การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. สายสวรรค์เข้าหุ้นกับแนบชิดและแนบภู โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ตกลงให้สายสวรรค์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนมีวัตถุประสงค์จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทําการค้า ระหว่างประเทศ และรับปรึกษาคดีความเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีแนบภูเป็นวิทยากร ฝึกอบรม กิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นที่รู้จักของบุคคลในแวดวงที่ทําธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นจํานวนมาก แนบภูเห็นว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนประสบผลสําเร็จ มีกําไรดีทุกปี แนบภูจึงชักชวน สิงหาซึ่งจบการศึกษาทางกฎหมายระหว่างประเทศ สาขาประกันภัยทางทะเลมาร่วมหุ้นกับตน โดยตั้ง เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์รับปรึกษาคดีความเกี่ยวกับการค้าขายระหว่าง ประเทศ เช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนที่แนบภูเข้าหุ้นกับสายสวรรค์และแนบชิด แต่ในห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียนที่แนบภูเข้าหุ้นกับสิงหานี้ แนบภูตกลงให้สิงหาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโดยแนบภูทําหน้าที่ ให้คําปรึกษาคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศตามที่มีลูกค้ามาขอรับคําปรึกษา โดยห้างฯ คิดค่าตอบแทนจากลูกค้าชั่วโมงละ 5,000 บาท ต่อมาสายสวรรค์และแนบชิดทราบว่า แนบภูเข้าหุ้นกับสิงหา และทําธุรกิจเช่นเดียวกับที่แนบภูเข้าหุ้นกับตน สายสวรรค์จึงเรียกเอาผลกําไร จากแนบภูทั้งหมด แต่แนบภูก็เถียงว่า ตนมิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1038 ก็มิได้ห้ามหุ้นส่วนคนใดไปลงหุ้นกับคนอื่นอีกจึงไม่ต้องรับผิดต่อสายสวรรค์และแนบชิด ดังนี้ข้ออ้างของแนบภูฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะ เรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะ เหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1038 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ประกอบกิจการที่มีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการค้าขายแข่งกับห้างฯ หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็สามารถเรียกเอาผลกําไรทั้งหมด หรือ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเพียงแต่ไปลงหุ้นกับผู้อื่นโดยมิได้เป็นผู้ดําเนิน กิจการในห้างหุ้นส่วนอันใหม่นั้น แม้ว่ากิจการที่ร่วมลงหุ้นนั้นจะมีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แนบภูชักชวนสิงหามาร่วมหุ้นกับตน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์รับปรึกษาคดีความเกี่ยวกับการค้าขายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนที่แนบภูเข้าหุ้น กับสายสวรรค์และแนบชิดนั้น ถือเป็นกรณีที่แนบภูประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ตน ได้เข้าหุ้นกับสายสวรรค์และแนบชิดแล้ว เนื่องจากห้างหุ้นส่วนที่แนบภูเข้าหุ้นกับสายสวรรค์และแนบชิด ก็ทําธุรกิจ รับปรึกษาคดีความเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ จึงเท่ากับว่าแนบภูประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างฯ เพื่อประโยชน์ของตนและของผู้อื่น อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1038 อนึ่ง ถึงแม้แนบภูจะอ้างว่าตนมิได้เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการ และ ป.พ.พ. มาตรา 1038 ก็มิได้ห้ามหุ้นส่วนคนใดไปลงหุ้นกับคนอื่นอีก จึงไม่ต้องรับผิดต่อ สายสวรรค์และแนบชิดก็ตาม แต่เมื่อดูลักษณะการกระทําของแนบภูแล้ว จะเห็นว่าแนบภูเป็นผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งเป็นผู้ดําเนินกิจการในห้างหุ้นส่วนใหม่อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของ ห้างหุ้นส่วนเดิมที่แนบภูเข้าหุ้นกับสายสวรรค์และแนบชิด ดังนั้นข้ออ้างของแนบภูดังกล่าวจึงเป็นข้ออ้างที่มิชอบ ด้วยหลักของกฎหมาย และฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของแนบภูฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดสมพรก่อสร้าง มีนายสมพรเข้าหุ้นกับนายจักรินทร์ โดยนายสมพรเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายจักรินทร์เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ก่อนจดทะเบียนจัดตั้ง นายสมพรได้สั่งซื้อปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นไว้เป็นเงิน 500,000 บาท ได้นํามา จําหน่ายในกิจการค้าขายของห้างหุ้นส่วนจํากัดสมพรก่อสร้าง เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดได้จดทะเบียน จัดตั้งแล้ว และต่อมาหนี้ดังกล่าวใกล้ถึงกําหนดชําระ แต่ห้างหุ้นส่วนจํากัดสมพรก่อสร้าง ไม่มีเงินพอ ที่จะชําระหนี้ได้ นายสมพรจึงได้กู้ยืมเงินจากนางสาวเพียงใจมาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน 200,000 บาท นายจักรินทร์เห็นว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนฯ น่าจะไปไม่รอด จึงโอนเงินลงหุ้นของตน ทั้งหมดให้นางสาวสุมนาและจดทะเบียนให้นางสาวสุมนาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด แทนตน และได้จดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนไปได้ 1 ปีเศษแล้ว ต่อมาหนี้ค่าเหล็กเส้น หนี้ค่า ปูนซีเมนต์ และหนี้เงินกู้ได้ถึงกําหนดชําระ แต่ห้างหุ้นส่วนจํากัดไม่มีเงินชําระหนี้ ดังนี้ เจ้าหนี้ของ ห้างฯ จะฟ้องให้นายจักรินทร์ซึ่งออกจากห้างฯ ไปแล้วให้รับผิดได้หรือไม่ ถ้านายจักรินทร์ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

