การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึงอะไร มีความแตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายธรรมดาอย่างไร และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการให้ประชาชนลงประชามติ (Referendum) เพื่อให้ความเห็นชอบด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใดขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งในแง่ของการแก้ไขถ้อยคำหรือข้อความเดิม รวมทั้งการเพิ่มเติมถ้อยคำหรือข้อความใหม่

ในการจัดทำหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญจะมีวิธีการจัดทำหรือการแก้ไขโดยวิธีพิเศษและยากกว่าการจัดทำหรือการแก้ไขกฎหมายธรรมดา เนื่องจากเนื้อหาหรือหลักการอันเป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคง ความเจริญของประเทศ และหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญจึงมักมีความห่วงใยในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหรือหลักการในรัฐธรรมนูญและพยายามป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยง่ายเหมือนกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา

ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมมิให้มีการแก้ไขอย่างพร่ำเพรื่อ จนทำให้รัฐธรรมนูญหมดความสำคัญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้

สำหรับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 มาตรา 291 นั้น ได้กำหนดให้กระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ คือ

(1)     ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้

(2)     ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3)     การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4)     การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5)     เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6)     การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)     เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขั้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขโดยไม่จำต้องให้ประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขด้วยแต่อย่างใด

 

ข้อ 2. จงอธิบายว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นั้น

(1)     ได้เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบใดบ้าง

(2)     ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้นกี่ฉบับ

(3)     สาเหตุของการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีข้ออ้างต่าง ๆ กัน แต่แท้จริงแล้วปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักของการใช้อำนาจ

ถามว่าผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักการใช้อำนาจนั้นมีหลักการสำคัญอะไรบ้าง ให้ยกตัวอย่างมาห้าประการ พร้อมคำอธิบายหลักการแต่ละหลักการนั้นด้วย

ธงคำตอบ

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นั้น

  1. ได้เปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบันเพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลทำให้ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาของอำนาจบริหาร และที่มาของอำนาจตุลาการมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับได้กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติคือรัฐสภามีเพียงสภาเดียว และมีสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด บางฉบับกำหนดให้มีสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท คือมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง และรัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้รัฐสภามี 2 สภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
  2. ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ได้แก่

(1)     รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475

(2)     รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2475

(3)     รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2489

(4)     รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2490

(5)     รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2492

(6)     รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2495

(7)     ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2502

(8)     รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2511

(9)     ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2515

(10)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517

(11)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519

(12)   ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520

(13)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521

(14) รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2534

(15)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534

(16)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540

(17) รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2549

(18)   รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน

  1. ในการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการนั้นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักการใช้อำนาจ ซึ่งหลักการใช้อำนาจที่สำคัญมีอยู่หลายประการ เช่น

(1)     หลักความเสมอภาค เนื่องจากมนุษย์นั้นเมื่อเกิดมาทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดที่จะมีสิทธิมากกว่าผู้อื่น ดังนั้นทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมและเสมอภาคกัน การที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะมีอำนาจหรือมีสิทธิมากกว่าผู้อื่นนั้น จะต้องมาจากกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปของประชาชนเท่านั้น

(2) หลักความสุจริตและยุติธรรม หมายความว่า ในการใช้อำนาจต่าง ๆ นั้น ผู้ใช้อำนาจจะต้องได้ใช้อำนาจไปโดยสุจริตและเป็นการใช้อำนาจที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

(3)     หลักประโยชน์สาธารณะ หมายความว่า การใช้อำนาจนั้น ผู้ใช้อำนาจจะต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นการส่วนรวมมิใช่เป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

(4)     หลักประโยชน์ของชาติของประชาชน หมายความว่า การใช้อำนาจต่าง ๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางปกครองหรืออำนาจในการออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั้น ก็ต้องเป็นการใช้อำนาจเพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของชาติของประชาชนเป็นสำคัญ

(5)     หลักการควบคุมและตรวจสอบ หมายความว่า ในการใช้อำนาจของผู้ใช้อำนาจนั้นจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

(6)     หลักการมีส่วนร่วม หมายความว่า ผู้ที่จะมีอำนาจในการใช้อำนาจต่าง ๆ นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ กล่าวคือประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกบุคคลที่จะไปเป็นผู้ใช้อำนาจต่าง ๆ ด้วยนั่นเอง

