การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2108 (2008) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 แดงได้ทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดง มีกําหนดเวลา 6 ปี ตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันสิ้นเดือน และสัญญาเช่าข้อ 5 ระบุว่า “หากสัญญาเช่า ครบ 6 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าอาคารพาณิชย์ต่อไป อีก 3 ปี” หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า

(ก) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ขาวได้แจ้งความประสงค์ไปยังแดงว่าขาวต้องการเช่าอาคาร ต่อไปอีก 3 ปี แต่แดงอ้างว่าไม่มีคํามั่นจะให้เช่าแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม การปฏิเสธของแดง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

(ข) ขาวเช่าอาคารพาณิชย์มาได้ 1 ปีเท่านั้น แดงได้ขายอาคารพาณิชย์ให้กับดํา การซื้อขา ทําโดยชอบด้วยกฎหมาย ทําให้ขาวเข่าอาคารพาณิชย์จนครบ 6 ปี ครั้นถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ดําฟ้องขับไล่ขาวออกจากอาคาร และให้ขาวส่งมอบอาคารคืน เพราะขาวยังอยู่ในอาคารพาณิชย์ โดยที่ดํามิได้บอกเลิกสัญญาเช่าก่อน คําอ้างว่าครบกําหนดเวลาเช่า 6 ปีแล้ว ดังนี้ การกระทํา ของดําชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้องบังคับ คดีกันได้ ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็น การเช่าที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้ทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่า อาคารพาณิชย์ของแดงมีกําหนดเวลา 6 ปีนั้น สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงและขาวมีผลสมบูรณ์ แต่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เพียง 3 ปี ตามมาตรา 538 ดังนั้น แม้ในสัญญาเช่าข้อ 5 จะระบุว่า “หากสัญญาเช่าครบ 6 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าอาคารพาณิชย์ต่อไป อีก 3 ปี” ก็ตาม แต่เมื่อการเช่าดังกล่าวนั้นได้มีการเช่ากันครบ 3 ปีแล้ว สัญญาเช่าและคํามั่นจะให้เช่า ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับกันอีกต่อไป เมื่อขาวได้แจ้งความประสงค์ไปยังแดงในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ว่า ขาวต้องการเช่าอาคารต่อไปอีก 3 ปี แต่แดงอ้างว่าไม่มีคํามั่นจะให้เช่าแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามนั้น การปฏิเสธ ของแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 566 “ถ้ากําหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่า

คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกําหนดชําระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้อง บอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงและขาวมีผลสมบูรณ์ และสามารถ ใช้บังคับกันได้ 3 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่าขาวได้เช่าอาคารพาณิชย์มาได้ 1 ปี แดงได้ขายอาคารพาณิชย์ที่ให้ขาวเช่า ให้แก่ดํา โดยการซื้อขายทําโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่า ระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง โดยดําผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่า นั้นด้วย กล่าวคือ ดําจะต้องให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์นั้นต่อไปจนครบกําหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง

และเมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปีแล้ว แต่ยังคงให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อไปจน ครบกําหนด 6 ปี ถือว่าสัญญาเช่า 3 ปีหลังนั้น เป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งสิทธิและ หน้าที่ของคู่สัญญาให้นําสัญญาเดิมมาใช้บังคับ และเมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา ดําย่อมมีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าได้ แต่ต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้อง บอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 2 เดือน ตามมาตรา 566 แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ดําได้ฟ้องขับไล่ขาวออกจากอาคาร และให้ขาวส่งมอบอาคารคืนโดยที่ดํายังมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าก่อน โดยอ้างว่า ครบกําหนดเวลาเช่า 6 ปีนั้น การกระทําของดําย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตํายังไม่ได้บอกกล่าวให้ขาว รู้ตัวก่อนล่วงหน้าตามมาตรา 566

สรุป (ก) การปฏิเสธของแดงชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การกระทําของดําไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2 (ก) น้ําเงินได้ทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าที่ดินของน้ําเงินมีกําหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือน เป็นค่าเช่า เดือนละ 25,000 บาท ในวันทําสัญญาเช่าเหลืองได้ชําระเงินมัดจําค่าเช่าไว้ 75,000 บาท หลังจากนั้นเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าให้น้ําเงินอีกเลยจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น น้ําเงินจึงบอกเลิก สัญญาเช่ากับเหลืองในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 และให้เหลืองส่งมอบที่ดินคืนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับชําระเงินค่าเช่าที่ค้างด้วย การบอกเลิกสัญญาของน้ําเงิน ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้อง บอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่น้ําเงินทําสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าที่ดินของน้ําเงินมีกําหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 15 ของแต่ละเดือน ๆ ละ 25,000 บาท และในวันทําสัญญาเช่าเหลืองได้วางเงินมัดจําค่าเช่าไว้เป็นเงิน 75,000 บาท แต่เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าให้น้ําเงิน อีกเลยจนถึงปัจจุบันนั้น การที่เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่า 5 เดือน เมื่อหักค่าเช่า (มัดจํา) ออก 3 เดือน ตามที่เหลือง ได้ชําระไว้ ย่อมถือว่าเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่า 2 เดือนติดต่อกัน คือ เดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีผลทําให้ น้ําเงินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่านั้นมีการกําหนดชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน น้ําเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระก่อน โดยต้องให้เวลา แก่เหลืองนําค่าเช่ามาชําระอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งถ้าเหลืองไม่ยอมชําระอีก น้ําเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตาม มาตรา 560 วรรคสอง ดังนั้น การที่น้ําเงินบอกเลิกสัญญาเช่ากับเหลืองทันทีในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 และ ให้เหลืองส่งมอบที่ดินคืนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 นั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ําเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่น้ําเงินสามารถเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระ 2 เดือนได้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่เหลืองผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าในเดือนตุลาคมและ พฤศจิกายน 2563 นั้น ย่อมถือเป็นกรณีที่เหลืองผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันแล้ว ดังนั้น น้ําเงิน ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันทีตามมาตรา 574 วรรคหนึ่ง การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ําเงินจึงชอบด้วยกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม น้ําเงินจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่เหลืองยังไม่ชําระในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2563 จํานวน 50,000 บาท ไม่ได้ เพราะตามหลักกฎหมายมาตรา 574 วรรคหนึ่ง หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน ค่าเช่าซื้อสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และ ริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ใช้มาแล้วเท่านั้น จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชําระเพราะผิดนัดหรือผิดสัญญาดังกล่าวไม่ได้