มาตรา 1080 วรรคแรก “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีหนี้ค่าเหล็กเส้นและหนี้ค่าปูนซีเมนต์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่ห้างฯ จะจดทะเบียน จัดตั้งเป็นนิติบุคคล นายสมพรได้สั่งซื้อปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นไว้เป็นเงิน 500,000 บาท เพื่อนํามาจําหน่ายใน กิจการค้าขายของห้างฯ และยังมิได้ชําระหนี้ เช่นนี้ เจ้าหนี้ของห้างฯ ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้นายจักรินทร์หุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิดให้ร่วมกันรับผิดกับห้างฯ ได้ เพราะว่าหนี้ค่าเหล็กเส้นและหนี้ค่าปูนซีเมนต์ได้เกิดขึ้นก่อนที่ จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด จึงถือว่าขณะที่ก่อหนี้นั้นห้างฯ ยังคงเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดหรือจําพวกไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิด ร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวนตามมาตรา 1079 และแม้ว่านายจักรินทร์จะออกจาก ห้างหุ้นส่วนไปแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีเศษก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัด เนื่องจากหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้น ก่อนที่นายจักรินทร์ลาออกจากห้างฯ จึงต้องรับผิดตามมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 โดยรับผิดภายใน ระยะเวลาไม่เกินสองปีนับตั้งแต่ออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัด

กรณีหนี้เงินกู้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดได้ จดทะเบียนจัดตั้งแล้ว และนายจักรินทร์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดก็ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว นายจักรินทร์จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว แม้ว่านายจักรินทร์ยังคงเป็นหุ้นส่วนอยู่ก็ไม่ต้องรับผิด อีกทั้งข้อเท็จจริง ยังปรากฏอีกว่านายจักรินทร์ได้โอนหุ้นให้แก่นางสาวสุมนาไปหมดแล้ว และออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัดไปแล้ว ดังนั้น นางสาวเพียงใจจึงฟ้องนายจักรินทร์ให้รับผิดในหนี้เงินกู้ไม่ได้

สรุป

เจ้าหนี้ของห้างฯ สามารถฟ้องให้นายจักรินทร์ซึ่งออกจากห้างฯ ไปแล้วให้รับผิดในหนี้ ค่าเหล็กเส้นและหนี้ค่าปูนซีเมนต์ได้ ส่วนนางสาวเพียงใจจะฟ้องนายจักรินทร์ให้รับผิดในหนี้เงินกู้ไม่ได้

 

ข้อ 3. กรรมการบริษัท ใบเตย จํากัด ได้นัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติในเรื่องตั้งกรรมการบริษัท โดยส่งคํา

บอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 และ หนังสือบอกกล่าวนัดประชุมได้กําหนดวันประชุมในวันที่ 9 ตุลาคม 2556 เวลา 10.00 น. ณ ที่ทําการ บริษัท นายเล็งผู้ถือหุ้นคนหนึ่งได้รับหนังสือนัดประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2556 แต่เมื่อถึง วันประชุม นายเส็งมิได้ไปประชุมและมิได้มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมด้วย แต่นายเส็งไม่พอใจ มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่เลือกนายเฮงเป็นกรรมการ เพราะนายเส็งไม่ถูกกับนายเฮง นายเส็งจึงมา ปรึกษากับท่านว่า จะมีทางใดบ้างที่เป็นเหตุให้ฟ้องเพิกถอนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ได้ ให้ท่าน แนะนํานายเล็งด้วย

ถึงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

 

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย”

มาตรา 1195 “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติ ในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอน มติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเสงมาปรึกษาข้าพเจ้าว่า จะมีทางใดบ้างที่เป็นเหตุให้ฟ้องเพิกถอนมติ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ได้ ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนํานายเล็งดังนี้คือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 นั้นได้กําหนดเอาไว้ว่า คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่จะต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เรื่องใด ที่ต้องลงมติพิเศษจึงจะต้องกระทําก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรรมการบริษัทฯ ได้บอกกล่าวนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติในเรื่อง ตั้งกรรมการบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่เพื่อลงมติ ซึ่งมิใช่มติพิเศษ โดยส่งหนังสือนัดประชุมทางไปรษณีย์ ตอบรับเพียงอย่างเดียว หาได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ด้วยไม่ จึงเป็นการบอกกล่าวนัดประชุม ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1175 และส่งผลให้มติของที่ประชุมใหญ่ในเรื่องดังกล่าวเป็นอันผิดระเบียบไปด้วย ดังนั้นนายเร็งจึงฟ้องศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ แต่ต้องฟ้องภายในกําหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่มีการลงมตินั้นตามมาตรา 1195

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่นายเส็งดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

Advertisement