 

ข้อ 3. สมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 53 ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจการแปรรูปไม้และกิจการของผู้รันอนุญาตได้นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 เนื่องจากเป็นการละเมิดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งสององค์กรยกคำร้อง สมาคมจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว สมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 212ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 212 “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

แม้ว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 53 ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจการแปรรูปไม้และกิจการของผู้รับอนุญาตไต้นั้น เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 เนื่องจากเป็นการละเมิดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่กรณีผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติมาตรา 212 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายไต้กำหนดไว้ (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2551) ดังนี้ คือ

(1)     ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ อันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

(2)     บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ

(3)     ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วซึ่งหลักเกณฑ์ตามข้อ (1) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 วรรคแรกตอนต้น เกี่ยวกับบุคคลผู้มีสิทธิในการยืนคำร้องนั้น รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้ประชาชนทุกคนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่กำหนดไว้วาบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายแล้วจริง ต้องมีการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพจริงเกิดขึ้นขณะที่บุคคลนั้นยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นความเสียหายของบุคคลนั้นเองด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าสมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีอื่นได้แล้วตามหลักเกณฑ์ข้อ (3) ก็ตาม แต่ถือว่าสมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยตรงตามมาตรา 212 ดังนั้นสมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยจึงไม่อาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้

สรุป

สมาคมอนุรักษ์ป่าไม้ไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 212 ไม่ไต้

 

 

ข้อ 4. เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม*ของรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงานสถิติแห่งชาติฯ โอนข้อมูลส่วนบุคคลจากการดำเนินการสำมะโนประชากรทั้งประเทศครั้งล่าสุด ตาม พ.ร.บ. สถิติ พ.ศ. 2550 ที่ได้สำรวจจำนวนประชากร ที่อยู่อาศัยสถานที่ทำงานของบุคคล รายได้โดยให้โอนข้อมูลดังกล่าวที่ได้มาแล้วให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากนายเอกไม่เห็นด้วยกับมติของคณะรัฐมนตรี และ พ.ร.บ. สถิติ พ.ศ. 2550 มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “เมื่อหน่วยงานจะมีการจัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่างที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล …” เพราะเป็นการก้าวล่วงไปบังคับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของมติคณะรัฐมนตริดังกล่าว และมาตรา 9 พ.ร.บ. สถิติ พ.ศ. 2550

ดังนี้ ให้ทำนวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะรับเรื่องร้องเรียนของนายแดงไว้พิจารณาได้หรือไม่ และกรณีดังกล่าวนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการในกรณีนี้อย่างไรต่อไป หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 35 “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับการคุ้มครอง

การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสิยง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้

เว้นแต่กรณีทีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

บุคคลยอมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา 244 “ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1)     พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนดังต่อไปนี้

(ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม

(ค) การตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล

(ง) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

(2)…..

(3)…..

(4)…..

การใช้อำนาจหน้าที่ตาม (1) (ก) (ข) และ (ค) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทนต่อความเสียหายของประชาขนส่วนรวมหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้”

มาตรา 245 “ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)…..

(2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244 (1) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครอง พิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง”

วินิจฉัย

การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงานสถิติแห่งชาติฯโอนข้อมูลส่วนบุคคลจากการดำเนินการสำมะโนประชากรทั้งประเทศครั้งล่าสุดให้แก่องค์กรปกครองส่วนห้องถิ่นดังกล่าวนั้น มติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถือว่าเป็น “กฎ” และเป็นการออกกฎที่ขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลตามมาตรา 35

เมื่อนายเอกไม่เห็นด้วยกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพราะเป็นการก้าวล่วงไปบังคับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายเอกได้ ดังนั้น เมื่อนายเอกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะรับเรื่องร้องเรียนของนายแดงไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 244

ส่วนกรณีที่นายเอกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และมาตรา 9 พ.ร.บ. สถิติ พ.ศ. 2550 กล่าวคือให้ตรวจสอบว่าในการออก “กฎ” ของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ กรณีจึงถือว่ามติของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกฎนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245 (2)

สรุป

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะรับเรื่องร้องเรียนของนายแดงไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 244

มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะต้องเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245 (2)

Advertisement