การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาของโจทก์จำเลย แต่จำเลยครอบครองไว้เพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลย จำเลยให้การว่าบิดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นมรดกของบิดาที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม บิดาตายมานานหลายปีแล้ว ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
คดีมีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบประการใด
อนึ่ง ถ้าในการชี้สองสถาน ศาลกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบและนำพยานเข้าสืบก่อน แต่ในวันสืบพยาน จำเลยและโจทก์ต่างแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดี
ธงคำตอบ
มาตรา 84 วรรคแรก ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง
(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
มาตรา 1372 สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
วินิจฉัย
คดีมีประเด็นพิพาทประการเดียวว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาหรือไม่ เนื่องจากโจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและเป็นมรดกของบิดาของโจทก์จำเลย จำเลยครอบครองไว้เพียงผู้เดียว จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินมือเปล่าและโจทก์จำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมของบิดา แต่ให้การรับว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาท ประเด็นแห่งคดีจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของบิดา และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่เพียงผู้เดียว
ส่วนคำให้การของจำเลยที่ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยให้การไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ (ฎ. 1801/2539 (ที่ประชุมใหญ่)) ดังนั้นคำให้การของจำเลยที่ปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทมิใช่เป็นมรดกของบิดา แต่เป็นของจำเลย เนื่องจากบิดายกให้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ จึงทำให้คดีมีประเด็นข้อพิพาทประการเดียวดังกล่าวข้างต้น
ส่วนหน้าที่นำสืบในประเด็นดังกล่าวนั้นตกแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดา จำเลยให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทมิใช่เป็นมรดกของบิดา เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 1369 และ 1372 ว่ามีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดา โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง (2) (ปัจจุบันคือ มาตรา 84/1 (ฎ. 1527/2497)
เมื่อได้ความว่าตามกฎหมายโจทก์มีหน้าที่นำสืบ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้สมหน้าที่ โจทก์ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน แม้จำเลยจะไม่คัดค้าน เมื่อไม่มีการสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปทีเดียวไม่ได้ เพราะการที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีโดยถือหน้าที่นำสืบเป็นหลักนั้น ต้องถือตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี โดยยกฟ้องโจทก์ (ฎ. 3059 – 3060/2516)
สรุป คดีมีประเด็นข้อพิพาท คือ ที่พิพาทเป็นมรดกของบิดาหรือไม่ หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์
และถ้าในการชี้สองสถาน ศาลกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบและนำพยานเข้าสืบก่อน แต่ในวันสืบพยานจำเลยและโจทก์ต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี เช่นนี้ โจทก์จะเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้อง