การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. เอขับรถมาด้วยความเร็วสูงพุ่งชนบีซึ่งกําลังเดินข้ามถนนบนทางม้าลายเนื่องจากไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ที่ถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ต้องตัดขาข้างซ้ายของปีเพื่อช่วยชีวิต บีรู้สึก เสียใจมากที่ต้องสูญเสียขาจึงใช้เชือกผูกคอตนเองจนถึงแก่ความตาย ดังนี้ เอจะมีความผิดต่อชีวิตหรือร่างกายฐานใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทํา โดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 300 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส
ต้องระวางโทษ…”
ประกอบด้วย

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300
1. กระทําด้วยประการใด ๆ
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอขับรถมาด้วยความเร็วสูงพุ่งชนบีซึ่งกําลังเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย เนื่องจากไม่สามารถหยุดรถได้ทัน และถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ต้องตัดขาข้างซ้ายของบีเพื่อช่วยชีวิตนั้น การกระทําของเอถือเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ กล่าวคือเป็นการกระทําโดยปราศจาก ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวัง เช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้น เมื่อปีได้รับอันตรายสาหัส เอจึงมีความผิดต่อร่างกายฐานกระทํา โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300

ส่วนกรณีที่มีรู้สึกเสียใจมากที่ต้องสูญเสียขาจึงใช้เชือกผูกคอตนเองจนถึงแก่ความตายนั้น เอไม่ต้องรับผิดในความตายของปี เพราะความตายของปีนั้นเกิดจากการที่บีฆ่าตนเองซึ่งเป็นเหตุแทรกแซงที่ ไม่อาจคาดหมายได้

สรุป เอมีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300

 

ข้อ 2. นายเสือจับตัวนางทับทิมไปเพื่อเรียกค่าไถ่โดยนําตัวนางทับทิมไปขังไว้ที่บ้านพักแถบชานเมือง แล้วตัวนายเสือก็กลับเข้าไปในเมืองเพื่อจัดหาอาหารโดยตั้งใจว่าจะทําการเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของนางทับทิม หลังจากนั้นขณะที่กําลังเดินอยู่ในตลาดนายเสือก็ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมตัวนายเสือจึงต้องยอมพาเจ้าพนักงานตํารวจไปปล่อยตัวนางทับทิมโดยนายเสือยังไม่ได้ทําการเรียกค่าไถ่และนางทับทิมก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายเสือมีความผิดฐานเรียกค่าไถ่หรือไม่ และจะได้รับการลดโทษให้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 313 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(3) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 316 “ถ้าผู้กระทําความผิดตามมาตรา 313 มาตรา 314 หรือมาตรา 315 จัดให้ผู้ถูก เอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัส หรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา
313 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบด้วย

1. หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด
2. โดยเจตนา
3. เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือจับตัวนางทับทิมไปเพื่อเรียกค่าไถ่โดยนําตัวนางทับทิมไปขังไว้ที่ บ้านพักแถบชานเมือง และได้กระทําโดยเจตนานั้น ถึงแม้ว่านายเสือจะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่เนื่องจากถูกเจ้าพนักงาน ตํารวจจับกุมตัวได้ก่อนก็ตาม แต่เมื่อนายเสือได้กระทําโดยมีเจตนาพิเศษคือเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ การกระทําของ นายเสือจึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 313 วรรคหนึ่ง (3) และเป็นความผิดสําเร็จแล้ว ดังนั้น นายเสือจึงมีความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคหนึ่ง (3)

ส่วนการที่นายเสือได้พาเจ้าพนักงานตํารวจไปปล่อยตัวนางทับทิมออกมา โดยนางทับทิมไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายเสือได้จัดให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนที่ ศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงเป็นเหตุ ให้ศาลลดโทษ คือ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ได้ แต่ต้องลงโทษไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสําหรับความผิดนั้นตามมาตรา 316

สรุป นายเสือมีความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 แต่ศาลลดโทษให้ตามมาตรา 316

 

ข้อ 3. นายดําเข้าไปเปิดไฟฟ้า และแอร์คอดิชั่นในบ้านของนายแดงใช้โดยมิได้รับอนุญาตเป็นเวลาถึง 7 วัน โดยนายแดงต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าถึง 2,000 บาท ดังนี้การกระทําของนายดํา จะมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทํา
ความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1. เอาไป
2. ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต

คําว่า “เอาไป” หมายความว่า เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้ แต่ต้องเป็น การทําให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้ โดยเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์
มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําเข้าไปเปิดไฟฟ้าและแอร์คอดิชั่นในบ้านของนายแดงใช้โดยมิได้ รับอนุญาตเป็นเวลาถึง 7 วัน โดยนายแดงต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าถึง 2,000 บาทนั้น นายดําย่อม ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเป็นการกระทําที่ขาดองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ของคําว่า “เอาไป” เนื่องจากการกระทําของนายดํานั้น นายดําเพียงแต่เปิดใช้ไฟฟ้าเท่านั้นไม่มีการครอบครอง ทรัพย์คือกระแสไฟฟ้าและไม่มีการทําให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมแต่อย่างใด

สรุป นายดําไม่มีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์

 

ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นายดําทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางแดงจํานวน 100,000 บาท กําหนด ชําระคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญา ครั้นถึงกําหนดชําระหนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 นายดํา นําสําเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองมาแสดงต่อนางแดงเพื่อขอขยายระยะเวลาชําระหนี้ ออกไปอีก 1 ปี และขอใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชําระหนี้ต่อไป แต่ปรากฏว่าความจริงแล้ว นายดําโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 ให้แก่บุคคลอื่นไปตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 นางแดงไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยินยอมขยายระยะเวลาชําระหนี้ตามสัญญากู้ออกไปอีก 1 ปี ตามที่นายดําร้องขอโดยยึดถือเอาสําเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เป็นหลักประกัน ให้วินิจฉัยว่านายดํา มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้อง
ระวางโทษ..”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย

1. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2. โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ

3. โดยเจตนา
4. โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางแดงจํานวน 100,000 บาท และเมื่อ ถึงกําหนดชําระหนี้ นายดําได้นําสําเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 ของตนเองมาแสดงต่อนางแดงเพื่อขอขยายระยะเวลา ชําระหนี้ออกไปอีก 1 ปี และขอใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชําระหนี้ต่อไป แต่ปรากฏว่าความจริงแล้ว นายดําไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเพราะนายดําได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 ให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว โดยนางแดงไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยอมขยายระยะเวลาชําระหนี้ตามสัญญากู้ออกไปอีก 1 ปีตามที่นายดําร้องขอโดยยึดถือเอาสําเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันนั้น การกระทําของนายดํา ถือเป็นกระทําโดยทุจริตหลอกลวงนางแดงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแล้ว

แต่อย่างไรก็ดี จากการหลอกลวงของนายดํานั้น ไม่ปรากฏว่านายดําได้รับทรัพย์สินอะไรเพิ่มเติม จากนางแดงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงทําให้นางแดงขยายระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่นายดํา เท่านั้น และไม่ได้ทําให้นางแดงผู้ถูกหลอกลวงทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทํา ของนายดําจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 นายดําจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง

สรุป นายดําไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

Advertisement