การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จ่อยขับรถบรรทุกพ่วงมาตามถนนในเวลากลางคืนเกิดยางแตก ทําให้รถต้องจอดกีดขวางช่องทางเดินรถช่องซ้ายสุด จ่อยไม่ได้เปิดไฟสัญญาณให้รถคันอื่นสังเกตเห็น เป็นเหตุให้โจ๋ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ มาด้วยความเร็วไม่สามารถหยุดรถได้ทัน รถของโจ๋ชนท้ายรถพ่วง โจกระเด็นตกจากรถศีรษะฟาดพื้นถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ดังนี้จ่อยจะต้องรับผิดต่อชีวิตฐานใด หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสี่ วรรคห้า “กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทําให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทํา เพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประกอบด้วย

1 กระทําด้วยประการใด ๆ

2 การกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3 โดยประมาท

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่จ่อยขับรถบรรทุกพ่วงมาตามถนนในเวลากลางคืนแล้วเกิดยางแตก ทําให้รถต้องจอดกีดขวางช่องทางเดินรถช่องซ้ายสุดนั้น จ่อยมีหน้าที่ต้องเปิดไฟสัญญาณหรือจัดให้มีเครื่องสัญญาณ ให้รถคันอื่นสังเกตเห็นเพื่อเป็นการเตือนภัยแก่ผู้ขับขี่รถคันอื่นไม่ให้มาชนกับรถที่จ่อยจอดกีดขวางอยู่ แต่จ่อยไม่ทําตามหน้าที่อันเนื่องมาจากการละเลยไม่ใส่ใจ ดังนี้ถือว่าจ่อยได้มีการกระทําโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อ ป้องกันผลตามมาตรา 59 วรรคห้า

และตามวิสัยของผู้ขับรถบรรทุกพ่วงนั้น เมื่อรถต้องจอดกีดขวางช่องทางเดินรถและเป็นเวลา กลางคืน ในภาวะเช่นนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ กล่าวคือจะต้องเปิดสัญญาณไฟหรือจัดให้มีเครื่อง สัญญาณเพื่อให้รถคันอื่นสังเกตเห็น เมื่อจ่อยไม่ทําเป็นเหตุให้โจ๋ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วไม่สามารถ หยุดรถได้ทัน ทําให้รถของโจ๋ชนกับท้ายรถพ่วงและทําให้โจ๋กระเด็นตกจากรถและถึงแก่ความตาย ดังนี้ ถือว่าความตาย ของโจ๋เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทําโดยประมาทของจ่อย ดังนั้นจ่อยจึงมีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 59 วรรคสีและวรรคห้า

สรุป

จ๋อยจะต้องรับผิดต่อชีวิต ฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291

 

ข้อ 2 นายเพชรอายุ 22 ปี กับ น.ส.ทับทิมอายุ 17 ปี คบหาเป็นคนรักกันมาหลายปี คืนวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 21.00 น. น.ส.ทับทิมหนีออกจากบ้านมาหานายเพชรที่ห้องเช่าโดยที่นายเพชรไม่ได้ชักชวน และบอกกับนายเพชรว่าทะเลาะกับคนที่บ้านจึงขอพักค้างคืนที่ห้องด้วย นายเพชรก็ยอมให้ น.ส.ทับทิม พักที่ห้องและมีความตั้งใจจะร่วมประเวณีกับ น.ส.ทับทิม เพราะเห็นว่าเป็นคนรักกันอยู่แล้ว หลังจาก ที่ น.ส.ทับทิมพักอยู่ที่ห้องได้เพียง 15 นาที โดยที่นายเพชรยังไม่ได้ล่วงเกิน น.ส.ทับทิมแต่อย่างใด บิดาของ น.ส.ทับทิมก็ตามมาและพาเอาตัว น.ส.ทับทิมกลับบ้าน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า

นายเพชรจะมีความผิดเกี่ยวกับเสริภาพในฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 319 วรรคแรก “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจาก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปี

