การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 หนึ่งกระทําโดยประมาทขับรถมาด้วยความเร็ว เมื่อใกล้ถึงทางข้ามก็ไม่ชะลอความเร็ว ทําให้รถเกือบจะชนสองที่กําลังเดินข้ามถนนไปหามารดาที่ข้ามไปก่อนแล้ว เคราะห์ดีที่สองกระโดดหลบทัน มารดาของสองเห็นเหตุการณ์โดยตลอด เมื่อเห็นรถของหนึ่งพุ่งมาจะชนสอง ทําให้มารดาของสองตกใจจนเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันถึงแก่ความตาย ดังนี้ หนึ่งจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดย ปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความ ระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําตอบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ ให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับ เพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประกอบด้วย

1 กระทําด้วยประการใด ๆ

2 การกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3 โดยประมาท

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่หนึ่งกระทําโดยประมาทขับรถด้วยความเร็ว เมื่อใกล้ถึงทางข้ามก็ไม่ชะลอความเร็ว ทําให้รถเกือบจะชนสองที่กําลังเดินข้ามถนนไปหามารดาที่ข้ามไปก่อนแล้วนั้น เมื่อปรากฏว่าสองกระโดดหลบทันจึงไม่ได้รับอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตแต่อย่างใด ดังนั้นหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดต่อสองฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

ส่วนกรณีที่มารดาของสองเห็นรถของหนึ่งพุ่งจะมาชนสอง ทําให้มารดาของสองตกใจจนเกิด อาการหัวใจวายเฉียบพลันถึงแก่ความตายนั้น ถือเป็นผลที่ห่างไกลเกินเหตุ ซึ่งตามปกติแล้วการที่เห็นผู้อื่นกําลัง จะถูกรถชนไม่น่าจะทําให้คนตกใจจนถึงแก่ความตายได้ จึงเป็นการบังเอิญที่มารดาของสองซึ่งเป็นโรคหัวใจได้เห็น เหตุการณ์ดังกล่าว และตกใจจนเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จึงถือว่าความตายของมารดาของสองไม่มี ความสัมพันธ์กับการกระทําของหนึ่ง ดังนั้น หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้น อีกทั้งการกระทําของหนึ่ง ก็ไม่ถือเป็นการกระทําโดยพลาดตามมาตรา 60 เพราะมิใช่เรื่องที่หนึ่งเจตนากระทําต่อสองแล้วไปเกิดผลร้ายแก่มารดา ของสองแต่อย่างใด ดังนั้นหนึ่งจึงไม่มีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291

สรุป หนึ่งไม่มีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ข้อ 2 นายเสือฆ่าคนตายแล้วหลบหนี ในระหว่างทางที่หลบหนีพบนายช้างจอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่พักริมทาง นายเสือใช้อาวุธขู่เข็ญเอารถจากนายช้างแล้วขับขี่รถหลบหนีไป หลังจากหนีไปได้ประมาณ 10 กิโลเมตร นายเสือได้จอดรถทิ้งไว้ข้างทางโดยมิได้ซุกซ่อน ส่วนตัวนายเสือก็หลบหนีต่อไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า นายเสือจะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 309 วรรคแรก “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือ ของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด

2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย

3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือใช้อาวุธขู่เข็ญเอารถจักรยานยนต์จากนายช้าง จนทําให้ นายช้างกลัวและยอมให้นายเสือขับรถไปนั้น การกระทําของนายเสือถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ๆ หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และนายช้างก็ได้จํายอมตามที่ถูกนายเสือข่มขืนใจ หรือขู่เข็ญแล้ว อีกทั้งการกระทําของนายเสือก็เป็นการกระทําโดยเจตนา ดังนั้น นายเสือจึงมีความผิดฐานข่มขืนใจ ผู้อื่นตามมาตรา 309 วรรคแรก

สรุป นายเสือจะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามมาตรา 309 วรรคแรก

 

