การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายแดงตกลงด้วยวาจาซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท และโทรศัพท์หนึ่งเครื่องราคา 20,000 บาท จากนายฟ้า กําหนดชําระเงินภายใน 1 เดือน นายฟ้าได้ส่งมอบบ้านและโทรศัพท์ให้นายแดงแล้วหลังจากตกลงกันเพียง 1 สัปดาห์ นายแดงแจ้งให้นายฟ้าทราบว่าไม่ต้องการซื้อบ้านและโทรศัพท์แล้ว ให้วินิจฉัยว่า นายฟ้าจะฟ้องบังคับให้นายแดงชําระค่าบ้านและค่าโทรศัพท์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่หาตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐาน เป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็น
ราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 456 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง หรือเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าจะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันเกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือได้มีการชําระหนี้กันบางส่วนแล้ว (มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) กรณีการซื้อบ้าน การที่นายแดงตกลงด้วยวาจาซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท จากนายฟ้า กําหนดชําระเงินภายใน 1 เดือน โดยนายฟ้าได้ส่งมอบบ้านให้นายแดงผู้ซื้อแล้วนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ซื้อ กับผู้ขายไม่ได้มีการตกลงกันไว้ว่าจะไปโอนบ้านหรือจะไปทําสัญญาซื้อขายให้ถูกต้องตามแบบในภายหลัง สัญญา ซื้อขายบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และเมื่อไม่มีการทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายบ้านดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง

และเมื่อสัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงกับนายฟ้าตกเป็นโมฆะ ดังนั้น เมื่อนายแดงได้แจ้งให้ นายฟ้าทราบว่าตนไม่ต้องการซื้อบ้านหลังดังกล่าวแล้ว นายฟ้าจะฟ้องบังคับให้นายแดงชําระค่าบ้านไม่ได้
(แต่ชอบที่จะเรียกเอาบ้านคืนจากนายแดงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้เท่านั้น)

(2) กรณีการซื้อขายโทรศัพท์ การที่นายแดงได้ตกลงด้วยวาจาซื้อโทรศัพท์หนึ่งเครื่องราคา
20,000 บาท จากนายฟ้า และนายฟ้าได้ส่งมอบโทรศัพท์ให้แก่นายแดงแล้วนั้น เมื่อเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่ เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา สัญญาซื้อขายโทรศัพท์ดังกล่าวระหว่างนายแดงและนายฟ้า จึงเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องกระทําตามแบบตามที่กําหนดไว้ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคา 20,000 บาท จึงต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม กล่าวคือ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้บางส่วนแล้ว ก็จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายฟ้าได้ส่งมอบโทรศัพท์ให้แก่นายแดงแล้ว ย่อมถือว่าผู้ขายได้มีการชําระหนี้บางส่วนแล้ว ดังนั้น เมื่อต่อมานายแดงได้แจ้งให้นายฟ้าทราบว่าตนไม่ต้องการซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวแล้ว นายฟ้าจึงสามารถฟ้องบังคับให้นายแดงชําระค่าโทรศัพท์ได้

สรุป นายฟ้าจะฟ้องบังคับให้นายแดงชําระค่าบ้านไม่ได้ แต่สามารถฟ้องบังคับให้นายแดงชําระค่าโทรศัพท์ได้

ข้อ 2 บริษัทแห่งหนึ่งต้องการนํารถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูลขายทอดตลาด จึงได้จ้าง บริษัทขายทอดตลาดที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง ให้เป็นผู้ดําเนินการประมูลขายทอดตลาด โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันที่นํามาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นรถที่เก่าและชํารุดประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้คันหนึ่ง เมื่อดํานํารถคันนั้นออกใช้จึงรู้ว่า รถยนต์มีความชํารุดมากถ้าจะซ่อมต้องเสียค่าซ่อมมาก จึงได้นํารถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง

ดังนี้ อยากทราบว่าดําจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นําออกขายรับผิดได้หรือไม่ และแดง จะเรียกร้องให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด อายุความเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า
ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่ มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชํารุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง
และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี ผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวัง อันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน หรือถ้าทรัพย์สินนั้นได้มาจากการขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทแห่งหนึ่งต้องการนํารถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูล ขายทอดตลาด จึงได้จ้างบริษัทขายทอดตลาดที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องให้เป็นผู้ดําเนินการประมูลขายทอดตลาด
โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันที่นํามาประมูลขายทอดตลาดนั้น เป็นรถที่เก่าและชํารุด และดําได้ ประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้หนึ่งคัน และเมื่อดําได้นํารถยนต์คันนั้นออกใช้จึงรู้ว่ารถยนต์ มีความชํารุดมาก ถ้าจะซ่อมต้องเสียค่าซ่อมมากนั้น กรณีดังกล่าวดําจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นํา ออกขายรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องไม่ได้ เพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 (3) คือเป็นทรัพย์สินที่ดําได้ซื้อ มาจากการขายทอดตลาด ดังนั้น แม้ทรัพย์ที่ซื้อมาจะชํารุดบกพร่องก็ตาม ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด

ส่วนการที่ดําได้นํารถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง ถ้าแดงไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นชํารุดบกพร่อง และแดงได้ใช้ความระมัดระวังในการรับมอบทรัพย์สินในระดับวิญญูชน และความชํารุดบกพร่องนั้นไม่สามารถ เห็นประจักษ์ได้ในเวลาส่งมอบ อีกทั้งสัญญาซื้อขายระหว่างดําและแดงก็มิใช่เป็นการขายทอดตลาด กรณีจึง ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 ดังนั้น แดงจึงสามารถเรียกร้องให้ตํารับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้ สรุป ดําจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นําออกขายรับผิดไม่ได้ แต่แดงสามารถเรียกร้องให้ตํารับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้

ข้อ 3 โจทก์ทําสัญญาขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งไว้กับจําเลย โดยทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กําหนดสินไถ่ไว้ 300,000 บาท โดยในสัญญาไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืน ขายฝากไปได้ 1 ปี โจทก์ได้มาหาจําเลยที่บ้านเพื่อจะขอไถ่ และนําเงินสินไถ่ 300,000 บาท มาให้จําเลยที่บ้าน แต่จําเลยปฏิเสธไม่รับโดยอ้างว่าเป็นวันหยุดไม่มีธนาคารแห่งไหนเปิดทําการ จึงไม่อยากเก็บเงินไว้ที่บ้าน แต่โจทก์ไม่ยอม ได้วางเงินสินไถ่ทั้งหมดไว้ที่บ้านจําเลย แล้วบอกจําเลยว่าจะโทร มานัดวันให้จําเลยไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินที่สํานักงานที่ดินกันอีกที่หนึ่ง ให้นักศึกษาอธิบายว่า โจทก์ได้ไถ่คืนที่ดินแปลงนั้นแล้วหรือยัง กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นเป็นของใคร ระหว่างโจทก์กับจําเลย และถ้าจําเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินแปลงนั้นให้โจทก์ โจทก์จะฟ้องจําเลยให้ไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินแปลงนั้นได้หรือไม่ และภายในอายุความเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ
ให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายในกําหนดเวลาไถ่
โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ทําสัญญาขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งไว้กับจําเลย โดยทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กําหนดสินไถ่ไว้ 300,000 บาท แต่ในสัญญาไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืนไว้ ดังนี้ ถ้าโจทก์จะไถ่คืนโจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่คืนได้ภายในกําหนด 10 ปีนับแต่เวลาขายฝากตามมาตรา 494 (1) และ ใช้สินไถ่จํานวน 300,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้

เมื่อขายฝากได้ 1 ปี การที่โจทก์ได้มาหาจําเลยที่บ้านเพื่อจะขอไถ่และนําเงินสินไถ่ 300,000 บาท มาให้จําเลยที่บ้าน แต่จําเลยปฏิเสธไม่รับโดยอ้างว่าเป็นวันหยุดไม่มีธนาคารแห่งไหนเปิดทําการ จึงไม่อยากเก็บเงินไว้ที่บ้าน แต่โจทก์ไม่ยอมได้วางเงินสินไถ่ทั้งหมดไว้ที่บ้านจําเลย แล้วบอกจําเลยว่าจะโทรมานัดวันให้จําเลย ไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินที่สํานักงานที่ดินกันอีกทีหนึ่งนั้น การกระทําของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ ภายในกําหนดเวลาตามาตรา 494 (1) และได้ใช้สินไถ่ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น จึงมีผลตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ทําให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถคือโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ผู้ไถ่ได้ชําระเงินสินไถ่ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการไถ่คืนก็ตาม

ส่วนการจดทะเบียนไถ่คืนทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องดําเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินคืน และเมื่อโจทก์ได้ไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืนแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ย่อมตกเป็นของโจทก์ตามมาตรา 492 ดังนั้น ถ้าจําเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนไถ่ที่ดินคืนให้โจทก์ โจทก์สามารถ ฟ้องให้จําเลยไปจดทะเบียนไก่ที่ดินแปลงนั้นคืนได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามาตรา 193/30 ในฐานะเจ้าของ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์สินของตนนับแต่เวลาใช้สิทธิไถ่คืน ตามมาตรา 492
สรุป โจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ที่ดินแปลงนั้นแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นเป็นของโจทก์ และถ้าจําเลย ไม่ยอมไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินแปลงนั้นให้โจทก์ โจทก์ก็สามารถฟ้องให้จําเลยไปจดทะเบียนไถ่คืนที่ดินแปลงนั้น ได้ภายในอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่ใช้สิทธิไถ่คืน

Advertisement