การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสาถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายสารู้ว่าพลตำรวจแดงจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงให้เงิน  10,000  บาท  แก่พลตำรวจแดงเพื่อจูงใจให้พลตำรวจเบิกความผิดจากความเป็นจริง  พลตำรวจแดงจับนายสา  ดังนี้  นายสามีความผิดต่อเจ้าพนักงานอย่างใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายสามีความผิดต่อเจ้าพนักงานอย่างใดหรือไม่  เห็นว่า  การที่นายสาให้เงินแก่พลตำรวจแดง  10,000  บาท  เป็นการให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานแล้ว  แต่อย่างไรก็ตาม  การที่พลตำรวจแดงต้องไปเบิกความต่อศาลในฐานะพยานตามหมายเรียกของศาลนั้น  เป็นการกระทำหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่กระทำในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  ดังนั้นแม้นายสาจะให้เงินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเจ้าพนักงาน  แต่เมื่อเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจที่ให้พลตำรวจเบิกความเท็จนั้นไม่ใช่เพื่อให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงาน  ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบที่จะผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังนั้นนายสาจึงไม่มีความผิด  (ฎ.439/2469)

สรุป  นายสาไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

 

ข้อ  2  นายดำแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายขาว  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์บ้านของนายขาวแต่ประการใด  โดยนายดำก็รู้  ดังนี้  นายดำมีความผิดเกี่ยวกับความยุติธรรมฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  173  นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้  คือ

1       รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

2       แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       ว่าได้มีการกระทำผิด

4       โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน  ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย  แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น  ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว  ต้องปรับตามบทมาตรา  172  มิใช่มาตรา  173  นี้

การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น  ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การแจ้งตามมาตรา  173  นี้  อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด  เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว  ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย

การที่นายดำไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายขาว  ทั้งๆที่นายดำรู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านนายขาว  การกระทำของนายดำจึงเป็นความผิดตามมาตรา  173  กล่าวคือ  รู้ว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

สรุป  นายดำมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  173

 

ข้อ  3  นายตุ่มจะเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด  ในขณะที่นั่งรอเวลาไปกระทำตามแผนการที่คิดไว้  นายตุ่มจุดบุหรี่สูบแล้วทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน  เปลวไฟถูกถุงพลาสติกใส่น้ำมันเบนซินที่ซื้อมาไว้เพื่อราดจุดไฟเผาตามแผน  ไฟลุกไหม้บ้านนายตุ่มแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัว  ดังนี้  นายตุ่มมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  219  ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  217  หรือมาตรา  218  ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้นๆ

มาตรา  225  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายหรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิง  ตามมาตรา  219  มีองค์ประกอบคือ

1       ตระเตรียม

2       เพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา  217  หรือมาตรา  218

3       โดยเจตนา

โดยทั่วไปแล้ว  การตระเตรียมการยังไม่ถือว่าเป็นความผิด  เพราะยังไม่ลงมือกระทำความผิด  แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  มีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง  ดังนั้นการตระเตรียมการเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  จึงเป็นความผิดแล้ว  และต้องระวางโทษเท่ากับพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา  217  หรือมาตรา  218  แล้วแต่กรณี

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรก  คือ  การที่นายตุ่มเตรียมถุงพลาสติกใส่น้ำมันเบนซินที่ซื้อมาเพื่อราดจุดไฟเผาตามแผนนั้น  มีความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา  219  หรือไม่  เห็นว่า  การกระทำของนายตุ่มดังกล่าว  เป็นการกระทำด้วยประการใดๆอันนำไปสู่การกระทำความผิดสำเร็จได้  ถือว่าเป็นการตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด  อันเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย  ตามมาตรา  218(1)  ซึ่งได้กระทำโดยมีเจตนา  นายตุ่มจึงมีความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิง  ตามมาตรา  219

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  นายตุ่มจะต้องรับผิดในการที่บ้านนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัวหรือไม่  เห็นว่า