2 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

3 โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4 โดยเจตนา

5 เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจาร

องค์ประกอบของความผิดที่สําคัญประการหนึ่งของความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก คือต้องมีการพราก ซึ่งหมายถึงการเอาไปหรือพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ทําให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าวนั้นถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน อันเป็นการล่วงอํานาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์นั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ น.ส.ทับทิมได้หนีออกจากบ้านมาหานายเพชรเองโดยที่นายเพชร ไม่ได้พาหรือชักชวน แต่เป็นกรณีที่ น.ส.ทับทิมสมัครใจไปจากบิดามารดานั้น จึงไม่อยู่ในความหมายของคําว่าพราก อันเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นเมื่อนายเพชรไม่ได้กระทําการอันใดอันเป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก นายเพชรจึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 319 วรรคแรก (ฎีกาที่ 949/2536)

สรุป นายเพชรไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก

 

 

ข้อ 3 จําเลยปีนขึ้นไปบนต้นลําไยของนางแดง จําเลยหักกิ่งลําไยซึ่งมีลูกลําไยติดอยู่ด้วย จากนั้นใส่ไว้ในเข่งซึ่งจําเลยสะพายไว้ด้านหลัง ปรากฏว่าตำรวจผ่านมาพบพอดีและจับจําเลยได้ขณะที่จําเลยอยู่บน ต้นลําไย ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

คําว่า “เอาไป” หมายความว่า เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการทําให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้ โดยเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยขึ้นไปบนต้นลําไยของนางแดง และได้หักกิ่งลําไยซึ่งมีลูกลําไย ติดอยู่ด้วยใส่ไว้ในเข่งซึ่งจําเลยสะพายไว้ด้านหลังนั้น การกระทําของจําเลยถือได้ว่าเป็นการแยกหรือทําให้ผลลําไยนั้น เคลื่อนที่ออกจากต้นและเข้ายึดถือเอาผลลําไยจํานวนนั้นไว้แล้ว และถือได้ว่าจําเลยได้แย่งการครอบครองทรัพย์ ไปจากนางแดงได้สําเร็จแล้ว เมื่อการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยเจตนาและโดยทุจริต การกระทําของจําเลยจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ดังนั้น จําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ (เทียบฎีกาที่ 574/2527)

สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 นาย ก. จอดเรือไว้ที่ท่าน้ำ จากนั้นได้ล่ามโซ่เรือติดกับเสาท่าน้ำพร้อมทั้งล็อคกุญแจ คืนเกิดเหตุขณะที่นาย ก. นั่งเล่นอยู่ในเรือ ปรากฏว่าจําเลยพ่นยาสลบใส่นาย ก. จนนาย ก. สลบไป เสร็จแล้ว จําเลยถือโอกาสใช้ไม้พายพายเรือจนเคลื่อนที่ไปได้ 1 เมตร โดยตั้งใจว่าจะนําเรือเอาไปขาย ขณะเกิดเหตุนายแดงซึ่งเป็นเพื่อนกับนาย ก. มาพบเสียก่อน จําเลยจึงหลบหนีไปโดยจําเลยไม่สามารถ นําเรือไปได้ เนื่องจากติดโซ่ ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 339 วรรคแรก “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยได้พายเรือของนาย ก. เคลื่อนที่ไปได้ 1 เมตร ถือว่าจําเลยมีเจตนา แย่งการครอบครองทรัพย์ของนาย ก. แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือดังกล่าวของนาย ก. ได้มีการล่ามโซ่ติดกับเสา ท่าน้ำพร้อมทั้งล็อคกุญแจไว้ ทําให้จําเลยไม่สามารถเอาไปได้จึงถือว่าการแย่งการครอบครองยังไม่สําเร็จ การกระทําของจําเลยจึงเป็นเพียงการพยายามลักทรัพย์

และการที่จําเลยได้พ่นยาสลบใส่นาย ก. จนนาย ก. สลบไปนั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้าย การกระทําของจําเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือ การพาทรัพย์นั้นไป แต่เมื่อการลักทรัพย์ยังอยู่ในขั้นพยายาม ดังนั้นจําเลยจึงมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339 ประกอบมาตรา 80

สรุป จําเลยมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์

Advertisement