การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีนายเอกดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 นายโทดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 นางสาวสวย ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และมีนายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่จนถึงนายยี่สิบ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 กับผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งนี้ โดยผู้พิพากษาทั้งหมดมีอาวุโสเรียงตามลำดับ นายเอกได้จ่ายสำนวนคดีแพ่งทุนทรัพย์สี่สิบล้านให้แก่นายสาม นายเจ็ด และนายเก้าเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา เมื่อผู้พิพากษาทั้งสามได้รับสำนวนคดีแล้ว ต่อมาในวันรุ่งขึ้น นายเก้าหัวใจวายถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ในระหว่างนั้นนายเอกได้เดินทางไปราชการต่างประเทศ นายโทจึงมอบหมายให้นายห้าเป็นองค์คณะแทนนายเก้าซึ่งถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายโทชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(2) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณีมอบหมาย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
นายเอก ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จ่ายสำนวนคดีให้แก่นายสาม นายเจ็ด และนายเก้าเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเรื่องหนึ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ 40 ล้านบาท ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 27 วรรคแรก ที่บังคับว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายโท รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 มอบหมายให้นายห้า เป็นองค์คณะแทนนายเก้า ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 28 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในระหว่างการพิจารณาคดี เช่น เจ็บป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น เป็นต้น ทำให้ขาดองค์คณะพิจารณาคดี บทบัญญัติมาตรา 28(2) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้
การที่นายเก้าหัวใจวายถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาคดี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 28(2) ที่ให้ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นองค์คณะแทน หรือมอบหมายให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 คนใดคนหนึ่งเป็นองค์คณะแทนก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเอก ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เดินทางไปราชการต่างประเทศ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ต้องให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นผู้ทำการแทนตามมาตรา 8 วรรคสอง นายโทซึ่งเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องเป็นผู้ทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1
ดังนั้นการที่นายโท ผู้ทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์มอบหมายให้นายห้า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นองค์คณะแทนนายเก้าซึ่งถึงแก่ความตาย ย่อมสามารถกระทำได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 วรรคท้าย ที่ได้กำหนดให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจตามมาตรา 28(2) ในการมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาคเป็นองค์คณะแทนได้
สรุป การกระทำของนายโท รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม