การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 3 ข้อ
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้นายดนัย จำเลยที่ 1 และนายภราดร จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 3 ล้านบาท แก่นายโรเจอร์ โจทก์ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำยอม ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2549 นายโรเจอร์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องนายดนัยให้ล้มละลาย นายดนัยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องและมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อีกทั้งนายภราดรซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษามีฐานะร่ำรวยสามารถชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง จึงพิพากษายกฟ้องให้วินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 9 เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าโดยหลัก การฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 มีหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ
1 ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
2 ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท
3 หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม
เมื่อศาลพิจารณาเอาความจริงได้ทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ศาลก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 14 ทั้งนี้ในกรณีที่หนี้ที่นำมาฟ้องให้ล้มละลายมีลูกหนี้ร่วมหลายคน การพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ คงพิจารณาทรัพย์สินและหนี้สินของลูกหนี้แต่ละคนเป็นการเฉพาะตัว เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลก็พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายได้ แม้ลูกหนี้ร่วมคนอื่นจะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินก็ตาม และกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวล้มละลาย
เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า นายดนัยให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้องจำนวน 3 ล้านบาท ตามมาตรา 9(2) และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามมาตรา 9(1) แล้ว และหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ตามมาตรา 9(3) เพราะคู่ความต้องผูกพันในผลของคำพิพากษานั้นจนกว่าคำพิพากษาจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย (ฎ. 24/2536) เมื่อพิจารณาได้ความจริงครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังกล่าว ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดนัยเด็ดขาด ตามมาตรา 14 ที่นายดนัยจำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ครบกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จึงรับฟังไม่ได้
ส่วนข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ว่านายภราดรลูกหนี้ร่วมมีฐานะร่ำรวย สามารถชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ก็รับฟังไม่ได้เช่นกัน เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน (ฎ. 1866/2548) นายดนัยจึงไม่อาจอ้างเอาการที่นายภราดรสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมด มาเป็นประโยชน์แก่ตนว่าไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ อีกทั้งการที่นายภราดรมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายดนัยล้มละลายที่ศาลจะมีอำนาจยกฟ้องตามมาตรา 14 ตอนท้ายได้ (ฎ. 4287/2543) การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายดนัยเด็ดขาดเท่านั้น จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการอื่นไม่ได้