ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสับปะรดได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหานายชะอมว่านายชะอมทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจขอให้ดําเนินคดีแก่นายชะอมตาม ป.อาญา มาตรา 295 และในระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบสวนคดีอยู่นั้น นายสับปะรดได้ยืน ฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายชะอมในข้อหาทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจตาม ป.อาญา มาตรา 295 และคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนเสร็จสิ้น การที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายชะอม ต่อศาลในข้อหาทําร้ายนายสับปะรดจนเป็นเหตุให้นายสับปะรดเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อาญา มาตรา 295 เข้ามาอีกคดีหนึ่งนั้น แม้คดีที่พนักงานอัยการฟ้องกับคดีที่นายสับปะรดผู้เสียหายได้ฟ้องในคดีแรก จะเป็นจําเลยคนเดียวกันและเป็นการกระทํากรรมเดียวกันก็ตาม แต่คดีแรกที่ผู้เสียหายได้ฟ้องไว้นั้น ศาลชั้นต้น ยังมิได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง การที่พนักงานอัยการได้นําคดีเรื่องนี้มาฟ้องอีกจึงไม่เป็น ฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้นข้อต่อสู้ของนายชะอมที่ว่าฟ้องของพนักงานอัยการเป็นฟ้องซ้ำจึงไม่ถูกต้อง

สรุป ข้อต่อสู้ของนายจะอมไม่ถูกต้อง

 

ข้อ 4. ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวด จึงรีบวิ่งไปบริเวณที่ได้ยินเสียงนั้น เมื่อไปถึง
บริเวณที่ได้ยินเสียง ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมเห็นนายหน่อไม้นอนจมกองเลือดและพบนายเท่ายืนถือมีดซึ่งมีเลือดติดอยู่ยืนอยู่ข้างตัวนายหน่อไม้ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงแจ้งแก่นายเทาว่าต้องถูกจับและทําการจับนายเท่าทันทีโดยไม่มีหมายจับ

ดังนี้ การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบ ในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 ได้วางหลักไว้ว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มี หมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่น เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําผิดซึ่งหน้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 80 เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวด จึงรีบวิ่งไปยังบริเวณ ที่ได้ยินเสียง เมื่อไปถึงบริเวณที่ได้ยินเสียง ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมเห็นนายหน่อไม้นอนจมกองเลือดและพบนายเทา ยืนถือมีดซึ่งมีเลือดติดอยู่ยืนอยู่ข้างตัวนายหน่อไม้นั้น แม้ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจะไม่เห็นนายเทาใช้มีดแทงนายหน่อไม้ แต่ถือเป็นกรณีที่ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมพบในอาการใดซึ่งแทบไม่มีความสงสัยเลยว่า นายเทาได้กระทําความผิดมาแล้ว สด ๆ ดังนั้น ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงมีอํานาจในการจับนายเทาได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับของ ร.ต.ต.ยอดเยี่ยมชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement