ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ก กู้เงิน ข ห้าแสนบาท มีกำหนดเวลาสามปี โดยจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้นี้ไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากกู้ไปได้เพียงหกเดือน ก ถึงแก่ความตาย ข เห็นว่าตามสัญญาสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนดจึงไม่ได้เรียกไม่ได้บังคับชำระหนี้ เมื่อครบกำหนด ข ก็มาเรียกมาบังคับเอากับ ค ทายาทของ ก ค ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความ ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ข้อต่อสู้ของ ค ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/9 สิทธิเรียกร้องใดๆถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ
มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
มาตรา 1754 วรรคสาม ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1754 วรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม มิฉะนั้นสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก กู้เงิน ข โดยมีกำหนดเวลา 3 ปี และหลังจากกู้ไปได้เพียง 6 เดือน ก ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย ซึ่ง ข เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของ ก ลูกหนี้ ดังนี้ แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่าง ก กับ ข จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องลูกหนี้ตายก่อนกำหนด และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่า 1 ปี (มาตรา 193(30)) ดังนั้น เจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อ ข ไม่ได้ฟ้องบังคับให้ ค ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ ก ลูกหนี้ตาย หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ (ตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/12) ค จึงมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้นได้ (ตามมาตรา 193/10) ดังนั้น ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/27 ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่ ก กู้เงิน ข นั้น ก ได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้ไว้ ดังนั้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 193/27 ก็ยังให้สิทธิแก่ ข เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของ ก ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของ ก และจะใช้สิทธินั้นบังคับให้ ค ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่า ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความนั้นฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ฟังไม่ขึ้น