องค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225  ประกอบด้วย

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       โดยประมาท

3       เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

การที่นายตุ่มจุดบุหรี่สูบ  โดยทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน  จนเกิดไฟลูกไหม้บ้านของนายตุ่มเองแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่งนั้น  เป็นการทำให้เกิดเพลิงไหม้  โดยไม่มีเจตนา  แต่ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  เป็นเหตุให้บ้านของนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหาย  แม้จะเสียหายเพียงห้องครัว  นายตุ่มมีความผิดตามมาตรา  225  แล้ว

สรุป  นายตุ่มมีความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาบ้านนายขวด  ตามมาตรา  219  และความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านนายโอ่งโดยประมาท  ตามมาตรา  225  อีกกระทงหนึ่งด้วย

 

ข้อ  4  นายแก้วได้เสียอยู่กินกับนางวันทองซึ่งมีอายุ  18  ปี  โดยจดทะเบียนสมรสมาได้หนึ่งปีแล้ว  นางวันทองหนีไปอยู่กินกับนายช้าง นายแก้วตามนางวันทองกลับมา  แล้วขอหลับนอนด้วย  นางวันทองไม่ยอมนายแก้วจึงใช้ยาทำให้นางวันทองหมดสติ  แล้ใช้อวัยวะเพศสอดเข้าทางช่องทวารหนักของนางวันทองจนสำเร็จความใคร่  ดังนี้  นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับเพศประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  276  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง  หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ  ทวารหนัก  หรือช่องปากของผู้อื่น  หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส  และคู่สมรสนั้นประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา  ตามมาตรา  276  วรรคแรก  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       ข่มขืนกระทำชำเรา

2       ผู้อื่น

3       โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น

4       โดยเจตนา

ข่มขืนกระทำชำเรา  หมายถึง  การบังคับจิตใจ  หรือกระทำโดยผู้อื่นไม่สมัครใจ  ถ้าผู้อื่นนั้นสมัครใจร่วมประเวณี  ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา  ส่วน  ผู้อื่น  นั้นจะเป็นบุคคลเพศใดก็ได้  แม้แต่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายก็ถือว่าเป็นผู้อื่น  ตามนัยมาตรานี้  ดังนั้นการข่มขืนกระทำชำเราคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีความผิดได้เช่นกัน  แต่หากผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรายังประสงค์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา  กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะลงโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราที่เป็นคู่สมรสนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้  ทั้งนี้ตามมาตรา  276  วรรคสี่

สำหรับการกระทำชำเรานั้น  บทบัญญัติมาตรา  276  วรรคสองได้กำหนดให้ความหมายรวมถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ  อวัยวะเพศกับทวารหนัก  หรืออวัยวะเพศกับช่องปากของผู้อื่น  หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วย  อย่างไรก็ดีการข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  และการข่มขืนนั้นกระทำในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก)  โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ

(ข)  โดยใช้กำลังประทุษร้าย

(ค)  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

(ง)   โดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น

การที่นายแก้วใช้ยาทำให้นางวันทองหมดสติ  ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามบทนิยามมาตรา  1(6)  ที่ว่าการใช้กำลังประทุษร้ายให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา  สะกดจิต  หรือใช้วิธีอื่นใดคล้ายคลึงกัน

และการที่นายแก้วใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าทางช่องทวารหนักของนางวันทองจนสำเร็จความใคร่  ก็ถือเป็นการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  ตามมาตรา  276  วรรคแรกแล้ว  เพราะตามมาตรา  276  วรรคสองให้ความหมายของการกระทำชำเราว่ารวมถึงการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกับทวารหนักของผู้อื่นด้วย  เมื่อนายแก้วมีเจตนาที่จะข่มขืนกระทำชำเรา  แม้นางวันทองจะเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ก็เป็นความผิดเพราะเข้าองค์ประกอบความผิดทุกประการตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

สรุป  นายแก้วมีความผิดตามมาตรา  276  วรรคแรก

Advertisement