การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นาย ก เป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า ในช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม ถึงวันที่ 5 มกราคม ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ร้านของนาย ก สั่งสินค้าจำพวก ส.ค.ส แบบต่างๆ มาจำหน่ายแก่ลูกค้า และสามารถสร้างผลกำไรจากการขาย ส.ค.ส. แก่นาย ก เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปี
โดยจะสั่งซื้อจากโรงงานของนาย ข เพียงแห่งเดียว สำหรับในปี 2549 นาย ก ได้ส่งคำสั่งซื้อ ส.ค.ส. แบบมีเลข พ.ศ. กำกับไปยังโรงงานของนาย ข จำนวน 2,000 ชุด เช่นทุกปี โดยตกลงกันว่า นาย ข จะต้องนำสินค้ามาส่งที่ร้านของนาย ก ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เพื่อจะได้จัดเตรียมการจำหน่ายแก่ลูกค้าในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่านาย ข กลับนำสินค้ามาส่งในวันที่ 4 มกราคม 2550 นาย ก จึงไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมดไว้จำหน่าย
เพราะนาย ก เห็นว่า นาย ข ผิดนัด ทั้ง ส.ค.ส. ที่เอามาส่งก็ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้วเนื่องจากล่วงพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่มาแล้ว ต่อมา นาย ก จึงฟ้องนาย ข เรียกค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
จากเงินต้นดังกล่าว นาย ข ต่อสู้ว่า นาย ก ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนั้น เพราะเป็นแต่เพียงผลกำไรที่คาดว่าจะได้จากการขาย ส.ค.ส. เท่านั้น นอกจากนั้นนาย ก ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ด้วย เพราะไม่เคยตกลงกันในเรื่องนี้
ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างและข้อต่อสู้ของทั้งสองคนฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร
วินิจฉัย
มาตรา 204 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย
มาตรา 216 ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้
มาตรา 222 วรรคสอง เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
มาตรา 224 วรรคแรก หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
วินิจฉัย
นิติสัมพันธ์ระหว่างนาย ก กับนาย ข เป็นสัญญาซื้อขาย ซึ่งนาย ข ต้องส่งมอบหรือชำระหนี้แก่นาย ก ตามวันที่กำหนดในปฏิทิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง คือวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เมื่อปรากฏว่านาย ข ส่งมอบสินค้าเมื่อพ้นกำหนดตามที่ตกลงกัน จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และจะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ในวันที่ 4 มกราคม 2550 ทำให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นาย ก ตามมาตรา 216 นาย ก มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ได้ และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนาย ข ได้ด้วย
ค่าเสียหายที่นาย ก เรียกจำนวน 50,000 บาทนั้น เป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 222 วรรคสอง ซึ่งนาย ข สามารถคาดเห็นได้อยู่แล้วว่า นาย ก จะได้กำไรจากการขาย ส.ค.ส. ดังกล่าวเพราะได้ติดต่อค้าขายกันมากับนาย ก เป็นประจำและหลายปี ดังนั้นนาย ข จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่ นาย ก แต่สำหรับดอกเบี้ยในเงินต้นดังกล่าวนั้น นาย ก สามารถเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก จะเรียกถึงร้อยละ 15 นั้นไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นาย ก กับ นาย ข ได้ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยได้เท่าถึงอัตราดังกล่าวตามมาตรา 224 วรรคแรก ตอนท้าย