การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. สมพร และสมบัติเป็นพี่น้องกัน ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล(จดทะเบียน) และนําชื่อสมศักดิ์ซึ่งเป็นบิดาของบุคคลทั้งสองเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนนี้ ดําเนินกิจการไปได้สองปีก็ขาดเงินสดหมุนเวียน สมพรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงได้กู้ยืมเงินจาก ธนาคารมาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญสมศักดิ์พาณิชย์ (นิติบุคคล) และห้างฯ ยังเป็นหนี้ค่าจ้าง พนักงานของห้างฯ อีกด้วย ดังนี้ ถามว่าถ้าห้างหุ้นส่วนสามัญสมศักดิ์พาณิชย์ (นิติบุคคล) ไม่ชําระหนี้ เงินกู้ต่อธนาคาร และไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้พนักงานของห้างฯ ธนาคารก็ดี พนักงานของห้างฯ ก็ดี จะเรียกร้องให้สมศักดิ์ซึ่งเป็นบิดาของหุ้นส่วนทั้งสองชําระหนี้ร่วมกับสมพรและสมบัติได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดา การค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1054 วรรคแรก “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษร ก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1050 ได้บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญ จะต้องร่วมกันรับผิด และโดยไม่จํากัดจํานวนในบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ได้จัดทําไป ในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น

และตามมาตรา 1054 วรรคแรก ได้บัญญัติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน แต่ได้แสดงตนว่า เป็นหุ้นส่วน หรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วน และต้องรับผิดก็แต่เฉพาะ ในกรณีที่บุคคลภายนอกถูกหลอกลวง หรือหลงผิดเข้าใจว่าบุคคลนั้นเป็นหุ้นส่วน และหนี้ของห้างหุ้นส่วนได้เกิดขึ้น และเป็นผลโดยตรงจากการที่บุคคลนั้นได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนหรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมศักดิ์ได้ยินยอมให้สมพรและสมบัติบุตรทั้งสองใช้ชื่อของตนเป็น ชื่อห้างหุ้นส่วน สมศักดิ์จะต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ อย่างไรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีหนี้เงินกู้ การที่สมพรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้ใน กิจการของห้างฯ ถือว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าว เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่หุ้นส่วนได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขาย ของห้างหุ้นส่วน ดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 1050 และบุคคลที่ได้ยินยอมให้ใช้ ชื่อของตนเป็นชื่อห้างฯ ก็ต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนั้นสมศักดิ์จึงต้องรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้ด้วยตามมาตรา 1054 วรรคแรก

2 กรณีหนี้ค่าจ้าง ที่ห้างฯ ค้างชําระแก่พนักงาน หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาจ้าง ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ทําไว้ต่อกัน ไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากการที่บุคคลภายนอกถูกหลอกลวง หรือหลงผิดว่า สมศักดิ์เป็นหุ้นส่วน และไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นและเป็นผลโดยตรงจากการที่สมศักดิ์ได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างฯ ดังนั้นสมศักดิ์จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าจ้างดังกล่าว อีกทั้งสมศักดิ์ก็มิได้เป็นนายจ้างของพนักงานของห้างฯ แต่อย่างใด บุคคลที่จะต้องรับผิดในหนี้ค่าจ้างดังกล่าว คือ สมพรและสมบัติซึ่งเป็นนายจ้าง

สรุป

ธนาคารสามารถเรียกร้องให้สมศักดิ์ร่วมรับผิดในการชําระหนี้เงินกู้ร่วมกับสมพรและ สมบัติได้ แต่พนักงานของห้างฯ จะเรียกร้องให้สมศักดิ์ชําระหนี้ร่วมกับสมพรและสมศักดิ์ไม่ได้

 

