การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายหมอก นายเมฆให้นายชายยืมรถยนต์ไปใช้เป็นเวลา 8 เดือน นอกจากนี้ นายเมฆได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนางหญิง ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีราคา 2 ล้านบาท ผ่อนชําระทั้งหมด 8 งวด หลังจากทําสัญญาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน นายชายและนางหญิงประสบ อุบัติเหตุเสียชีวิต ดังนี้ สิทธิที่นายชายและนางหญิงได้รับเป็นมรดกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

วินิจฉัย

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดก ตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ์ หน้าที่ และความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท

กรณีตามอุทาหรณ์ สิทธิที่นายชายและนางหญิงได้รับเป็นมรดกหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 สิทธิตามสัญญายืม

การที่นายเมฆให้นายชายยืมรถยนต์ไปใช้เป็นเวลา 8 เดือนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูป ซึ่งตามกฎหมายสัญญายืมใช้คงรูปย่อมระงับไปเมื่อผู้ยืมตาย (ป.พ.พ. มาตรา 648) ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากทําสัญญาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน นายชายผู้ยืมได้ถึงแก่ความตาย สัญญายืมใช้คงรูประหว่างนายเมฆกับนายชาย จึงต้องระงับไป และมีผลทําให้สิทธิในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมของผู้ยืมซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นการเฉพาะตัว ของผู้ตาย (ผู้ยืม) จึงต้องระงับไปด้วย ดังนั้น สิทธิที่นายชายผู้ยืมได้รับจึงไม่เป็นมรดก

2 สิทธิตามสัญญาซื้อขาย

การที่นายเมฆได้ทําสัญญาซื้อขายที่ดินกับนางหญิง ซึ่งที่ดินแปลงนี้มีราคา 2 ล้านบาท และตกลงผ่อนชําระกันทั้งหมด 8 งวดนั้น เมื่อสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น เมื่อนางหญิงได้ถึงแก่ความตายภายหลังจากที่ทําสัญญาแล้ว เป็นเวลา 2 เดือน สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายจึงไม่ระงับลงแต่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของคู่สัญญา ดังนั้น สิทธิที่นางหญิงได้รับตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นมรดก

สรุป

สิทธิตามสัญญายืมที่นายชายได้รับไม่เป็นมรดก แต่สิทธิตามสัญญาซื้อขายที่นางหญิง ได้รับเป็นมรดก

 

ข้อ 2 นายมั่นคงจดทะเบียนสมรสกับนางเดือนมีบุตรคือนายดิน และนายมั่นคงไปมีความสัมพันธ์กับนางดอกไม้จนมีบุตรคือนายแสงซึ่งนายมั่นคงได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ส่วนนายดินนั้น อยู่กินกับนางมกรามีบุตรคือนายดงซึ่งนายดินให้ใช้นามสกุล ส่วนนายดงนั้นต่อมาได้จดทะเบียนรับ นายดิบมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ นายแสงได้จดทะเบียนรับนายสิงห์ มาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายสิงห์มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคือนายสรรค์ ต่อมานายดินและนายดงป่วยและถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายแสงและนายสิงห์ประสบอุบัติเหตุ ถึงแก่ความตาย ต่อมานายมั่นคงป่วยและถึงแก่ความตาย ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายมั่นคงที่มีเงินสด 3,600,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคย เป็นสามี แล้วแต่กรณี”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(4) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดก ทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายมั่นคงถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายมั่นคง จํานวน 3,600,000 บาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิรับมรดก ของนายมันคง ได้แก่

1 นางเดือน เพราะนางเดือนเป็นภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายมั่นคงเจ้ามรดก จึง มีสิทธิรับมรดกของนายมั่นคงในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1457 ส่วนนางดอกไม้ มิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นคงจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดกของนายมั่นคง

2 นายดิน เพราะเมื่อนายดินเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นคงตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่ง จึงมีสิทธิรับมรดกของนายมั่นคงในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)

3 นายแสง เพราะแม้นายแสงจะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายมั่นคงเนื่องจากนายมั่นคง มิได้จดทะเบียนสมรสกับนางดอกไม้ แต่เมื่อนายมั่นคงบิดาได้รับรองแล้วโดยได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา ดังนั้นนายแสงจึงมีสิทธิรับมรดกของนายมั่นคงในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดินและนายแสงได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ดังนั้นทั้งนายดินและนายแสงจึงไม่อาจรับมรดกของนายมั่นคงได้ เพราะทั้งสองไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดก ถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ จะมีบุคคลใดสามารถเข้ารับ มรดกแทนที่ของทั้งสองคนได้หรือไม่ ซึ่งการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643 นั้น ผู้ที่จะรับ มรดกแทนที่ในกรณีที่ทายาทตามมาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกนั้น จะต้องเป็นผู้สืบสันดาน โดยตรงของทายาทดังกล่าวนั้นด้วย

กรณีของนายดิน เมื่อนายดินถึงแก่ความตายแล้ว นายดงซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตาม มาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายดินได้ แต่เมื่อปรากฏว่านายดงได้ถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดกเช่นเดียวกัน กรณีนี้แม้นายดงจะมีผู้สืบสันดานคือนายดิบ แต่เมื่อนายดิบไม่ใช่ ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายดง ดังนั้น นายดิบจึงไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่นายดงได้

ส่วนกรณีของนายแสงนั้น เมื่อนายแสงมีบุตรบุญธรรมคือนายสิงห์ซึ่งมิใช่ผู้สืบสันดาน โดยตรงของนายแสง ดังนั้น นายสิงห์จะเข้ารับมรดกแทนที่นายแสงไม่ได้ และเมื่อนายสิงห์ไม่อาจรับมรดกแทนที่ นายแสงได้ จึงไม่ต้องพิจารณาต่อว่า นายสรรค์ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์จะเข้ารับมรดก 66 6.นนายสิงห์ได้หรือไม่

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายมั่นคงถึงแก่ความตายจึงมีทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับ มรดกของนายมั่นคงเพียงคนเดียว คือ นางเดือนซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มรดกของนายมั่นคงทั้งหมด จํานวน 3,600,000 บาท จึงตกได้แก่นางเดือนแต่เพียงผู้เดียว

สรุป มรดกของนายมั่นคงจํานวน 3,600,000 บาท ตกได้แก่นางเดือนแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3 นายสืบอยู่กินกับนางอรไม่มีบุตรด้วยกัน นายสืบมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือนายส่ง ต่อมานายสืบได้จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายรับนางสาวสมหญิงซึ่งเป็นบุตรของเพื่อนสนิทนายสืบ ที่ถึงแก่ความตายมาเป็นบุตรบุญธรรมของนายสืบ ต่อมานายสืบกลับลักลอบมีความสัมพันธ์กับ นางสาวสมหญิงและนายสืบได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสมหญิง นายส่งเมื่อทราบเรื่องก็ไม่พอใจ นางสาวสมหญิงอย่างมาก จึงไปดักยิงนาวสาวสมหญิงจนถึงแก่ความตาย นายส่งถูกจับและศาล มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกนายส่งเพราะเจตนาฆ่านางสาวสมหญิง นายส่งมีคู่สมรสที่ชอบ ด้วยกฎหมายคือนางสุพรและมีบุตรคือ ด.ช.ลักษณ์ ต่อมานายสืบตรอมใจและป่วยถึงแก่ความตาย ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายสืบที่มีเงินฝากในธนาคาร 10 ล้านบาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1451 “ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้” มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1598/32 “การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451”

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสืบเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกทั้งหมด คือเงินฝากในธนาคาร 10 ล้านบาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลใดบ้าง ที่มีสิทธิรับมรดกของนายสืบในฐานะทายาทโดยธรรมนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีนางสมหญิง การที่นายสืบได้จดทะเบียนรับนางสมหญิงเป็นบุตรบุญธรรม แต่ต่อมา ภายหลังได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น แม้ตามมาตรา 1451 จะได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม ก็ตาม แต่ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1451 ดังกล่าว ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่อย่างใด เพียงแต่มาตรา 1598/32 ได้บัญญัติแต่เพียงว่าให้การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไปเท่านั้น ดังนั้น กรณีของนางสมหญิงนั้น ย่อมถือว่านางสมหญิงเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง มิใช่ทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางสมหญิงได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางสมหญิง จึงไม่มีสิทธิรับมรดกเพราะถือว่านางสมหญิงไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง

2 กรณีนางอร การที่นางอรได้อยู่กินกับนายสืบโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส นางอรจึง มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสืบตามมาตรา 1457 นางอรจึงมิได้เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคสอง ดังนั้น นางอรจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสืบ

3 กรณีนายส่ง เมื่อนายส่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามรดาเดียวกันกับนายสืบ นายส่งจึงเป็น ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (3) ที่มีสิทธิรับมรดกของนายสืบ และแม้ว่านายส่งจะฆ่านางสมหญิงโดยเจตนาและ ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกก็ตาม ก็ไม่ทําให้นายส่งถูกกําจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 (1) เพราะนายส่งมิได้ฆ่าผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน แต่เป็นการฆ่าผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับตนเท่านั้น ดังนั้น นายส่ง จึงมีสิทธิรับมรดกของนายสืบ

และเมื่อนายส่งมิได้ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดไม่ให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ดังนั้น บุตรของนายส่งคือ ด.ช.ลักษณ์ จึงไม่อาจรับมรดกแทนที่นายส่งตามมาตรา 1639 และเมื่อทายาทโดยธรรมที่มี สิทธิรับมรดกของนายสืบมีเพียงคนเดียวคือนายส่ง ดังนั้น นายส่งจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายสืบทั้งหมดจํานวน 10 ล้านบาท แต่เพียงคนเดียวตามมาตรา 1633

สรุป

มรดกของนายสืบจํานวน 10 ล้านบาท ตกได้แก่นายส่งเพียงคนเดียว

 

ข้อ 4 นายดําและนางขาวเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเอกและนายโท นายเอกจดทะเบียนสมรสกับนางอุ้มแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งสองจึงไปรับ ด.ญ.อ้อนมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นายดําได้ทําพินัยกรรมยกบ้าน 1 หลัง ราคา 1,200,000 บาท ให้กับนายโท แต่ทรัพย์มรดกอื่น ๆ นายดําไม่ได้ทําพินัยกรรมยกให้กับใคร ต่อมานายดําถึงแก่ ความตาย นายดํามีทรัพย์มรดกคือบ้าน 1 หลัง ราคา 1,200,000 บาท ตามพินัยกรรม และเงินสด 900,000 บาท นายเอกทําหนังสือสละมรดกทั้งหมดของนายดํา โดยมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขต บางกะปิ ส่วนนายโทได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจํานวน 600,000 บาท ดังนี้ให้ท่านแบ่งมรดกของนายดํา

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1605 “ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทําให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกําจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มีให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1615 วรรคสอง “เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้น สืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้น ต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายดําเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายดํามีมรดกคือ บ้าน 1 หลัง ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม และเงินสด 900,000 บาท ดังนี้ ทรัพย์มรดกของนายดําจะตกได้แก่ใครบ้าง แยกพิจารณา ได้ดังนี้คือ

กรณีเงินสด 900,000 บาท ที่นายดํามิได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ของนายดํา ซึ่งได้แก่

1 นายเอกและนายโท ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1)

2 นางขาว ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับมรดกในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง โดยจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนทายาทชันบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้นนายเอก นายโท และนางขาว จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน คือคนละ 300,000 บาท ตามมาตรา 1633

สําหรับนายโทนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนโดยทุจริตจํานวน 600,000 บาท ถือเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ ดังนั้นนายโทจึงต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดก ของนายดําในฐานะทายาทโดยธรรมเลยตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง และเงินมรดกที่นายโทถูกกําจัดมิให้ได้รับ จํานวน 300,000 บาทนั้น จะต้องนําคืนกองมรดกแล้วนําไปแบ่งให้แก่นายเอกและนางขาวคนละ 150,000 บาท ดังนั้น นายเอกและนางขาวจะได้รับมรดกของนายดําคนละ 450,000 บาท

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเอกได้ทําหนังสือสละมรดกทั้งหมดของนายดํามอบไว้แก่ ผู้อํานวยการเขตบางกะปิ ซึ่งเป็นการสละมรดกที่ได้ทําถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 1612 ดังนั้น ด.ญ.อ้อน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม และมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1) จึงมีสิทธิสืบมรดก ได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนที่นายเอกผู้สละมรดกจะได้รับคือ 450,000 บาท ตามมาตรา 1615 วรรคสอง

สําหรับบ้าน 1 หลังราคา 1,200,000 บาท ถือเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นายดํา ทําพินัยกรรมยกให้กับนายโทโดยเฉพาะ จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1605 วรรคสอง คือ บ้านจะตกได้แก่นายโท ในฐานะผู้รับพินัยกรรม โดยนายโทจะไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกในส่วนนี้

สรุป

มรดกของนายดําที่เป็นเงินสด 900,000 บาท ตกได้แก่นางขาวและด.ญ.อ้อน คนละ 450,000 บาท ส่วนบ้าน 1 หลัง ราคา 1,200,000 บาท ตกได้แก่นายโทตามพินัยกรรม

Advertisement