สรุป (ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของน้ําเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่น้ําเงินสามารถ เรียกค่าเช่าที่ค้างชําระ 2 เดือนได้

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีของน้ําเงินชอบด้วยกฎหมาย แต่น้ําเงินจะเรียกค่าเช่าซื้อ ที่เหลืองค้างชําระ 2 เดือนไม่ได้ ดังนั้น คําตอบจึงแตกต่างกัน

 

ข้อ 3 (ก) นายพิชิตทําสัญญาจ้างนายสมัยเป็นลูกจ้างตําแหน่งช่างเครื่อง โดยตกลงทําสัญญาด้วยวาจา ทําเป็นสัญญาจ้างมีกําหนดระยะเวลาจ้างอย่างต่ํา 6 เดือน และไม่เกิน 2 ปี ให้เริ่มสัญญาตั้งแต่ เดือนมกราคม 2563 มีข้อสัญญาว่าให้ชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน ปรากฏว่าในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 นายจ้างได้ทําหนังสือบอกกล่าวแก่นายสมัยว่าจะทําการ เลิกสัญญาจ้างนายสมัยด้วยเหตุผลเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก ไม่มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้า และจะ เลิกสัญญาจ้างในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นายสมัยเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากสัญญาจ้าง ยังไม่ครบกําหนด คือ เดือนธันวาคม 2564 เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) “ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 7 จ้างทําของ ได้กําหนด “หน้าที่และความรับผิด” ของผู้รับจ้างทําของไว้อย่างไรบ้างตามมาตราใด ให้อธิบายตามสมควร

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทํางาน ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง

เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่าย

จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิชิตทําสัญญาจ้างนายสมัยเป็นลูกจ้างตําแหน่งช่างเครื่อง โดยตกลง ทําสัญญาจ้างด้วยวาจา และตกลงชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือนนั้น ถือเป็นสัญญาจ้าง แรงงานตามมาตรา 575 ซึ่งสามารถทําได้ เพราะการทําสัญญาจ้างแรงงานนั้น กฎหมายไม่ได้กําหนดแบบไว้ ดังนั้นการทําสัญญาจ้างแรงงานจึงอาจตกลงกันด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ และเมื่อมีการทําสัญญาจ้าง มีกําหนดระยะเวลาจ้างอย่างต่ํา 6 เดือน และไม่เกิน 2 ปี ซึ่งนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างภายในกําหนดเวลาดังกล่าว เมื่อใดก็ได้ กําหนดเวลานั้นจึงไม่ใช่กําหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ตามนัยมาตรา 582 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1604/2528)

การที่นายจ้างได้ทําหนังสือบอกกล่าวแก่นายสมัยในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ว่าจะทําการเลิก สัญญาจ้างนายสมัยด้วยเหตุผลเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก ไม่มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้า และจะเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นั้น ไม่ถูกต้องตามมาตรา 582 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะในกรณีที่เป็นสัญญาจ้างไม่มีกําหนด ระยะเวลานั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้าง คราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ดังนั้น การบอกกล่าว เลิกจ้างของนายจ้างดังกล่าว จึงให้ถือว่าเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 589 “ถ้าสัมภาระสําหรับทําการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี”

มาตรา 595 “ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดชอบของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย”

มาตรา 603 “ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทํานั้นพังทลาย หรือบุบสลายลงก่อน ได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการ กระทําของผู้ว่าจ้าง

ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้”

ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัญญาจ้างทําของนั้น ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ กฎหมาย ได้กําหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้รับจ้างทําของไว้ 3 ประการดังนี้คือ

1 ผู้รับจ้างจะต้องจัดหาสัมภาระที่ดี (มาตรา 589) คือต้องจัดหาสัมภาระที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้งาน สามารถนํามาสร้างงานได้โดยไม่บกพร่อง

2 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระแล้วจัดหาสัมภาระที่ไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพทําให้งานบกพร่อง เช่น ถ้าสัมภาระที่ผู้รับจ้างจัดหามาชํารุดบกพร่องไม่ว่าผู้รับจ้างจะรู้ถึงความชํารุดบกพร่องนั้นหรือไม่ ผู้รับจ้าง ต้องรับผิดชอบ จะอ้างว่าตนไม่รู้ไม่ได้ (มาตรา 595 ประกอบมาตรา 472)

3 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทํานั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกัน ถูกต้อง ความเสียหายที่เกิดขึ้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดหรือ การกระทําของผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้เพราะ ผู้รับจ้างยังคงเป็นเจ้าของสัมภาระอยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบแก่ผู้ว่าจ้าง และกรณีดังกล่าวนี้ ผู้รับจ้างไม่อาจได้รับสินจ้าง หรือหากได้รับไปแล้วบางส่วน ก็ต้องคืนให้แก่ผู้ว่าจ้าง (มาตรา 603)

Advertisement