การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมในกรณีใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 643 มีอย่างไรบ้าง ให้อธิบายหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง คือ ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งคือผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า โยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ และผู้ยืมก็ตกลงว่าเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ก็จะนำทรัพย์สินนั้นมาคืนให้ ดังนี้จะเห็นว่าผู้ยืมเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมและยังไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอีกด้วย แต่การใช้ทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นเขามามิได้หมายความว่า จะใช้เอาประโยชน์ของตนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้น
จากบทบัญญัติตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้ 4 ประการ คือ ใช้ทรัพย์สินที่ยืมตามการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น ไม่เอาไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญา ไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือไม่เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ และยังกำหนดอีกว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย ถึงแม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว หากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด
สำหรับกรณีที่จะถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ตามมาตรา 643 มีดังนี้คือ
1 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้น เช่น ขอยืมใบมีดโกนเขามาแทนที่จะโกนหนวดโกนเครา กลับเอาไปเหลาดินสอหรือหั่นเนื้อหั่นหมู หรือยืมม้าแทนที่จะเอาไปขี่กลับเอาไปลากรถ ลากซุง เป็นต้น
2 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา เช่น ขอยืมรถไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่กลับขัยรถออกไปนอกเส้นทางไปเที่ยวชลบุรี เป็นต้น
3 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหาย เช่น ขอยืมวัวไปไถนา 2 เดือน ผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วภายใน 1 เดือน แต่ไม่ส่งคืน กลับเอาไปให้บุคคลใช้สอยจนเกิดความเสียหายขึ้น เช่นนี้ถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว
4 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ กล่าวคือ เป็นการที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์ที่ยืมล่าช้า เช่น ขอยืมรถมาใช้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่เอามาคืน หรือในกรณีที่สัญญามิได้กำหนดเวลาส่งคืน แต่ไม่ปรากฏว่ายืมเพื่อการใด หากผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้ว หรือเวลาล่วงเลยไปพอแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นแล้วก็ยังไม่ส่งคืน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ยืมก็ต้องรับความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม
อนึ่งคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ยืมรถยนต์นาย ข. ไปท่องเที่ยวพัทยา แต่นาย ก. กลับขับรถไปนครสวรรค์เพื่อไปรับเพื่อนก่อน ในระหว่างทางนั้นมีพายุฝนตกหนัก ฟ้าผ่ารถคันที่นาย ก. ยืมไปเสียหาย เช่นนี้ ถือว่านาย ก. ประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม โดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญาแล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม นาย ก. ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ นาย ข. ผู้ให้ยืมด้วย
สรุป ผู้ยืมใช้คงรูปมีหน้าที่และความรับผิด ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สิน ตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้น