การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. การยุบสภาคืออะไร เหตุใดจึงมีการยุบสภา และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบสภาไว้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
“ การยุบสภา ” หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย
การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศไทย ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเบิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ได้นั่นเอง
การยุบสภานั้น อาจเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้ คือ
- ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงจำเป็นต้องยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกต้อง
- ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า ในขณะที่จะยุบสภานั้น คะแนนนิยมของรัฐบาลกำลังดี และหากมีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนั้น ฝ่ายรัฐบาลจะมีโอกาสได้รับชัยชนะ ได้ที่นั่งในสภามากมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกจึงทำการยุบสภาเสีย
- ในกรณีที่มีการขัดแย้งกันระหว่างสภาสูง (วุฒิสภา) กับสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร)ในการพิจารณาหรือจัดทำกฎหมาย
- ในกรณีที่ประมุขของรัฐยุบสภาเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา 108 ดังนี้
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
- การยุบสภาเป็นพระราชอานาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
- การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
- การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวคือ หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้
- ในกรณีที่มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 158)