ข้อ 3 แดงนำวัวไปเลี้ยงยังทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวแห่งหนึ่ง บรากฏว่ามีวัวของขาวกินหญ้าในทุ่งหญ้าแห่งนั้นด้วยทั้งยังมีวัวของคนอื่น ๆ อีกหลายตัวก็กินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าแห่งนั้น ครั้นถึงตอนเย็นวัวของแดงตัวหนึ่ง พลัดหลงไปกับวัวของขาว และแดงรีบตามไปเอาวัวของตน ครั้นขาวนําวัวเข้าคอกแล้วขาวเห็นวัว ของแดงเข้าไปในคอกวัวของขาวด้วยในเวลานั้นเอง แดงจะเข้าไปเอาวัวของตนในคอกวัวของขาว แต่ขาวผลักหน้าอกแดงให้แดงออกไปจากคอกวัว และขาวบอกแดงว่าต้องเอาเงินค่าไถ่มาไถ่วัว ของแดงก่อน 1,000 บาท ถ้าไม่เอาเงินค่าไถ่มาไถ่ ขาวจะไม่ยอมให้วัวคืนกับแดงอย่างแน่นอน ดังนี้

ให้วินิจฉัยว่า ขาวมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 339 วรรคแรก “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่วัวของแดงตัวหนึ่งพลัดหลงไปกับวัวของขาว และแดงได้รีบตามไป เอาวัวของตนในคอกของขาวนั้น ถือว่าวัวยังคงอยู่ในความครอบครองของแดงตลอดเวลา การที่ขาวผลักหน้าอกแดง ให้แดงออกไปจากคอกวัว และขาวบอกแดงว่าต้องเอาเงินค่าไถ่มาไถ่วัวของแดงก่อนนั้น ถือเป็นการเอาทรัพย์ของ ผู้อื่นไปโดยมีลักษณะเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ไปแล้ว การกระทําของขาวจึงเป็นการใช้กําลัง ประทุษร้ายโดยมีเจตนาพิเศษคือ เพื่อยึดถือเอาวัวของแดงไว้ และเมื่อการกระทําของขาวเป็นการกระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ดังนั้น ขาวจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

สรุป ขาวมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339

 

ข้อ 4 เอเก็บสร้อยข้อมือทองคําประดับเพชรมูลค่าประมาณแปดหมื่นบาทได้จากสวนสาธารณะที่มีคนไปออกกําลังกายโดยไม่ทราบว่าเป็นของใคร ทําตกแต่เมื่อใด หลังจากนั้นสามวันมีเจ้าของสร้อยข้อมือ มาติดต่อขอรับสร้อยคืน เพราะมีคนยืนยันว่าเห็นเอเป็นคนเก็บสร้อยได้ เอเกิดความเสียดายอยากได้ สร้อยไว้ จึงหยิบเอาสร้อยข้อมือทองคําของตนที่มีมูลค่าประมาณหนึ่งหมื่นบาทมาส่งคืนให้ โดยหลอกว่าเป็นสร้อยเส้นที่ตนเก็บได้ ดังนี้ เอจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 352 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทําความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสําคัญ ผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทําความผิดเก็บได้ ผู้กระทําต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง”

วินิจฉัย

บทบัญญัติมาตรา 352 วรรคสองเป็นเหตุลดโทษให้แก่ผู้กระทําความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก ถ้าทรัพย์ที่ผู้กระทําความผิดยักยอกนั้นตกมาอยู่ในครอบครองของผู้กระทําความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบ ให้โดยสําคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหาย ซึ่งผู้กระทําความผิดเก็บได้แล้วยักยอกไว้ ผู้กระทําความผิด ต้องรับโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษตามมาตรา 352 วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เจ้าของสร้อยข้อมือทําสร้อยข้อมือทองคําประดับเพชรตกหายในสวนสาธารณะนั้น สร้อยข้อมือดังกล่าวย่อมถือเป็นทรัพย์สินหาย เมื่อปรากฏว่าเอเก็บได้จึงเป็นการครอบครอง ทรัพย์ของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อเจ้าของสร้อยข้อมือมาติดต่อขอรับสร้อยคืน การที่เอปฏิเสธกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าของทรัพย์ จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายตามมาตรา 352 วรรคสอง แม้จะมีการหลอกเอาสร้อยข้อมือ ของตนที่ถูกกว่าไปคืนก็ไม่เป็นฉ้อโกง เพราะจะเป็นฉ้อโกงได้นั้นจะต้องเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ของผู้อื่น แต่กรณีนี้เอได้ทรัพย์สินของผู้อื่นมาอยู่ในความครอบครองอยู่แล้ว แต่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นไป

สรุป เอมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายตามมาตรา 352 วรรคสอง

Advertisement