การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ดอกดินยืมรถยนต์ของปลวกแดงไปใช้โดยไม่ได้บอกว่าจะเอาไปใช้อย่างไร และปลวกแดงก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปนานเท่าใดถึงเอามาคืน ขณะที่ดอกดินใช้อยู่นั้นมีชะเมาขโมยยางอะไหล่ไป ดังนี้ ปลวกแดงจะบอกเลิกสัญญาให้ดอกดินนํารถมาคืนและชดใช้ราคายางให้กับตนได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญชนจะพึงสงวนทรัพย์สิน ของตนเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืม จะเรียกของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดอกดินยืมรถยนต์ของปลวกแดงไปใช้โดยไม่ได้บอกว่าจะเอาไปใช้ อย่างไร และปลวกแดงก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปนานเท่าใดถึงเอามาคืนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ประกอบมาตรา 641 และเป็นสัญญายืมที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้น ปลวกแดงผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิจะเรียกคืน เมื่อไหร่ก็ได้ตามมาตรา 646 วรรคสอง

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่ดอกดินใช้รถยนต์อยู่นั้นมีชะเมาขโมยยางอะไหล่ไป ดังนี้ ปลวกแดงย่อมสามารถ บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ดอกดินนํารถยนต์มาคืนให้กับตนได้ตามมาตรา 646 วรรคสอง ส่วนกรณียางอะไหล่ที่ถูกขโมยไปนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าดอกดินผู้ยืมได้เอารถยนต์ไปใช้ไม่ถูกต้องตามมาตรา 643 หรือไม่สงวนทรัพย์สินที่ยืมตามมาตรา 644 แต่อย่างใด ดังนั้นปลวกแดงจะเรียกให้ดอกดินชดใช้ราคายางให้กับตนไม่ได้

สรุป

ปลวกแดงจะบอกเลิกสัญญาและให้ดอกดินนํารถยนต์มาคืนให้กับตนได้ แต่จะให้ ดอกดินชดใช้ราคายางให้กับตนไม่ได้

 

ข้อ 2 นายไก่ขอยืมเงินนายไข่เป็นเงิน 20,000 บาท โดยทําเป็นหนังสือ ต่อมาเมื่อถึงเวลากําหนดชําระหนี้นายไก่ไม่มีเงินชําระหนี้ แต่มีทองหนัก 1 บาท ราคาในเวลาที่ส่งมอบคือ 20,000 บาทถ้วน โดยนายไก่ ได้ชําระหนี้ไปโดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ ดังนี้ หากนายไข่ต้องการจะให้นายไก่ชําระหนี้ใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

มาตรา 656 “ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น แทนจํานวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชําระโดยจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือ ทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชําระหนี้ แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชําระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ได้ยืมเงินจากนายไข่ไปเป็นเงิน 20,000 บาท โดยได้ทําเป็นหนังสือนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนายไก่กับนายไข่ย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม มาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 653 วรรคสอง นั้น ในกรณีที่การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในการนําสืบ อันจะสามารถนําสืบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายไก่ได้ชําระหนี้ให้แก่นายไขโดยการส่งมอบทองหนัก 1 บาท และ ราคาในเวลาที่ส่งมอบคือ 20,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นการชําระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจํานวนเงิน และ เมื่อนายไข่ผู้กู้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้ว หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมระงับไปตามมาตรา 656 นายไข่จะให้นายไก่ ชําระหนี้ใหม่ไม่ได้ แม้ว่าการชําระหนี้ด้วยทองของนายไก่จะไม่มีหลักฐานการคืนอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 653 วรรคสองก็ตาม เพราะการชําระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจํานวนเงินตามมาตรา 656 นั้น ไม่อยู่ ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง แต่อย่างใด

สรุป

นายไข่จะให้นายไก่ชําระหนี้ใหม่ไม่ได้

 

ข้อ 3 นางสาวนิดหน่อยเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ขณะเข้าพักได้วางกระเป๋าถือยี่ห้อหลุยส์จากประเทศฝรั่งเศส ราคาใบละ 40,000 บาท วางไว้ในห้องพักและออกไปซื้อของใช้ส่วนตัว ที่ร้านค้าสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงแรม เมื่อกลับเข้าไปในห้องพักอีกครั้งหนึ่งจึงพบว่ากระเป๋าถือ ยี่ห้อหลุยส์ได้ถูกขโมยไป นางสาวนิดหน่อยจึงรีบแจ้งนายอาทิตย์เจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที ให้ท่าน วินิจฉัยว่า นายอาทิตย์จะต้องชดใช้ต่อนางสาวนิดหน่อยในการที่กระเป๋าถือดังกล่าวถูกขโมยไปหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น นาฬิกา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝากไว้ แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ กระเป๋าถือยี่ห้อหลุยส์จากประเทศฝรั่งเศสของนางสาวนิดหน่อยที่ถูกขโมย ไปนั้น แม้จะมีราคา 40,000 บาท ก็ถือว่าเป็นของใช้ธรรมดาสามัญทั่วไปจึงเป็นทรัพย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไปตามมาตรา 675 วรรคหนึ่ง มิใช่ของมีค่าอื่น ๆ ตามมาตรา 675 วรรคสอง และเมื่อนางสาวนิดหน่อยพบว่ากระเป๋าถือยี่ห้อหลุยส์ ได้ถูกขโมยไป นางสาวนิดหน่อยก็ได้รีบแจ้งให้นายอาทิตย์เจ้าสํานักโรงแรมทราบทันทีแล้ว ดังนั้น นายอาทิตย์จะต้อง รับผิดชดใช้ให้แก่นางสาวนิดหน่อยตามราคาทรัพย์ที่สูญหายไปคือเป็นเงิน 40,000 บาท

สรุป

นายอาทิตย์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่นางสาวนิดหน่อยจํานวน 40,000 บาท

 

 

Advertisement