การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแดงประกอบอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เป็นการส่วนตัว โดยมีนายเหลืองเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ตรวจดูรถที่มีผู้นํารถยนต์ใช้แล้วมาขายให้นายแดง เนื่องจากนายเหลืองมีความชํานาญ ในการดูรถยนต์ที่มีร่องรอยตําหนิมาก่อนอย่างไรหรือไม่ มีการชนหนักมาแล้วหรือไม่ และนายแดงจะบอกกับผู้นํารถยนต์มาขายให้ตนว่านายเหลืองเป็นหุ้นส่วนกับตนทุกครั้งที่มีผู้นํารถยนต์มาขาย ทั้งนี้นายเหลืองก็รับรู้แต่ก็มิได้พูดว่ากระไรได้แต่ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจที่คนเข้าใจว่าตนลงหุ้นกับ นายแดง ต่อมาปรากฏว่า เช็คที่นายแดงจ่ายเป็นค่าซื้อรถยนต์มาขายในกิจการ ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงิน เนื่องจากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย ดังนี้ บุคคลผู้ที่ทรงเช็ค (เจ้าหนี้ค่ารถยนต์) จะฟ้องให้ นายเหลืองร่วมรับผิดได้หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่านายเหลืองมีที่ดินหลายแปลงที่บิดายกกรรมสิทธิ์ให้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็น หุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน แต่ได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน หรือยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงประกอบอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เป็นการส่วนตัว โดยมีนายเหลืองเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ตรวจดูรถที่มีผู้นํารถยนต์ใช้แล้วมาขายให้นายแดง และนายแดงจะบอกกับผู้นํา รถยนต์มาขายให้ตนว่านายเหลืองเป็นหุ้นส่วนกับตนทุกครั้งที่มีผู้นํารถยนต์มาขาย ซึ่งนายเหลืองก็รับรู้แต่ก็ มิได้พูดว่ากระไรได้แต่ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจที่คนเข้าใจว่าตนลงหุ้นกับนายแดงนั้น กรณีนี้ถือว่านายเหลืองรู้แล้ว แต่ไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนตามนัยของมาตรา 1054 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น นายเหลือง จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินต่าง ๆ เสมือนว่านายเหลืองและนายแดงเป็นหุ้นส่วนกัน และ ร่วมกันตั้งห้างหุ้นส่วนเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์กันจริง ๆ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เช็คที่นายแดงจ่ายเป็นค่าซื้อรถยนต์มาขายในกิจการ ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย ดังนี้ บุคคลที่เป็นผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่ารถยนต์ย่อมสามารถฟ้องให้ นายเหลืองร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งว่านายเหลืองเป็นหุ้นส่วนกับนายแดงตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

สรุป

บุคคลผู้ทรงเช็ค (เจ้าหนี้ค่ารถยนต์) สามารถฟ้องให้นายเหลืองร่วมรับผิดได้เสมือนหนึ่งว่า นายเหลืองเป็นหุ้นส่วนกับนายแดงตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 2.ห้างหุ้นส่วนจํากัดสามมิตร มีนายสมศักดิ์ นายสมพงษ์ และนายสมพรเป็นหุ้นส่วนกัน โดยจดทะเบียน ให้นายสมศักดิ์หุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายสมพงษ์และนายสมพร เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ทั้งสามคนลงหุ้นด้วยเงินสดเท่า ๆ กัน คนละ 1,000,000 บาท โดยได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้วทุกคน ห้างฯ มีวัตถุประสงค์ซื้อขายแลกเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือชั้นนํา ทุกยี่ห้อ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดขาดเงินสดหมุนเวียน นายสมศักดิ์จึงมอบหมายให้นายสมพรไปกู้ยืมเงิน จากธนาคารมาใช้จ่ายในห้างฯ โดยมีหนังสือมอบอํานาจให้นายสมพรกู้เงินแทนห้างหุ้นส่วนจํากัดได้ ในวงเงินไม่เกินสองแสนบาท นายสมพรจึงกู้เงินจากธนาคารจํานวนสองแสนบาทในนามห้างฯ โดยนายสมพรลงชื่อในช่องผู้กู้แทนห้างฯ และประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดลงไป และได้นําเงินกู้ เข้าบัญชีห้างฯ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้นี้ถึงกําหนดชําระ ห้างหุ้นส่วนจํากัดสามมิตรไม่มีเงิน ชําระหนี้และดอกเบี้ยได้ ธนาคารเจ้าหนี้จึงฟ้องให้นายสมศักดิ์และนายสมพรรับผิดร่วมกัน โดยอ้างว่า นายสมพรสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ เนื่องจากกู้ยืมเงินแทนห้างฯ แต่นายสมพรอ้างว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ผู้เป็นหุ้นส่วนจัดการให้เป็นผู้กู้ยืมเงินแทนห้างฯ ได้ นายสมพร จึงมีฐานะเป็นเพียงตัวแทนเท่านั้นจึงไม่ควรต้องรับผิด

ดังนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายสมพรรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1087 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัด จํานวน”

วินิจฉัย

ในห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น จะต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น เป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่มีอํานาจจัดการ (มาตรา 1087) ถ้าหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของ ห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน (มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัดสามมิตร ได้มอบหมายให้นายสมพรซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไปกู้ยืมเงิน จากธนาคารเพื่อมาใช้จ่ายในห้างฯ โดยมีหนังสือมอบอํานาจให้นายสมพรกู้เงินแทนห้างหุ้นส่วนจํากัดได้ และ นายสมพรได้กู้เงินจากธนาคารจํานวนสองแสนบาทในนามของห้างฯ โดยนายสมพรลงชื่อในของผู้กู้แทนห้างฯ และประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดลงไปและได้นําเงินที่กู้เข้าบัญชีห้างฯ เรียบร้อยแล้วนั้น การกระทําของนายสมพร ดังกล่าวแม้จะได้รับมอบอํานาจจากหุ้นส่วนผู้จัดการก็ตามก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงาน ของห้างหุ้นส่วนจํากัดตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่งแล้ว กรณีนี้จะนําบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นการที่นายสมพรกล่าวอ้างว่าได้รับมอบหมายจากห้างฯ แล้ว ตนจึงมีฐานะเป็นเพียงแค่ตัวแทนเท่านั้น จึงเป็น ข้อกล่าวอ้างที่รับฟังไม่ได้เพราะถ้ามีการยอมรับว่าเมื่อได้มีการมอบอํานาจแล้ว หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนนั้นก็สามารถจัดการได้และไม่ถือว่าเป็นการสอดก็จะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ต้องการให้ หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดเป็นผู้จัดการหรือเข้าจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัดตามมาตรา 1087 และถ้า หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้นั้นก็จะต้องรับผิด ร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น กรณีนี้ธนาคารเจ้าหนี้ จึงสามารถฟ้องให้นายสมศักดิ์และนายสมพรร่วมกันรับผิดในการชําระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยได้

สรุป ข้ออ้างของนายสมพรรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 3. การบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเลือกกรรมการบริษัทที่วาระของการดํารงตําแหน่งสิ้นสุดลง จะต้องดําเนินการบอกกล่าวด้วยวิธีใดจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย”

ในการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเลือกกรรมการบริษัทที่วาระของการดํารงตําแหน่ง สิ้นสุดลงนั้น ถือว่าเป็นการบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติธรรมดามิใช่เป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ เพื่อลงมติพิเศษ ซึ่งการบอกกล่าวนั้นจะต้องดําเนินการบอกกล่าวตามที่มาตรา 1175 ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่า 7 วัน และ

2 จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน

3 ในคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการ ที่จะได้ประชุมปรึกษากันด้วย

Advertisement