การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กําหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้อย่างไรบ้าง

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กําหนดหน้าที่ของผู้ยืมตามสัญญายืมใช้คงรูปไว้ ดังนี้คือ

1 หน้าที่เกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม (มาตรา 643)

ผู้ยืมจะต้องไม่นําทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่า ที่ควรจะเอาไว้

ในกรณีที่ผู้ยืมฝ่าฝืนมาตรา 643 กล่าวคือ นําทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้การอย่างอื่น นอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอก ใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือ บุบสลายอยู่นั่นเอง และนอกจากนั้นกฎหมายได้กําหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 645)

2 หน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืม (มาตรา 644)

ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของ ตนเอง ถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 645)

3 หน้าที่เกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินที่ยืม (มาตรา 646)

ถ้าในสัญญายืมมิได้กําหนดเวลากันไว้ ผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอย ทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามที่ปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ถ้าเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืม จะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

แต่ถ้าในสัญญายืมมิได้กําหนดเวลาไว้และในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าจะเอาทรัพย์สินที่ยืม ไปใช้เพื่อการใด เมื่อผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืนเมื่อใด ผู้ยืมก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม

4 หน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม (มาตรา 647)

ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบํารุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น

 

ข้อ 2. นางจันจิราได้ยืมเงินนายสมัยจํานวนห้าแสนบาทโดยวันที่ส่งมอบเงินกู้ นางจันจิราไม่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในวันยืมเงิน แต่อาทิตย์ต่อมาได้ทําหนังสือยอมรับว่าตนได้รับเงินกู้ดังกล่าวมาจริง และได้ลงลายมือชื่อเป็นภาษาจีนไว้ ทั้งนี้ได้มีเด็กชายเจนอายุ 2 ขวบไม่เข้าใจว่าการยืมเงินคืออะไร ลงชื่อเป็นพยานพร้อมทั้งนางสาวป้า อายุ 100 ปี เป็นอัลไซเมอร์มาลงลายมือชื่อเป็นพยานในการ ทําหนังสือยอมรับการยืมเงินในครั้งนี้ ต่อมานางจันจิราได้ตกลงกับเจ้าหนี้ที่จะทยอยการชําระหนี้ เป็นสองงวด งวดแรกจํานวนสี่แสนและงวดที่สองจํานวนหนึ่งแสน ดังนี้ หนังสือยอมรับการยืมเงิน ถือเป็นหลักฐานได้หรือไม่ และหากนางจันจิราได้ชําระหนี้เป็นเงินสดในครั้งแรก และชําระเป็นเช็คเงินสดในครั้งที่สองโดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ซนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทําเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เท่านั้น เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินใน เรื่องการกู้ยืมเงินกัน และมีการระบุถึงจํานวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ แต่ที่สําคัญ จะต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญโดยอาจจะลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้ ส่วนผู้ให้ยืมและพยานจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ และการมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังกล่าวนั้นไม่จําเป็นต้องทํา ณ เวลาสถานที่ที่ส่งมอบเงินอาจทําในภายหลังก็ได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ การที่นางจันจิราได้ยืมเงินนายสมัยจํานวน 500,000 บาท โดยวันที่ ส่งมอบเงินกู้ นางจันจิราไม่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในวันยืมเงิน แต่ได้ทําหนังสือยอมรับว่าตนได้รับเงินกู้ดังกล่าวมาจริงในอาทิตย์ต่อมา และได้ลงลายมือชื่อเป็นภาษาจีนไว้นั้น ถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ เพราะ ในหนังสือนั้นมีถ้อยคําที่ชัดเจนว่า นางจันจิรายอมรับว่าตนเป็นหนี้จากการกู้ยืมจริง และมีลายมือชื่อของนางจันจิรา ผู้กู้ยืมเงินเป็นสําคัญ ส่วนการที่เด็กชายเจนอายุ 2 ขวบ และนางสาวป้าอายุ 100 ปี ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยนั้น ไม่ใช่สาระสําคัญแต่อย่างใด สําหรับการที่นางจันจิราได้ตกลงกับเจ้าหนี้โดยการชําระหนี้เป็นสองงวด โดยงวดแรกชําระ เป็นเงินสดจํานวน 400,000 บาท และงวดที่สองชําระเป็นเช็คเงินสดจํานวน 100,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานการ คืนเงินใด ๆ นั้น จะทําได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การชําระเป็นเงินสดจํานวน 400,000 บาทนั้น เมื่อการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ การใช้เงินจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมด้วย (มาตรา 653 วรรคสอง) ดังนั้นถ้านางจันจิรา ได้ใช้เงินคืนโดยชําระเป็นเงินสดโดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ ก็ไม่อาจจะนําสืบถึงการใช้เงินคืนได้ และอาจ ถูกเจ้าหนี้บังคับให้ชําระใหม่ได้

2 การชําระเป็นเช็คเงินสดจํานวน 100,000 บาทนั้น ถือเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นที่มิได้ ชําระหนี้ด้วยเงิน จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือใด ๆ ก็สามารถที่จะนําสืบ ถึงการใช้เงินได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 653 วรรคสอง

สรุป

หนังสือยอมรับการยืมเงินของนางจันจิราดังกล่าว ถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ ส่วนการชําระหนี้ใช้เงินคืนนั้น ถ้าชําระเป็นเงินสดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคสอง แต่การชําระ เป็นเช็คเงินสดไม่จําเป็นต้องมีหลักฐานใด ๆ ก็ได้

 

ข้อ 3 เอกเข้าไปร่วมการอบรมสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา 09.00 นาฬิกา ครั้นเมื่อเสร็จการอบรมเวลา 16.00 นาฬิกา เอกมายังรถที่จอดไว้บริเวณ ลานจอดรถของโรงแรมพบว่ารถถูกชนที่ประตูด้านข้างคนขับ ประตูบุบและสีถลอก ผู้ชนคือโท แขกผู้มาพักอยู่ในห้องพักเลขที่ 2009 ของโรงแรม ค่าเสียหายที่เอกต้องใช้ในการซ่อมประตูรถที่ ถูกชนคือ 10,000 บาท เอกแจ้งให้ตรีผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมชดใช้แก่ตนในทันทีที่ทราบเหตุ ดังนี้

ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของตรีผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมที่มีต่อความเสียหายของเอก

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด”

วินิจฉัย

โดยหลัก เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลาย ที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้น เพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเข้าไปร่วมการอบรมสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และปรากฏว่ารถของเอกที่จอดไว้บริเวณลานจอดรถของโรงแรม ได้ถูกโทซึ่งเป็นแขกผู้มาพักอยู่ในโรงแรมดังกล่าวชน จนได้รับความเสียหายนั้น เมื่อเอกเป็นแต่เพียงผู้เข้าไปร่วมการอบรมสัมมนาที่จัดขึ้นที่โรงแรมเท่านั้น มิใช่เป็น คนเดินทางหรือแขกอาศัยในโรงแรมดังกล่าวตามนัยของมาตรา 674 ดังนั้น ตรีผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมจึงไม่มี หน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของเอกแต่อย่างใด

สรุป

ตรีผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของเอก

 

Advertisement