ข้อ 2. สมร และศรี ตกลงเข้าทุนกัน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด โดยใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีสมร โดยศรีเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนสมรเป็นหุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนนี้จดทะเบียนจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ดําเนินกิจการมาได้ห้าปีเศษ ศรีต้องการขยายกิจการ ศรีจึงกู้ยืมเงินจากสมหมายมาดําเนินการจํานวน 5 แสนบาท สมรทราบข่าว เรื่องการกู้ยืมเงิน ก็ไม่พอใจ จึงโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้ชมพู่และจดทะเบียนออกจากหุ้นส่วนไป พร้อมจดทะเบียนให้ชมพู่มาเป็นหุ้นส่วนแทนตน ศรีจึงได้ทําการเปลี่ยนชื่อห้างหุ้นส่วนฯ เสียใหม่ เป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีราชาพาณิชย์ หลังจากสมรออกจากห้างหุ้นส่วนไปได้หนึ่งปีเศษ หนี้เงินกู้ ก็ถึงกําหนดชําระ แต่ห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีราชาพาณิชย์ไม่มีเงินชําระหนี้ ดังนี้ถามว่า เจ้าหนี้จะฟ้อง ให้สมรรับผิดในหนี้เงินกู้นี้ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

มาตรา 1080 วรรคแรก “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

มาตรา 1082 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดย แสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมรซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตน ระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีสมร สมรจึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ เสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วนจําพวก ไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก

และเมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นเป็นหนี้เงินกู้ยืมสมหมายจํานวน 5 แสนบาท และสมรได้โอนหุ้น ของตนทั้งหมดให้ชมพู่และจดทะเบียนออกจากหุ้นส่วนไป พร้อมจดทะเบียนให้ชมพู่มาเป็นหุ้นส่วนแทนตนนั้น กรณีนี้แม้สมรจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปแล้ว แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่สมรจะได้ออกจาก หุ้นส่วนไป สมรจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วยตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1080 วรรคแรก และแม้ว่าต่อมา ห้างฯ จะได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดศรีราชาพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสมรได้ออกจาก ห้างหุ้นส่วนจํากัดไปยังไม่เกินสองปี ดังนั้นสมรจึงต้องรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจาก การเป็นหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคแรก เจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องให้สมรรับผิดในหนี้ เงินกู้รายนี้ได้

สรุป เจ้าหนี้ฟ้องให้สมรรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้ได้

 

ข้อ 3. บริษัท นิติธรรม จํากัด ต้องการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่จํานวน 50,000 หุ้น จึงเรียกผู้ถือหุ้นของบริษัท จํานวน 8 คน มาประชุมใหญ่รวมกันในวันที่ 31 มกราคม 2556 โดยส่งหนังสือเรียกประชุม ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทกระทําโดยขั้นตอนที่ถูกต้องครบถ้วน ตามที่กําหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติ พิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมติด้วย”

มาตรา 1220 “บริษัทจํากัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของ ประชุมผู้ถือหุ้น”

วินิจฉัย

โดยหลักกฎหมายมาตรา 1220 การเพิ่มทุนของบริษัทโดยการออกหุ้นใหม่นั้น จะต้องกระทํา โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้นคําบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นจึงต้องกระทําก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และจะต้องทําตามขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1175 กล่าวคือต้องลงพิมพ์โฆษณา ในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท นิติธรรม จํากัด ต้องการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ และได้ ส่งคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในวันที่ 20 มกราคม 2556 เพื่อทําการประชุมในวันที่ 31 มกราคม 2556 จึงถือว่า ไม่ได้ส่งคําบอกกล่าวไม่น้อยกว่าสิบสี่วันก่อนวันนัดประชุม และในการส่งหนังสือเรียกประชุมทางไปรษณีย์ ก็ไม่ปรากฏว่าใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ แม้จะได้ทําการประกาศทางหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่แล้วก็ตาม ดังนั้นจึงถือได้ว่า คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทไม่ได้กระทําโดยถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนที่กําหนด ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สรุป

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทกระทําโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนที่ กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Advertisement